posttoday

'กรุงเทพฯ'เสี่ยงซ้ำรอยแซนดี ผลพวงโลกร้อน ภัยธรรมชาติหนัก-ถี่ขึ้น

01 พฤศจิกายน 2555

ผู้เชี่ยวชาญเตือนเมืองชายฝั่งเอเชียเสี่ยงเผชิญวิกฤตอุทกภัยมากที่สุด เหตุไร้การวางผังเมือง ชี้พายุแซนดีได้รับอิทธิพลปัญหาโลกร้อน รุนแรงและเกิดถี่ขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญเตือนเมืองชายฝั่งเอเชียเสี่ยงเผชิญวิกฤตอุทกภัยมากที่สุด เหตุไร้การวางผังเมือง ชี้พายุแซนดีได้รับอิทธิพลปัญหาโลกร้อน รุนแรงและเกิดถี่ขึ้น

เอเอฟพี เปิดเผยรายงานอ้างนักวิทยาศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยาหลายสำนัก ซึ่งเตือนว่าเมืองชายฝั่งในเอเชีย ซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ เสี่ยงเผชิญภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะพายุรุนแรง (ซูเปอร์สตอร์ม) มากขึ้น ซ้ำรอยพายุแซนดีที่เพิ่งพัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ เนื่องจากเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ภัยธรรมชาติเกิดถี่และรุนแรงมากขึ้น

“แม้นิวยอร์กจะเผชิญกับซูเปอร์สตอร์ม แต่ก็สามารถจัดการกับภัยธรรมชาติครั้งนี้ได้ดี เพราะมีระบบวิศวกรรมโยธาและการบริหารที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก สวนทางกับหลายเมืองในเอเชีย” รายงานระบุ

ทั้งนี้ เมื่อปี 2550 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้จัดอันดับ 20 เมืองท่าที่เสี่ยงเผชิญอุทกภัยมากที่สุดภายในปี 2613 พบว่ามีเมืองในเอเชียติดอันดับมากถึง 15 เมือง นำโดยเมืองกัลกัตตาและมุมไบในอินเดีย กรุงธากาของบังกลาเทศ ส่วนกรุงเทพฯ นั้นรั้งอันดับ 7

บ็อบ วอร์ด ผู้อำนวยการสำนักนโยบาย สถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญนั้นมาจากความไร้ระเบียบในการวางผังเมืองในเอเชีย จนนำไปสู่การขยายตัวที่เร็วเกินไป โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ประชาชนผู้มีฐานะยากจน เนื่องจากอาศัยอยู่ในบ้านที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ชายฝั่งยังหมายถึงการบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปรียบเสมือนแนวป้องกันทางธรรมชาติ

'กรุงเทพฯ'เสี่ยงซ้ำรอยแซนดี ผลพวงโลกร้อน ภัยธรรมชาติหนัก-ถี่ขึ้น

สอดคล้องกับความเห็นของ ซูซาน แฮนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่งจากศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทินดาลในอังกฤษ ที่ได้ยกย่องประเทศยุโรป โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ ว่า มีระบบป้องกันอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยในเอเชียยังได้รับอิทธิพลจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลนั้นเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้กระแสลมแรงมากขึ้น

ในกรณีของเฮอริเคนแซนดี ซึ่งถล่มชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจริง ทว่าหลักฐานที่ปรากฏล้วนแต่บ่งชี้ว่าพายุแซนดีได้รับอิทธิพลจากภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้ยกระดับความรุนแรงเป็นซูเปอร์สตอร์ม สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่หลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครนิวยอร์ก และรัฐนิวเจอร์ซีย์

ปัจจัยแรก คือ ระดับน้ำทะเลรอบๆ นิวยอร์กที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อ 100 ปีก่อนถึง 1 ฟุต เช่นเดียวกับอุณหภูมิทะเลที่สูงขึ้นราว 2 องศาเซลเซียส โดยตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น อุณหภูมิน้ำที่สูงยิ่งทำให้เกิดเฮอริเคนได้ง่ายขึ้น

ปัจจัยที่สอง คือ การเกิดภาวะความดันอากาศสูงบริเวณเกาะกรีนแลนด์ในมหาสมุทรอาร์กติก ส่งผลให้พายุแซนดีเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน โดยจากที่ต้องมุ่งเหนือ พายุกลับเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกจนขึ้นฝั่งที่รัฐนิวเจอร์ซีย์

ปัจจัยสุดท้าย คือ ฤดูพายุในมหาสมุทรแอตแลนติกที่เริ่มต้นเร็วขึ้นและกินเวลานานกว่าเดิม โดยในช่วงปีที่ผ่านมานั้นเกิดพายุทั้งหมด 19 ลูก ซึ่งสูงกว่าระดับปกติที่ 11 ลูก

“สิ่งที่เห็นได้ชัดทั้งจากพายุที่เกิดขึ้นในสหรัฐและที่เกิดทั่วโลกก็คือ ระดับความรุนแรงนั้นเพิ่มขึ้น” ไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก กล่าว

ด้าน แอนดรูว์ คัวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เตือนว่า ปัญหาโลกร้อนส่งผลให้นิวยอร์กเสี่ยงเผชิญมหาอุทกภัยในรอบ 100 ปี ทุกๆ 1-2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับ ไมเคิล ออปเพนไฮเมอร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในสหรัฐ ที่ระบุว่า วิกฤตอุทกภัยในนิวยอร์กที่เกิดขึ้นล่าสุดจากอิทธิพลพายุแซนดีจะเกิดถี่ขึ้นทุกๆ 20 ปี จากเดิมที่เคยเกิดในรอบ 100 ปี

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของเฮอร์ริเคนแซนดี ขณะนี้ได้ลดกำลังลงจากพายุไซโคลน และได้เคลื่อนตัวเข้าไปยังทางตอนใต้ของแคนาดา เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 31 ต.ค.แล้ว และล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 51 คน

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเริ่มเก็บกวาดซากปรักหักพังและทำความสะอาดบ้านเรือนและร้านค้า บริษัทและตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดทำการเป็นวันแรก หลังจากปิดมา 2 วันติดต่อกัน

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของพายุยังคงส่งผลให้ประชาชนหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ และระบบขนส่งสาธารณะยังคงปิดให้บริการจนกว่าจะมีการแจ้งเตือน เนื่องจากอุโมงค์รถไฟใต้ดินยังคงมีน้ำท่วมขังสูง