posttoday

ค่าจ้างแพง-ค่าขนส่งพุ่ง ผู้ผลิตมะกันหนีจีนหวนคืนถิ่น

29 กรกฎาคม 2555

บรรดาบริษัทผู้ผลิตสัญชาติสหรัฐแห่หวนคืนบ้านเกิด หลังค่าจ้าง-ค่าขนส่งในจีนพุ่งจนต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

บรรดาบริษัทผู้ผลิตสัญชาติสหรัฐแห่หวนคืนบ้านเกิด หลังค่าจ้างค่-าขนส่งในจีนพุ่งจนต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

หลังจากย้ายฐานการผลิตหลอดไฟแอลอีดีมาอยู่ที่ประเทศจีนได้หลายปี ซีส์สมาร์ท อิงค์ บริษัทจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐ ก็จำเป็นต้องเริ่มคิดถึงหนทางคืนถิ่นของตนเองอีกครั้ง เมื่อค่าจ้างแรงงานแสนถูกของพญามังกรกำลังเป็นเพียงแค่อดีต ขณะที่ปัญหาทางด้านการขนส่ง ทั้งค่าใช้จ่ายและความล่าช้าเริ่มบานปลายจนควบคุมได้ยากมากขึ้น

ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ ซีส์สมาร์ท อิงค์ เดินหน้าแผนสร้างโรงงานใหม่ 2 แห่ง ที่ซิมิ วัลเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และที่คริสตัล เลค ในรัฐอิลลินอยส์ โดยไม่มีลังเล เพราะเมื่อคำนวณตัวเลขด้านต้นทุนทั้งหมดรวมกัน ทั้งกระบวนการผลิต การขนส่ง และแรงงาน ผลปรากฏว่าการผลิตในถิ่นเกิดของตนเองช่วยให้ประหยัดต้นทุนไปได้มากเอาการอยู่

“เราแทบไม่ต้องปวดหัวกับค่าขนส่งทางอากาศ หรือต้องคอยตามแก้ปัญหาในเรื่องการขนส่งเลย” เรย์มอนด์ สจอลเสธ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งซีส์สมาร์ท อิงค์ กล่าว

ค่าจ้างแพง-ค่าขนส่งพุ่ง ผู้ผลิตมะกันหนีจีนหวนคืนถิ่น

 ทั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่มีผลประกอบการเมื่อปีที่ผ่านมาแค่ 11 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 341 ล้านบาท) แต่ซีส์สมาร์ท อิงค์ ก็นับเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ประกอบการหลายรายในทุกระดับของสหรัฐที่เริ่มเก็บกระเป๋าเดินทางกลับสู่บ้านเกิด ไล่เรียงตั้งแต่บริษัทผลิตกุญแจชั้นนำมาสเตอร์ ล็อก ยันบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าและความมั่นคงดีเยี่ยมอย่าง เจเนอรัล อิเล็กทริกส์ โค (จีอี) และคาเตอร์ พิลลาร์ส

ต้องยอมรับว่า หลังจากที่บุกตะลอนไปทั่วโลกเพื่อมองหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า ท้ายที่สุดเหล่าผู้ผลิตในสหรัฐก็เริ่มตระหนักได้ว่าโรงงานในถิ่นกำเนิดก็สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับบรรดาประเทศต้นทุนถูก เช่น จีน อินเดีย หรือเม็กซิโก เช่นกัน

แน่นอนว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลักอย่างเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปัจจัยพิจารณาแรกสุดในการก่อตั้งโรงงานผลิตย่อมหนีไม่พ้นค่าจ้างของแรงงาน และจีน มหาอำนาจอันดับหนึ่งแห่งเอเชีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าจ้างถูกย่อมเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการขยายฐานการผลิตของสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างไม่ต้องสงสัย

ทว่าเมื่อต้นทุนค่าขนส่งทั่วโลกกำลังพุ่งพรวดแบบไม่มียั้งและไม่มีลด ประกอบกับอัตราค่าจ้างในจีนเองก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงถึงเวลาอีกครั้งที่ผู้ผลิตของสหรัฐจะแสวงหาฐานการผลิตใหม่อีกครั้ง

เพียงแต่คราวนี้ตัวเลือกที่เหมาะสมไม่ใช่ที่ไหนอื่นไกลนอกจากถิ่นเกิดอันคุ้นเคยของตนเอง โดยเมื่อปีที่ผ่านมาจีอีได้ย้ายการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจากโรงงานในเม็กซิโกและจีนมาอยู่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ ในรัฐเคนทักกี ขณะที่คาเตอร์ พิลลาร์ ได้ประกาศแผนการสร้างและขยายโรงงานเพิ่มอีก 9 แห่งในสหรัฐ

ทั้งนี้ ข้อมูลของบริษัท เจเนอรัล อิเล็กทริกส์ พบว่า ช่องว่างระยะห่างต้นทุนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนากำลังคืบคลานใกล้กันเข้ามาเรื่อยๆ โดยในปี 2548 การผลิตที่ปัดน้ำฝนในจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่าผลิตในสหรัฐถึง 45% แต่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตดังกล่าวในจีนถูกกว่าสหรัฐเพียงแค่ 18% เท่านั้น

ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างประเมินตรงกันว่า ภายในปี 2558 ความต่างของต้นทุนการผลิตระหว่างจีนกับสหรัฐจะเหลือเพียงแค่ 9% โดยมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากค่าจ้างที่สูง ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลเหรียญสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ แฮคเก็ตต์ กรุ๊ป อิงค์ พบว่า 46% ของผู้บริหารบริษัทของยุโรปและอเมริกาเหนือต่างเริ่มคิดหาทางย้ายกระบวนการผลิตส่วนหนึ่งจากจีนกลับไปยังสหรัฐ ขณะที่อีก 27% ระบุชัดว่าอยู่ในระหว่างการวางแผนหรือการเคลื่อนย้ายอยู่

ทั้งนี้ กระแสการย้ายฐานการผลิตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้บริษัทลดต้นทุนได้แล้ว ยังเป็นที่ถูกใจของรัฐบาลสหรัฐซึ่งกำลังปวดหัวกับการหาทางแก้ปัญหาคนตกงานภายในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 8%

เนื่องจากบรรดาสมาชิกสภาคองเกรสเชื่อมั่นว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาการว่างงานของสหรัฐเกิดจากการที่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่นิยมจัดจ้างหน่วยงานภายนอกประเทศ หรือย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศเป็นสำคัญ จนทำให้การจ้างงานภายในประเทศลดต่ำลง

ความเชื่อดังกล่าวไม่ถือว่าเกินจริงไปนัก เพราะหลังจากที่มีกระแสคืนกลับบ้านตั้งแต่ช่วงปี 2554 ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยในเดือน พ.ค. ชาวอเมริกันกว่า 11.95 ล้านคน ได้งานทำในโรงงานการผลิตต่างๆ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจถดถอยในเดือน ม.ค. 2553 และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยคาเตอร์ พิลลาร์ เพิ่งจะเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่าโรงงานแห่งใหม่ที่จะสร้างขึ้นในเมืองเอเธนส์ รัฐจอร์เจีย เพื่อผลิตรถเกลี่ยดินและเครื่องขุดเจาะขนาดเล็กจะมีการจ้างแรงงานจำนวน 1,400 คน

“เหตุผลที่เราเลือกจะเติบโตในสหรัฐ เพราะจะได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างเต็มที่ และเพราะที่นี่มีแรงงานทักษะสูงที่สามารถใช้เทคโนโลยีกลไกขั้นสูงได้อย่างดี” แถลงการณ์แผนงานของคาเตอร์ พิลลาร์ ระบุ

แนวคิดของคาเตอร์ พิลลาร์ สอดคล้องกับสจอลเสธ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งซีส์สมาร์ท อิงค์ ที่ระบุว่า การย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตเนื่องจากลดภาระค่าขนส่ง โดยเฉพาะทางอากาศได้ถึง 30% แล้ว ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทที่สามารถส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้รวดเร็วทันใจ

“สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากบรรดาบริษัทในแวดวงแอลอีดี นอกจากสินค้าคุณภาพดีแล้ว สินค้านั้นจะต้องส่งถึงมืออย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากคุณไม่สามารถส่งสินค้าได้ภายใน 4-6 สัปดาห์ คุณก็เตรียมตัวเสียลูกค้ารายนั้นๆ ไปได้เลย” สจอลเสธ เปิดเผย

อย่างไรก็ตาม ความหวังของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ที่จะกระตุ้นการจ้างงานภายในประเทศอาจไม่ได้สวยหรูตามที่คาดหวังไว้ได้มากนัก

เพราะบริษัทส่วนใหญ่ของสหรัฐกำลังลดระดับการพึ่งพาแรงงานคนลงเรื่อยๆ ด้วยการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการผลิต โดยที่บางบริษัทมีต้นทุนด้านค่าจ้างคนงานคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเท่านั้น

กลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐต้องหาคำตอบให้ได้ในระหว่างที่ผู้ผลิตสหรัฐกำลังทยอยเดินทางกลับบ้าน