posttoday

อุตสาหกรรมจีนโตต่ำสุด3ปี

10 กันยายน 2555

เศรษฐกิจจีนยังเผชิญวิบากกรรมต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโตต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี สวนทางเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นตามราคาอาหารโลก

เศรษฐกิจจีนยังเผชิญวิบากกรรมต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโตต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี สวนทางเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นตามราคาอาหารโลก

อุตสาหกรรมจีนโตต่ำสุด3ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. ขยายตัวได้ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี อยู่ที่ 8.9% ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวได้ต่ำสุด หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินในสหรัฐเมื่อปี 2551 และสะท้อนว่าทางการจีนอาจจำเป็นต้องเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายระลอก

เอพีระบุว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 8.9% จาก 9.2% ของเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2552 และยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 9.1%

“เป็นที่ชัดเจนว่ามาตรการกระตุ้นซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถสร้างการเติบโตให้เห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเศรษฐกิจและการลงทุนของจีนจะยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง” อลิสแตร์ ธอร์นตัน นักวิเคราะห์จากสถาบันไอเอชเอส โกลบอล อินไซด์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดัชนีเงินเฟ้อของจีนได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ไปอยู่ที่ 2% จากเดิมที่ 1.8% เนื่องจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับตัวแพงขึ้น ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะเดินหน้ากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐ

“แนวโน้มเงินเฟ้อที่กลับมาอีกครั้ง อาจกลายเป็นปัญหายุ่งยากให้ผู้นำจีนต้องเลือกระหว่างการเติบโตกับการคุมเงินเฟ้อ” เกลนน์ แมคไกวร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษาเอเชีย เซนทรี แอดไวซอรี ในออสเตรเลีย กล่าวกับบลูมเบิร์ก

นอกจากตัวเลขในภาคอุตสาหกรรมและเงินเฟ้อแล้ว สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนยังระบุว่า ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรระหว่างเดือน ม.ค.–ส.ค.ปีนี้ ขยายตัวอยู่ที่ 20.2% หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 20.4% ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกเดือน ส.ค. ขยายตัวได้ในระดับคาดการณ์ที่ 13.2%

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี หูจิ่นเทา ของจีน ได้กล่าวนอกรอบระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่รัสเซีย ว่า จีนจะพยายามรักษาสมดุลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยจะมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและควบคุมแนวโน้มเงินเฟ้อไปพร้อมกัน นอกจากนี้จีนจะเน้นการบริโภคภายในให้มากขึ้นและรักษาเสถียรภาพพื้นฐานทางด้านราคาไปพร้อมกันด้วย