posttoday

"ฮ่องกง"แทรกแซงเงินในรอบ3ปี

22 ตุลาคม 2555

เงินเหรียญฮ่องกงแข็งปั๋ง ดันธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินครั้งแรกในรอบ 3 ปี

เงินเหรียญฮ่องกงแข็งปั๋ง ดันธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินครั้งแรกในรอบ 3 ปี

"ฮ่องกง"แทรกแซงเงินในรอบ3ปี

ธนาคารกลางฮ่องกงได้ประกาศเข้าแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 เพื่อปกป้องไม่ให้ค่าเงินเหรียญฮ่องกงแข็งค่ามากเกินไป เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ โดยได้เทขายเงินเหรียญฮ่องกงวงเงิน 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. หลังจากที่เงินเหรียญฮ่องกงได้แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 7.75 เหรียญฮ่องกงต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเพดานต่ำสุดในอัตราแลกเปลี่ยนที่ฮ่องกงผูกค่าเงินไว้กับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ

ธนาคารกลางฮ่องกง (เอชเคเอ็มเอ) ได้ระบุในแถลงการณ์ว่า ปริมาณความต้องการเงินเหรียญฮ่องกงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐกำลังอ่อนค่าลงและตลาดทุนยุโรปก็มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปริมาณทุนมหาศาลไหลเข้ามาสู่ตลาดหุ้นและตลาดเงินเอเชีย

“ความต้องการเงินสกุลท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากสถานการณ์ในตลาดทุนยุโรปที่ผ่อนคลายลง เงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนค่าและอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของสหรัฐ ซึ่งทำให้เกิดกระแสทุนหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดเงินและตลาดทุนในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแรงกดดันนี้ได้เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในอีกหลายสกุลเงินของเอเชีย” แถลงการณ์ของเอชเคเอ็มเอ ระบุ

กระแสทุนที่หลั่งไหลเข้าสู่ฮ่องกงนั้นส่งผลให้เงินเหรียญฮ่องกงแข็งค่าสูงสุด เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐจากที่ปกติจะเคลื่อนไหวในอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 7.75-7.85 เหรียญฮ่องกงต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ขณะที่เอชเคเอ็มเอเคยเข้าแทรกแซงค่าเงินครั้งสุดท้ายไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2552

“เงินทุนยังคงไหลเข้ามาในฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรนทางการเงินในสหรัฐและยุโรป ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากตลาดหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้น ผมคิดว่าธนาคารกลางฮ่องกงจะยังคงต้องเข้าแทรกแซงต่อในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากกระแสทุนที่คาดว่าจะยังคงเข้ามาเรื่อยๆ” เคนิกซ์ ไหล นักวิเคราะห์ค่าเงินของธนาคารแบงก์ ออฟ อีสต์ เอเชีย ในฮ่องกง กล่าวกับบลูมเบิร์ก

ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายหลายประเทศต่างส่งเสียงสะท้อนปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ญี่ปุ่น ในเดือนนี้ ซึ่งเป็นผลพวงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนที่ผ่านมา

กุยโด แมนเตกา รัฐมนตรีคลังบราซิล ประกาศไว้ว่าจะปกป้องประเทศจากนโยบายการเงินที่เห็นแก่ตัวของประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ ขณะที่อมันโด เททังโก ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เฟดกำลังทำให้เกิดความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก