posttoday

เตือน"ภัยธรรมชาติ"แรงฉุดจีดีพีโลก

27 กันยายน 2555

ผลวิจัยล่าสุดพบปัญหาโลกร้อนฉุดจีดีพีโลก 1.6% ต่อปี แนะทั่วโลกรับมืออย่างจริงจัง

ผลวิจัยล่าสุดพบปัญหาโลกร้อนฉุดจีดีพีโลก 1.6% ต่อปี แนะทั่วโลกรับมืออย่างจริงจัง

เตือน"ภัยธรรมชาติ"แรงฉุดจีดีพีโลก ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

ที่ประชุมว่าด้วยความเปราะบางจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (ซีวีเอฟ) ร่วมกับองค์กรด้านมนุษยชนดีเออาร์เอ เปิดเผยผลการวิจัยซึ่งจัด ทำโดยรัฐบาล 20 ประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อนนั้น เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก โดยคิดเป็นมูลค่าจีดีพีสูงถึง 1.6% ต่อปี หรือ 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 37.2 ล้านล้านบาท)

“จากการศึกษาความสูญเสียและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอดีต พบว่าความเสี่ยงต่อสังคมและพัฒนาการทางเศรษฐกิจจะยิ่งฉุดการเติบโต” รายงานเตือน พร้อมย้ำว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นประกอบกับมลภาวะจากก๊าซคาร์บอนเสี่ยงฉุดจีดีพีโลกถึง 3.2% หรือ 2 เท่าตัว ภายในปี 2573

นอกจากนี้ แม้ประเทศยากจนเสี่ยงได้รับความเสียหายหนักสุด ทว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบเช่นกัน

“ในอีกไม่ถึง 20 ปี จีนจะได้รับความเสียหายจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 37.2 ล้านล้านบาท) ขณะเดียวกันจะฉุดจีดีพีสหรัฐ 2% และจีดีพีอินเดีย 5%”

ในทางกลับกัน การแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศต่างๆ โดย นิโคลัส สเติร์น นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส ว่า โลกจำเป็นต้องลงทุนมหาศาลคิดเป็นมูลค่า 2% ของจีดีพี หากจะป้องกันและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เชก ฮาซินา ประธานซีวีเอฟ เผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะส่งผลอย่างหนักต่อบังกลาเทศ เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงมากถึง 10% หรือคิดเป็น 3-4% ของจีดีพี

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ เจเรมี ฮอบส์ ผู้อำนวยการองค์กรออกซแฟม องค์กรด้านมนุษยชนของอังกฤษ ซึ่งเห็นว่ารายงานดังกล่าวมีความสำคัญมากในฐานะเครื่องมือเตือนสติผู้คนทั่วโลกถึงปัญหาความหิวโหยและยากจน ซึ่งเป็นผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
นอกจากนี้ รายงานยังเตือนว่า ผู้คนทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน เสี่ยงเสียชีวิตหากโลกล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนภายในปี 2573 โดยในจำนวนนี้กว่า 90% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

“อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ภัยแล้ง อากาศแปรปรวน และระดับน้ำทะเลที่พุ่งสูง ซึ่งถือเป็นภัยอันตรายต่อชีวิตผู้คน”