posttoday

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือเสี่ยงละลายหมดใน10ปี

14 สิงหาคม 2555

สำนักงานอวกาศแห่งยุโรปพบน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็วกว่าที่คาด เผยอาจหายหมดภายใน 10 ปี

สำนักงานอวกาศแห่งยุโรปพบน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็วกว่าที่คาด เผยอาจหายหมดภายใน 10 ปี

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือเสี่ยงละลายหมดใน10ปี

นอกเหนือจากวิกฤตน้ำท่วมฉับพลันที่ถล่มกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์อย่างไม่ทันตั้งตัว และอีกหลายประเทศที่กำลังประสบกับภัยธรรมชาติอย่างเหนือความคาดหมาย ยังมีข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานอวกาศแห่งยุโรป (ESA) ที่เตือนให้มนุษยชาติตระหนักว่า ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ชาวโลกจะต้องตระหนักถึงภยันตรายจากภาวะโลกร้อน

จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมของ ESA พบว่า แผ่นน้ำแข็งขนาด 900 คิวบิก กม. ได้ระเหยไปจากขั้วโลกเหนือภายในเวลาเพียง 1 ปี หรือน้ำแข็งขั้วโลกเหนือกำลังละลายเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ถึง 50%

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเรือดำน้ำเพื่อทำการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของแผ่นน้ำแข็งตั้งแต่เมื่อปี 2004 ซึ่งจากผลการสำรวจยืนยันว่า ยิ่งปริมาณน้ำแข็งละลายลงมากเท่าไร ระดับน้ำในทะเลยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

หากน้ำแข็งละลายด้วยความเร็วในอัตรานี้ ขั้วโลกเหนืออาจปราศจากน้ำแข็งภายในเวลาเพียง 10 ปีนับจากนี้!

การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ จะเป็นสาเหตุให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นภัยคุกคามต่อมหานครที่สำคัญๆ ของโลกซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมหรือใกล้ชายทะเล รวมถึงกรุงเทพฯ

นอกเหนือจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระดับโลก เนื่องจากคาดว่าขั้วโลกเหนือเป็นแหล่งทรัพยากรพลังงานที่สำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแหล่งท้ายๆ ของโลกที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ รวมถึงอาจเป็นชนวนความขัดแย้งด้านการทำประมง เพราะหลังจากนั้นจะเกิดน่านน้ำสากลขึ้นใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว

แต่ไม่มีปัญหาใดน่าหนักใจเท่ากับระดับน้ำทะเลที่จะกลืนกินแผ่นดินและมหานครทั่วโลก

การเปิดเผยของ ESA มีขึ้นหลังจากที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน อ้างว่า การละลายของแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ซึ่งอยู่ใกล้กับขั้วโลกเหนือและเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีระดับการละลายที่ไม่ร้ายแรงและไม่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่หวั่นเกรงกัน

ทั้งนี้ จากภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดพบว่า น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ ทำให้เกิดความวิตกว่าอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมโลก เนื่องจากปริมาณน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์มีมากพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 7 ม. หากละลายจนหมดเนื่องจากภาวะโลกร้อน

คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันเขียนบทความในวารสารทางวิทยาศาสตร์ “Science” ระบุว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือรวมถึงเกาะกรีนแลนด์ เป็นการละลายตามธรรมชาติและจะมีการแข็งตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หรือที่เรียกว่า “ชีพจรของแผ่นน้ำแข็ง”

อย่างไรก็ตาม ชีพจรน้ำแข็งเริ่มผิดปกติเนื่องจากการละลายของน้ำแข็งเริ่มมีปริมาณมากขึ้น แต่การแข็งตัวเป็นแผ่นเช่นเดิมกลับมีอัตราที่ช้าและลดน้อยลง