posttoday

'มังกร'ลุยลงทุนน้ำมันต่างแดน หวังผงาด'เจ้าพลังงานโลก'

29 กรกฎาคม 2555

จีนเตรียมซื้อบริษัทน้ำมันเนกเซนของแคนาดา นักวิเคราะห์ชี้มังกรเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านพลังงานหวังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

จีนเตรียมซื้อบริษัทน้ำมันเนกเซนของแคนาดา นักวิเคราะห์ชี้มังกรเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านพลังงานหวังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก

นับเป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างให้ความสนใจไม่น้อย สำหรับการยื่นเสนอซื้อบริษัทน้ำมันเนกเซนของบริษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติจีน (ซีนุก) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานอันดับ 3 ของแดนมังกร เมื่อช่วงวันพุธที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพราะความเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่เพียงแต่เป็นการทำธุรกรรมข้ามชาติของบริษัทน้ำมันจีนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมูลค่าสูงถึง 1.51 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.53 แสนล้านบาท) แล้ว ทว่ายังสามารถตอกย้ำการปรับเปลี่ยน “กลยุทธ์ด้านพลังงาน” ของจีนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

นิตยสารฟอร์บส์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสยายปีกลงทุนด้านพลังงานในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ซึ่งกำลังถูกยกให้เป็น “ตะวันออกกลางแห่งใหม่” โดยทั้งนี้ก็เพื่อหวังตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศที่สูงถึง 10.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือสูงกว่ากำลังผลิตภายในถึงสองเท่าตัว รวมทั้งความต้องการที่จะผันตัวเองจากการเป็น “ผู้นำเข้าพลังงาน” มาเป็น “ผู้ผลิตพลังงาน” ยักษ์ใหญ่ของโลกแข่งกับสหรัฐและตะวันออกกลาง

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ จีนตระหนักดีถึงความสำคัญของพลังงานในอนาคต จึงต้องการหันมาครอบครองแหล่งพลังงานเอง เพื่อบริโภคภายในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติและที่สำคัญก็คือ ใช้เป็นขุมทรัพย์ในการโกยเม็ดเงินมหาศาล

ทว่า จีนเองก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นปริมาณพลังงานสำรองในประเทศที่ไม่สูงนัก ประกอบ “ความรู้” ในเรื่องการขุดเจาะและสำรวจแหล่งพลังงานที่ไม่ทัดเทียมตะวันตก ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการพลังงานในต่างประเทศ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพญามังกร

'มังกร'ลุยลงทุนน้ำมันต่างแดน หวังผงาด'เจ้าพลังงานโลก'

 

“การที่จีนเข้าซื้อบริษัทพลังงานในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคนาดา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานสำรองมากที่สุดแห่งหนึ่งนอกเหนือจากกลุ่มโอเปกแล้ว นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดมาก เพราะไม่เพียงแต่จะได้มาในราคาต่ำแล้ว ยังส่งผลให้จีนมีบทบาทมากขึ้นในเวทีการค้าพลังงานของโลก” คริสโตเฟอร์ เฮลแมนน์ นักเขียนของฟอร์บส์ กล่าวพร้อมย้ำว่า หากซีนุกซื้อเนกเซนได้สำเร็จก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ทั้งในแคนาดา สหราชอาณาจักร แอฟริกาตะวันตก และอ่าวเม็กซิโก หรือคิดเป็นกำลังการผลิตที่สูงถึง 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยดันพลังงานสำรองของจีนพุ่งสูงกว่า 30%

ด้าน แอรอน เลวิต นักเขียนจากเอ็มเอสเอ็นมันนี แสดงความเห็นว่า จีนมองไกลกว่าการตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศแล้ว โดยขณะนี้พญามังกรกำลังมุ่งเน้นผลประโยชน์ระยะยาวในฐานะ “ผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่” ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลย หากพินิจพิจารณาความเคลื่อนไหวต่างๆ ของซีนุก รวมทั้งบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อื่นๆ ของจีนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ไล่เรียงตั้งแต่ความล้มเหลวของซีนุกในการประมูลซื้อ “ยูโนแคล” บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่อันดับ 9 ของสหรัฐ เมื่อปี 2548 ภายหลังถูกรัฐสภากีดกันอย่างหนัก

ทว่า เมื่อปี 2553 ซีนุกก็ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้น 1 ใน 3 ของโครงการแหล่งหินน้ำมัน “อีเกิล ฟอร์ด” ของบริษัท เชสซา พีก เอ็นเนอร์จี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่อันดับสองของสหรัฐ โดยได้ทุ่มเงินไป 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) นับเป็นการเข้าซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันสหรัฐครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทจีนเท่าที่เคยมีมาในขณะนั้น

นอกจากนี้ เมื่อปีก่อนซีนุกยังได้เข้าซื้อบริษัท อ็อปติแคนาดา ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาแหล่งทรายน้ำมันขนาดใหญ่ของแคนาดา รวมทั้งถือหุ้นอยู่ในบริษัท เอ็มอีจี เอ็นเนอร์จี ของแคนาดาอีกด้วย

'มังกร'ลุยลงทุนน้ำมันต่างแดน หวังผงาด'เจ้าพลังงานโลก'

ขณะเดียวกัน ด้านบริษัท ปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (ซีเอ็นพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันรายใหญ่สุดของแดนมังกร ก็ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท เอ็นแคนา คอร์ปอเรชัน เมื่อปีก่อน

ส่วนกลุ่มซิโนเปก ซึ่งเป็นผู้ผลิตและค้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ได้เข้าซื้อหุ้นมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (2.1 แสนล้านบาท) ของบริษัทสำรวจน้ำมันในทะเลน้ำลึกของบราซิล รวมทั้งยังถือหุ้นในบริษัท ซินครูด ผู้ผลิตน้ำมันดิบสังเคราะห์รายใหญ่สุดของแคนาดา และบริษัท เดวอน เอนเนอร์จี ของสหรัฐ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่านับตั้งแต่ปี 2553 บริษัทพลังงานสัญชาติจีนได้ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.10 แสนล้านบาท) ในการกว้านซื้อบริษัทพลังงานในภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ โดยคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

“จีนกำลังพลิกโฉมระบบพลังงานของโลก โดยจากเดิมที่มีตัวละครเพียงไม่กี่ตัว เช่น กลุ่มโอเปก สหรัฐ และรัสเซีย ต่อไปนี้ เราก็จะได้เห็นจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแล้ว” รายงานของฟอร์บส์ระบุ

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ นักวิเคราะห์ยังมองว่า การกว้านซื้อบริษัทพลังงานทั้งในสหรัฐและแคนาดาจะช่วยให้จีนมีเครื่องมือ “ต่อรอง” กับสหรัฐมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสหรัฐตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านพลังงานด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานต่างชาติและหันมาบริโภคพลังงานภายในประเทศแทน ซึ่งแน่นอนว่าจีนอาจตัดสินใจขายขุมทรัพย์พลังงานในแถบอเมริกาเหนือบางส่วนให้สหรัฐ เพื่อแลกกับแหล่งพลังงานของสหรัฐในตะวันออกกลาง ทะเลแคสเปียน แอฟริกาตะวันออก และออสเตรเลีย

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ จะส่งผลให้จีนมีแหล่งพลังงานอยู่ทั่วโลกนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่า การผันตัวเองมาเป็น “เจ้าพลังงาน” รายใหญ่ของจีนก็นับว่ามีข้อดีไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเป็นเครื่องมือรับประกันว่า น้ำมันจากตะวันตกจะไหลสู่ตะวันออกอย่างไม่ขาดสาย

“การซื้อขายพลังงานไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ” ฟอร์บส์ระบุ

ทว่า นักวิเคราะห์ก็ออกโรงเตือนว่า นับจากนี้ไปสิ่งที่ต้องจับตามองมากที่สุดก็คือ ปฏิกิริยาของ “สหรัฐ”

เพราะตอนนี้จีนได้คืบคลานเข้ามาในสนามหลังบ้านลุงแซมเรียบร้อยแล้ว