posttoday

ไอเอ็มเอฟอัด'คิวอี3'ทำโลกเดือดร้อน ก่อฟองสบู่สินทรัพย์-เศรษฐกิจร้อนเกิน

15 ตุลาคม 2555

ไอเอ็มเอฟเตือน นโยบายผ่อนปรนในประเทศพัฒนาแล้ว กำลังทำให้เศรษฐกิจเกิดใหม่เดือดร้อน ทั้งฟองสบู่สินทรัพย์เศรษฐกิจร้อนแรงเกิน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ไอเอ็มเอฟเตือน นโยบายผ่อนปรนในประเทศพัฒนาแล้ว กำลังทำให้เศรษฐกิจเกิดใหม่เดือดร้อน ทั้งฟองสบู่สินทรัพย์-เศรษฐกิจร้อนแรงเกิน เบอร์แนนคี โต้ทันควัน นโยบายคิวอีส่งเสริมช่วยเศรษฐกิจโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกโรงเตือนในที่ประชุมขององค์กรที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 14 ต.ค. ว่า การใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินในโลกพัฒนาแล้ว กำลังเป็นสาเหตุหลักส่งผลให้เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความร้อนแรงมากเกินไป และเสี่ยงจะเกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์มากขึ้นด้วย

คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า นโยบายทางการเงินเช่นนั้นกำลังจะทำให้ศักยภาพของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เกิดภาวะตึงตัวขึ้น และไม่อาจจะลดแรงกระแทกจากการไหลเข้าของทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังนำไปสู่ภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ที่จะมีความร้อนแรงเกินไปอีกด้วย

ที่ผ่านมานั้นธนาคารกลางสหรัฐได้คงอัตราดอกเบี้ยธนาคารไว้ที่ระดับต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 0-0.25% มานานหลายปี พร้อมกับใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมแล้วถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ไอเอ็มเอฟอัด'คิวอี3'ทำโลกเดือดร้อน ก่อฟองสบู่สินทรัพย์-เศรษฐกิจร้อนเกิน

อีกทั้งเมื่อเดือนที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐยังตัดสินใจอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อคืนพันธบัตร หรือคิวอี หนที่ 3 อีกเดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐด้วย หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการเติบโตที่ไม่น่าพอใจนัก

“เราได้เห็นมาตรการที่รุนแรงออกมาจากธนาคารกลางของประเทศหลัก ซึ่งแน่นอนว่าไอเอ็มเอฟได้ยกย่อง และเห็นว่ามาตรการเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการนำไปสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองที่แตกต่างออกไปในหลายประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งรวมไปถึงวิธีการจัดการกับเงินทุนที่ไหลทะลักเข้ามาด้วย” ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าว

ลาการ์ด กล่าวด้วยว่า ความไม่ลงรอยกันต่อมาตรการเหล่านั้นถือว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ต้องไม่ลืมว่าทุกคนมีส่วนในเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกด้วยกันทั้งนั้น

“เนื่องจากการตัดสินนโยบายทางการเงินนั้นจะส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความร่วมมือ และเพิ่มการหารือกับประชาคมนานาชาติด้วย” ลาการ์ด กล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเงินในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นได้ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง และเกิดภาวะทุนไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ซึ่งทำให้ค่าเงินของหลายประเทศแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศเกิดภาวะร้อนแรงเกินไปด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กุยโด มันเตกา รัฐมนตรีคลังบราซิล ได้ออกโรงเตือนว่า บริษัทจะงัดใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาทุนจากสหรัฐ

“ตลาดเกิดใหม่ไม่สามารถทนทานต่อกระแสทุนขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยง และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินที่มีต้นเหตุมาจากนโยบายร่ำรวยของประเทศพัฒนาแล้วอีกต่อไปได้” มันเตกา กล่าวในที่ประชุมไอเอ็มเอฟเช่นเดียวกัน

รัฐมนตรีคลังบราซิลกล่าวด้วยว่า ประเทศพัฒนาแล้วไม่สมควรที่จะเชื่อมั่นในนโยบายของตัวเองเพื่อแก้วิกฤตบนความสูญเสียของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

“สงครามค่าเงินรังแต่จะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องพบกับความยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น” รัฐมนตรีคลังบราซิล กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน เบน เบอร์แนนคี รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้ออกโรงปกป้องการใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินของเฟด ว่า ปริมาณเงินนับล้านล้านเหรียญสหรัฐที่เฟดอัดเข้าสู่เศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นในวงกว้างอีกด้วย

“ธนาคารกลางสหรัฐได้ใช้นโยบายทางการเงินเพื่อเป้าหมายที่จะลดปัญหาการว่างงานและสร้างเสถียรภาพทางราคา นโยบายนี้ไม่เพียงแต่ช่วยทำให้การฟื้นตัวของสหรัฐเข้มแข็งขึ้น แต่ยังกระตุ้นการใช้จ่าย และการเติบโตของสหรัฐ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจโลกไปในตัวด้วย” เบอร์แนนคี กล่าว

เบอร์แนนคี ยังแก้ต่างด้วยว่า ความเชื่อมโยงระหว่างการใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน กับการไหลออกของเงินจากสหรัฐไปยังประเทศอื่นนั้นมีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐได้ใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งแรกเมื่อปี 2009 มูลค่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในครั้งที่สอง เมื่อปี 2010 อีกมูลค่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทว่าในขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่กลับสู่ภาวะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเพียงพอ และปัญหาการว่างงานในสหรัฐก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างน่าพอใจ แต่ทว่านโยบายดังกล่าวกลับทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญหน้ากับภาวะค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเอเชีย