posttoday

'เจ้าสีหนุ'สวรรคต กัมพูชาอาลัย สิ้นพ่อผู้สร้างชาติ

16 ตุลาคม 2555

สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาหลายสมัย เสด็จสวรรคตแล้วด้วยพระชนมพรรษา 89 พรรษา

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาหลายสมัย เสด็จสวรรคตแล้วด้วยพระชนมพรรษา 89 พรรษา ในช่วงเช้าของวันที่ 15 ต.ค. ด้วยพระอาการพระหทัยล้มเหลว ณ โรงพยาบาลกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เข้ารับการรักษาพระองค์เป็นเวลาหลายปี เนื่องจากมีพระอาการประชวรหลายโรคทั้งมะเร็ง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

ก่อนหน้าที่จะเสด็จสวรรคต เจ้าสีหนุ ได้ตรัสไว้กับพระสหายคนสนิทว่าขอให้จัดพิธีถวายพระเพลิงพระศพที่ท้องสนามหลวง ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของเขมร โดยหลังจากถวายพระเพลิงพระศพแล้ว พระบรมอัฐิของพระองค์ต้องล้างทำความสะอาดและบรรจุไว้ในพระโกศที่ทำจากทองคำก็ได้ หรือพระโกศธรรมดาก็ได้ แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์คันธบุปผา ในพระวิหารพระแก้วมรกต พระบรมมหาราชวัง ณ กรุงพนมเปญอีกด้วย

ในด้านชีวิตส่วนพระองค์นั้น พระองค์ ทรงโปรดปรานการถ่ายทำภาพยนตร์ และทำอาหาร จนเป็นที่ร่ำลือในหมู่นักการทูตถึงฝีมือการทำอาหารของพระองค์โดยเฉพาะอาหารฝรั่งเศส ขณะที่ชีวิตครอบครัว พระองค์ผ่านการอภิเษกสมรส มา 6 ครั้ง มีพระโอรสและพระธิดารวมทั้งสิ้น 16 พระองค์ โดยในจำนวนนี้ 5 พระองค์ได้สวรรคตในช่วงยุคการปกครองของรัฐบาลเขมรแดง

ด้านบทบาททางการเมือง ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงมีชีวิตอยู่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในความเคลื่อนไหวทางการเมืองในกัมพูชา เป็นเวลากว่า 40 ปี โดยเริ่มมีบทบาทครั้งแรก เมื่อฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในยุคนั้นได้เลือกพระองค์ให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจาก เจ้าศรีโสวัติ มุนิวงศ์ ผู้มีศักดิ์เป็นพระปิตุลา หรือ ลุง ในปี 1941 ด้วยพระชนมายุเพียงแค่ 18 พรรษา หลังจากนั้นต่อมาก็ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเอกราชคืนจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้สำเร็จในปี 1953

'เจ้าสีหนุ'สวรรคต กัมพูชาอาลัย สิ้นพ่อผู้สร้างชาติ

 

ถัดมาอีก 2 ปี พระองค์ได้ก้าวเข้ามาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการยอมสละราชสมบัติให้แก่พระบิดา นโรดม สุรามฤต ก่อนจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่หลายสมัย ทว่าต่อมาในปี 1960 พระองค์ก็ต้องกลับไปดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตามเดิม เนื่องจากได้รับการเลือกให้ขึ้นครองราชย์แทนที่พระบิดาผู้เสด็จสวรรคต

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ทรงมีบทบาททางการเมืองพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเยี่ยมเยือนประชาชนตามหมู่บ้านในต่างจังหวัดที่ยากจนอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้กลายเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างมาก ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองที่ลงมาใกล้ชิดกับประชาชนพระองค์หนึ่ง

นอกจากนี้ เจ้าสีหนุ ยังทรงเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก เพื่ออ้างสิทธิอธิปไตยของกัมพูชา เหนือพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย โดยต่อมาในปี 1962 ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของ เจ้าสีหนุ ได้มาถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อถูกนายพลลอนนอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอยู่เบื้องหลังก่อการรัฐประหารขึ้นในปี 1970 จนทำให้พระองค์ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศจีน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ตัดสินใจให้การสนับสนุนจีนในการส่งอาวุธเข้าไปช่วยเหลือเวียดนามเหนือ ทำสงครามต่อต้านกองทัพเวียดนามใต้ และสหรัฐ ในสงครามเวียดนาม ปี 1963

หลังจากลี้ภัยไปอยู่ในจีน พระองค์ก็ยังคงติดตามและพยายามแสดงบทบาททางการเมืองอยู่เป็นระยะ โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญก็คือการเข้าร่วมกับฝ่ายกองทัพคอมมิวนิสต์กัมพูชา หรือเขมรแดง ที่จีนให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

แม้การเข้าร่วมกับฝ่ายเขมรแดงดังกล่าว จะมีส่วนทำให้เขมรแดงได้รับชัยชนะง่ายขึ้น เนื่องจากมักใช้พระองค์ในการนำมาสร้างความชอบธรรมในการขับไล่และต่อต้านฝ่ายรัฐบาลนายพลลอนนอน แต่ภายหลังได้รับชัยชนะและเจ้าสีหนุได้กลับเข้าในประเทศในปี 1975 ฝ่ายเขมรแดงกลับบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติและกักตัวไว้ที่บ้านพัก นอกจากนี้เขมรแดงยังใช้ระบบการปกครองที่กดขี่และโหดเหี้ยมสังหารผู้บริสุทธิ์ไปถึง 2 ล้านคนในช่วงเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น ระหว่างปี 1976-1979

อย่างไรก็ตาม การปกครองของเขมรแดงได้สิ้นสุดลง เมื่อเวียดนามซึ่งเพิ่งได้รับชัยชนะจากสงครามเหนือสหรัฐได้ยกกองทัพบุกยึดและตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดที่นำโดย เฮง สัมริน ขึ้นปกครองประเทศ ซึ่งพระองค์ได้รับการช่วยเหลือจากจีนในการพาตัวกลับไปลี้ภัยอยู่ที่จีนและเกาหลีเหนืออีกเป็นเวลาร่วม 13 ปี

'เจ้าสีหนุ'สวรรคต กัมพูชาอาลัย สิ้นพ่อผู้สร้างชาติ

 

เจ้าสีหนุกลับมามีบทบาททางการเมืองกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี 1989 เจ้าสีหนุคือผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเจรจาสันติภาพเขมร 3 ฝ่ายที่บรรลุผลในปี 1991 โดยมีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คอยสนับสนุน จนต่อมาอีก 2 ปีก็มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา

จากการที่เจ้าสีหนุได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วม 40 กว่าปี พระองค์ได้ตัดสินพระทัยวางมือ ด้วยการสละราชสมบัติในปี 2004 โดย สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระโอรส ขึ้นครองราชย์แทน ขณะที่ เจ้าสีหนุ ซึ่งมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้เดินทางไปพำนักและรักษาตัวที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นระยะเวลานาน

กระนั้นก็ตาม แม้พระองค์จะทรงวางมือทางการเมืองแล้ว และเดินทางไปรักษาตัวในประเทศจีน แต่บ่อยครั้งพระองค์มักจะแสดงความเห็นทางการเมืองภายในประเทศออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการทุจริต และการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง การเล่นเส้นสายในวงการการเมือง และความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรของคนในประเทศที่มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการที่ เจ้าสีหนุ มีบทบาทในการช่วยเหลือและพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนาน พระองค์จึงถูกยกย่องและอยู่ในใจของชาวกัมพูชา แม้ว่าในช่วงหลังๆ บทบาทของพระองค์จะน้อยลงก็ตาม

“ไม่ใช่แค่ข่าวเศร้าสลดในพระบรมวงศานุวงศ์ แต่รวมถึงชาวกัมพูชาทั้งประเทศ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของประเทศนี้” เจ้าชายศรีโสวัติ โทมีโค พระสหายคนสนิทของเจ้าสีหนุ กล่าว

สำหรับการเสด็จสวรรคตของเจ้าสีหนุ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจแก่ประชาชนชาวกัมพูชาทั้งประเทศ พร้อมการลดธงลงครึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัย แต่ยังได้สร้างความอาลัยแก่มิตรสหายที่อยู่ในต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะจีนที่เจ้าสีหนุ เคยไปลี้ภัยอยู่หลายครั้ง จนยกย่องให้จีนเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ส่งสารแสดงความรู้สึกเสียใจต่อการสวรรคตครั้งนี้ พร้อมทั้งยกย่องให้พระองค์เป็น “พระสหายที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนชาวจีน” ในส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ส่งสารแสดงความอาลัยด้วยเช่นกันว่าเป็นการจากไปของสหายคนสำคัญพร้อมกับเสริมอีกว่าพระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในกัมพูชา ในปี 1991