posttoday

พม่าเร่งปฏิรูปลุยทวงแชมป์ส่งออก 'ข้าว'

10 สิงหาคม 2555

นักวิเคราะห์ชี้พม่าเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมข้าว หวังทวงบัลลังค์แชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก ตั้งเป้า 1.5 ล้านตันปีนี้

นักวิเคราะห์ชี้พม่าเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมข้าว หวังทวงบัลลังค์แชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก ตั้งเป้า 1.5 ล้านตันปีนี้

พม่าเร่งปฏิรูปลุยทวงแชมป์ส่งออก 'ข้าว'

รอยเตอร์สเปิดเผยรายงาน  อ้างนักวิเคราะห์หลายสำนัก ซึ่งระบุว่า พม่าเตรียมปฏิรูปอุตสาหกรรมข้าวครั้งใหญ่ เพื่อหวังทวงตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกกลับคืนมาอีกครั้งหลังอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ ตกอยู่ภายใต้การบริหารอันย่ำแย่ของรัฐบาลทหารมานานเกือบครึ่งศตวรรษ

 รัฐบาลพม่ากำลังดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวภายในประเทศ อาทิเช่น การพัฒนาและสร้างโรงสีเพิ่มเพื่อรองรับการผลิตให้ได้มากถึง 200 ตัน ต่อวัน ตลอดจนการเปิดรับการลงทุนจากบริษัทเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวต่างชาติ เพื่อให้ชาวนาสามารถเข้าถึงแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพสูงได้

‘เราจะสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 2 ล้านตันในช่วง 1 หรือ 2 ปี ข้างหน้านี้’ ทิน ตั๊ต อู ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเกษตรของพม่า กล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่ายังได้สนับสนุนให้มีการตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรในประเทศมากขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการใช้ปุ๋ยในการปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตไปพร้อมๆกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าตั้งเป้าส่งออกข้าวในปีนี้ 1.5 ล้านตัน หรือมากกว่าปีก่อนถึงสองเท่า ในปีหน้า 2 ล้านตัน และ 3 ล้านตันภายในปี 2558 โดยตั้งเป้าส่งออกข้าวไปยังแอฟริกา บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่า การหวนคืนสู่ตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของพม่านั้น อาจใช้เวลานาน เนื่องจากรัฐบาลกรุงเนปิดอว์เสี่ยงเผชิญปัญหาต่างๆ มากมาย

ปัญหาหลักคือ การปฏิรูประบบสินเชื่อเกษตรกร ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรหลายแห่งขึ้น ทว่า ธนาคารดังกล่าวล้วนแต่เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต่างจากระบบสินเชื่อชาวนาในอินโดนีเซีย ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรเป็นธนาคารของรัฐทั้งนี้อินโดนีเซียถือเป็นประเทศต้นแบบด้านการปฏิรูป
เศรษฐกิจและการเมืองที่พม่าศึกษาอย่างใกล้ชิด

‘ปัญหาก็คือ ธนาคารเอกชนอาจลังเลที่จะปล่อยกู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ยากจน’ เดวิด ดาไพซ์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว พร้อมย้ำข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ซึ่งระบุว่าในปีงบประมาณ 2554 ธนาคารเพื่อการเกษตรในพม่าปล่อยกู้ให้ชาวนาเพียง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 750 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเคยสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,000 ล้านบาท)

นอกจากนี้  พม่ายังประสบปัญหาเรื่องโรงสี ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนไม่มากประกอบกับเป็นโรงสีขนาดเล็ก ที่ไม่ทันสมัยมากพอที่จะรองรับการผลิตขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งผลต่อคุณภาพของข้าวอีกด้วย

ทั้งนี้ พม่า ซึ่งปัจจุบันกำลังปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญ เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  เคยส่งออกมากถึง 2 ล้านตันต่อปี