posttoday

"อาชีพร่วง-ตำแหน่งรุ่ง"แนวโน้มแรงงานในอนาคต

16 กันยายน 2555

ส่องแนวโน้มความต้องการแรงงานของตลาดโลกในอนาคต อาชีพใดร่วง-ตำแหน่งใดร่วง!

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์  

แม้เหตุผลส่วนหนึ่งของตัวเลขการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐจะเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ซบเซาอย่างหนักจนยากเยียวยา

ทว่าสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำก็ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่ทำให้คนตกงานทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดแรงงานไม่ได้ผูกติดกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสมรภูมิทางธุรกิจในยุคนั้นๆ รวมอยู่ด้วย

อลัน ทาวเซน รองประธานฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจและการจัดจำหน่าย บริษัทจัดหางาน มอนเตอร์ สาขายุโรป และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและแนวโน้มการหางานในตลาดแรงงานโลกจากสหรัฐ เผยรายงานการศึกษาแนวโน้มตลาดแรงงานผ่านทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมในวงกว้าง ทำให้มีบางอาชีพกำลังจะหายและไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกต่อไป ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายอาชีพที่จะกลายเป็นดาวรุ่งและเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้

"อาชีพร่วง-ตำแหน่งรุ่ง"แนวโน้มแรงงานในอนาคต

อาชีพที่กำลังจะล้มหายตายจากไปจากโลก ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย

1) พนักงานไปรษณีย์ (คนส่งจดหมาย)

ขณะนี้อุตสาหกรรมไปรษณีย์ที่เคยครองความนิยมมากที่สุดในยุคหนึ่ง เริ่มพบกับความยากลำบากในทันทีที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ก้าวเข้ามาและใช้กันอย่างแพร่หลาย

ยิ่งเมื่อประกอบกับความล้ำหน้าของเทคโนโลยีโทรศัพท์และเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ซึ่งเป็นวิธีการประมวลผลที่อิงกับความต้องการของผู้ใช้ และเป็นการเก็บฐานข้อมูลในแบบออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันและการทำงานมากขึ้น ทำให้ความนิยมในจดหมายลดลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนที่ทำให้อาชีพพนักงานไปรษณีย์กำลังหายไปจากโลกของตลาดแรงงานที่แท้จริงนั้นอยู่ที่การเข้ามาของระบบการคัดแยกจดหมายแบบออโตเมติก หรือหุ่นยนต์คัดแยกจดหมาย

สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ (บีแอลเอส)คาดการณ์ว่าในปี 2561 อาชีพพนักงานไปรษณีย์มีแนวโน้มลดลง 30% จากจำนวนที่มีอยู่ในขณะนี้ และ 3 ใน 10 อาชีพ ที่มีจำนวนลดลงมากที่สุดในปัจจุบันก็ล้วนเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกิจการบริการไปรษณีย์ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การไปรษณีย์สหรัฐขาดทุนไปแล้ว 1.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.59 แสนล้านบาท)

2) พนักงานออฟฟิศ (โดยเฉพาะตำแหน่งคีย์ข้อมูล)

เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและใช้งานง่าย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความต้องการพนักงานออฟฟิศลดลง

ทาวเซน แสดงความเห็นว่า ระบบการประมวลตัวอักษร วอยซ์เมลและอินเทอร์เน็ต มีแนวโน้มทำให้ทักษะที่จำเป็นในการทำงานในฐานะเสมียนออฟฟิศ หรือกระทั่งเลขาฯ หมดความจำเป็นไปโดยปริยาย เพราะระบบที่กล่าวไปนั้นจะเข้ามาแทนที่คนทั้งหมด

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนที่นายจ้างต้องจ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายกับระบบอัตโนมัติ มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจ้างคนมาก อีกทั้งไม่เรื่องมาก ไม่มีการมาประท้วงขอขึ้นเงินเดือนให้ปวดหัวอีก

แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนี้ ยืนยันได้จากข้อมูลของบีแอลเอส ที่คาดว่า อาชีพพนักงานคีย์ข้อมูลและพนักงานพิสูจน์อักษรจะลดลงถึง 1.32 หมื่นตำแหน่ง ในปี 2563 ขณะที่เสมียนคีย์ข้อมูลจะลดลง 1.59 หมื่นตำแหน่ง

ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่สหรัฐเท่านั้นที่จะประสบภาวะดังกล่าว แต่ทางฝั่งยุโรปก็มีแนวโน้มจะเป็นเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจากศูนย์เพื่อการพัฒนาอาชีพยุโรปสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ ว่า อาชีพเสมียนในออฟฟิศทั่วภูมิภาคยุโรปจะลดลงมากถึง 1 ล้านตำแหน่ง ในปี 2563

3) พนักงานโรงงาน

ความต้องการแรงงานที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้กลายเป็นอดีตไปเรียบร้อย เนื่องจากหลายบริษัทได้เริ่มหันไปใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรในการทำงานแทน เพราะเมื่อเทียบกับคนแล้ว เครื่องจักรประหยัดกว่า ทำงานเร็วกว่า และผิดพลาดน้อยกว่า
ข้อมูลจากประเทศอังกฤษคาดการณ์ไว้ว่า อาชีพพนักงานที่ใช้คนประกอบสินค้าต่างๆ จะหายไปจากตลาดแรงงานถึง 4 แสนตำแหน่ง ก่อนปี 2563 โดยจะทำให้สัดส่วนของอาชีพหนุ่มสาวฉันทนาลดลงจาก 18% มาที่ 16% จากตลาดแรงงานทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าลูกจ้างในโรงงานจะตกงานกันทั้งหมด เพราะบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการ “คน” เข้ามาจัดการและบริหารควบคุมเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติอยู่ดี

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์คาดหมายกันไว้ว่ากลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง อาทิ ผู้จัดการ หรือบุคคลในตำแหน่งเฉพาะด้าน และผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงมีความสำคัญอย่างมากในปี 2563

"อาชีพร่วง-ตำแหน่งรุ่ง"แนวโน้มแรงงานในอนาคต

4) นักการตลาดทางโทรศัพท์และพนักงานขายตรง

เมื่อผลการวิจัยจากบริษัทวิจัยด้านการตลาดระบุออกมาชัดเจนแล้วว่า การตลาดทางโทรศัพท์ หรือการเคาะประตูหน้าบ้านเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง เป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่การทำการตลาดทางอินเทอร์เน็ตและทางโทรทัศน์ดูจะได้ผลดีมากกว่า

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การจ้างพนักงานเพื่อเข้ามาทำหน้าที่เป็นนักการตลาดทางโทรศัพท์และเซลส์แมน จึงไม่เป็นที่ต้องการจากนายจ้างและตลาดแรงงานอีกต่อไป

พร้อมกันนี้ ข้อมูลของ บีแอลเอส ยังออกมายืนยันและคาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่า ในปี 2561 อาชีพในตำแหน่งทั้งสองข้างต้นจะลดลงมากถึง 15% และ 11% ตามลำดับ

สำหรับอาชีพที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น รายงานจาก อลัน ทาวเซน ระบุไว้ดังต่อไปนี้

1) นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล

ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเก็บ ถ่ายโอน แบ่งปันข้อมูล ตลอดไปจนถึงการรักษาฐานข้อมูล รวมถึงการจัดการกับข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ อาชีพนักจัดการและบริหารข้อมูลสารสนเทศจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากข้อมูลหลากหลายรูปแบบไม่ได้มีเพียงแค่การจัดการและการบริหารให้อยู่เป็นระบบเพื่อง่ายต่อการหยิบใช้งานเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ต้องวิเคราะห์ รวบรวม และเก็บรักษาข้อมูลนั้นๆ อีกด้วย

ข้อมูลจากไอบีเอ็ม เปิดเผยว่า ในทุกวันนี้ทางบริษัทต้องผลิตหน่วยข้อมูล 2.5 ควินติเลียนต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลพอที่จะระบุได้ว่าเป็นจำนวนของข้อมูลทั่วโลกกว่า 90% ที่ผลิตขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นเครื่องชี้วัดว่าความต้องการแรงงานในลักษณะดังกล่าวมีมากเพียงไรในอนาคต เนื่องจากข้อมูลนั้นมาจากทั่วทุกแห่งทั่วโลก อาทิ ทำการรวบรวมข้อมูลจากสภาพอากาศ การติดตามข้อมูลการโพสต์ข้อความในสังคมออนไลน์ ภาพถ่าย และวิดีโอ บันทึกการใช้จ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาณคลื่นจีพีเอสของโทรศัพท์มือถือ

2) วิศวกรด้านไอที

ความต้องการใช้ระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีเหตุจากความต้องการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้นในวงการอุตสาหกรรมธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้นักออกแบบเครื่องจักรกลและการวางระบบอัตโนมัติต่างๆ เป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความสำคัญของอาชีพดังกล่าว เห็นได้จากในอังกฤษที่การเติบโตทางอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5% ต่อปีโดยมีการเปิดเผยออกมาแล้วว่าเป็นผลมาจากการผลักดันของการทุ่มเทในงานวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในตำแหน่งวิศวกร

"อาชีพร่วง-ตำแหน่งรุ่ง"แนวโน้มแรงงานในอนาคต

3) ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และผู้วางระบบสื่อสาร

ต้องยอมรับว่า หนึ่งในหลายๆ สิ่งที่เหล่าผู้จับจ้องความเคลื่อนไหวในวงการอุตสาหกรรมเข้าใจผิดกันมาตลอด คือการคิดว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า จะทำให้คนตกงานมากขึ้น

เพราะแท้ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้แค่เข้ามาเปลี่ยนบทบาทธรรมชาติของการทำงานเท่านั้น โดยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนคอมพิวเตอร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานมากขึ้น ทำให้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ที่จำเป็นต่อชีวิตการทำงาน

ดังนั้น เมื่อความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น คนที่ทำงานในวงการไอทีจึงมีอนาคตที่สดใสมากในอนาคต เพราะเป็นกลุ่มคนที่เข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง

4) ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล

ปัจจุบันการบริหารจัดการด้านการให้บริการทางสาธารณสุขได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ที่หันมามุ่งเน้นการรักษาแบบบูรณาการและเน้นไปที่การป้องกันเป็นหลัก ทำให้บทบาทของแพทย์ที่ทำการรักษาน้อยลง แต่จะทำให้ตำแหน่งงานในการบริหารจัดการในระดับกลางที่คอยช่วยเหลือและติดต่อบริหารงานกับแพทย์มีความสำคัญมากขึ้น

กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้ประเมินว่า ตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์จะขยายตัวขึ้น 162,900 ตำแหน่ง ก่อนปี 2563 ขณะที่ในยุโรปการขยายตัวของตำแหน่งงานผู้ช่วยแพทย์จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลชุมชุนและคลินิก

ทั้งนี้ อลัน ทาวเซน สรุปว่า ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปเปรียบเสมือนวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตที่ ชาลส์ ดาร์วิน เคยตั้งทฤษฎีไว้ว่าผู้อยู่รอดคือสิ่งที่ผ่านการคัดสรรมาจากธรรมชาติแล้ว

ฉะนั้น หากสามารถทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดแรงงาน ไปจนถึงชีวิตประจำวันได้ บุคคลนั้นย่อมสามารถล่วงรู้และเข้าใจถึงรูปแบบ ทักษะ และอาชีพที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับผลที่จะเกิดมาของความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้

"อาชีพร่วง-ตำแหน่งรุ่ง"แนวโน้มแรงงานในอนาคต