posttoday

จีน-ญี่ปุ่นบุกอาเซียน หวังคว้าแรงงานรุ่นใหม่หนีสังคมวัยชรา

29 กรกฎาคม 2555

คงจะไม่ผิดนักหากจะพูดตรงๆ ออกมาว่ายุคทองของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

คงจะไม่ผิดนักหากจะพูดตรงๆ ออกมาว่ายุคทองของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ เนื่องจากในวันนี้อาเซียนกำลังเป็นที่จับตามองและพูดถึงกันมากในฐานะดาวรุ่งที่ฉายแววเด่น และรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น ในอีก 3 ปี อาเซียนก็กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี 2558 ซึ่งนั่นทำให้อาเซียนเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นในเวทีโลก เพราะฐานการผลิตและการบริโภค รวมถึงตลาดแรงงานในบางสาขาวิชาชีพของคนกว่า 600 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาคจะหลอมรวมเข้าด้วยกัน หรือเรียกสั้นๆ ว่า เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันทั้งภูมิภาค

แต่กระนั้นการเข้าสู่ยุคทองของอาเซียนไม่ได้หยุดอยู่เพียง 2 ปัจจัยที่กล่าวมาเท่านั้น เพราะในสายตาของนักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และแม้กระทั่งจีน ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังจะเผชิญปัญหาการหดตัวลงของประชากรในวัยทำงานในอนาคตกำลังมองว่า อาเซียนคือแหล่งขุมทรัพย์แห่งใหม่ และจะกลายเป็นสิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของ 3 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเอเชียได้

ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ เปิดเผยว่าประชากรในวัยทำงาน ซึ่งในที่นี้หมายถึงคนที่มีอายุตั้งแต่ 15-64 ปี ของหลายประเทศในอาเซียนกำลังขยายตัวมากขึ้น ซึ่งภายในปี 2563 จำนวนคนในวัยทำงานของฟิลิปปินส์จะขยายตัวขึ้นเกือบ 18 ล้านคน จากที่มีอยู่ในปี 2553 หรือเพิ่มขึ้น 31% ไปอยู่ที่ 75 ล้านคน ขณะที่ มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 19% ไปอยู่ที่ 22 ล้านคน

ส่วน อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรและขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอาเซียน จะมีประชากรในวัยแรงงานเพิ่มขึ้น 18 ล้านคน ไปอยู่ที่ 180 ล้านคน ในปี 2563

จีน-ญี่ปุ่นบุกอาเซียน หวังคว้าแรงงานรุ่นใหม่หนีสังคมวัยชรา

สิ่งที่เกิดขึ้นในอาเซียนเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวโน้มของกลุ่ม 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยประชากรในวัยทำงานจีน ในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 970 ล้านคน และหลังจากนั้น 3 ปี ค่าเฉลี่ยของอายุคนในจีนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 37.8 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 48.5 และเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 43.4 ทว่าอายุเฉลี่ยของประชากรในฟิลิปปินส์กลับอยู่ที่ 23.9 และมาเลเซียอยู่ที่ 28.4 เท่านั้น

“สัดส่วนการปันผลทางประชากรระหว่างในวัยทำงานและวัยสูงอายุที่สมดุลกันในญี่ปุ่น เกาหลีใต้นั้นได้จบสิ้นลงไปแล้ว และในอนาคตจีนก็จะจบสิ้นลงตามมาในอีกไม่ช้า แต่ทว่าอาเซียนกำลังเกิดขึ้น และจะดำเนินต่อไปอีกพักใหญ่” โยชิมาสะ มารูยามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท อิโตชู คอร์ป บริษัทชั้นนำด้านการค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น กล่าว

ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มของประชากรในวัยทำงานของ 3 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเอเชียกำลังจะลดลง แต่กลุ่มอาเซียนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้หลายบริษัทของประเทศในประเทศกลุ่มนี้เริ่มย้ายฐานการลงทุนออกนอกประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งปีที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนโดยตรงกับอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า จากปี 2553 ที่ 1.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6 แสนล้านบาท) ขณะที่จีนและฮ่องกงอยู่ที่ 1.42 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.4 แสนล้านบาท)

ดังเห็นได้จากคำกล่าวของ ฮิโตชิ โคโนะ ผู้จัดการโรงงานของบริษัท สึทูนิชิ ผู้ดำเนินธุรกิจต่อเรือรายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันเข้าไปตั้งโรงงานในฟิลิปปินส์แล้ว กล่าวผ่านสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ตัดสินใจออกมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพราะการเพิ่มขึ้นของแรงงานในวัยหนุ่มสาวที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์

“แรงงานในฟิลิปปินส์มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานในญี่ปุ่น” โคโนะ กล่าว พร้อมเผยว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังพิจารณาการลงทุนสร้างโรงงานต่อเรือขึ้นในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการมีแนวโน้มประชากรในวัยทำงานที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงอย่างเดียวจะทำให้อาเซียนกลายเป็นจุดที่น่าสนใจและดึงดูดเหล่านักลงทุนจากต่างประเทศได้ทั้งหมด เพราะว่าอาเซียนมีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ

“ค่าแรงในอาเซียนเริ่มถูกลง เนื่องจากค่าแรงของจีนเริ่มสูงขึ้น” ซาโตชิ โอซานัย แห่งศูนย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ไตวะของญี่ปุ่น กล่าว พร้อมชี้ว่า ปัจจุบันค่าแรงโดยเฉลี่ยของแรงงานต่างชาติที่อพยพเข้าไปทำงานในจีนในปี 2554 เพิ่มสูงขึ้น 21% ขึ้นมาอยู่ที่ 2,049 หยวน (ราว 12,558 บาท) ต่อเดือน

ขณะที่ แจน โอออสเตอร์เวล อาจารย์อาวุโสแห่งสถาบันธุรกิจไออีเอสอี ของมหาวิทยาลัยนาวารา ในเมืองบาร์เซโลนา กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า ค่าแรงที่ถูกกว่ากำลังจะเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติโดยเฉพาะผู้ประกอบการในจีนและญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนขยายตัวต่อเนื่องไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

“อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานในจีนจะย้ายไปฐานการลงทุนเข้าไปในประเทศที่มีค่าแรงถูก อย่างเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า รวมถึงบังกลาเทศ ขณะที่ภาคอุตสาห กรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงกว่าจะย้ายไปลงทุนในสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์” โอออสเตอร์เวล กล่าว

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญข้างต้นสอดรับกับคำกล่าวของ โยชิซูกุ มูรากามิ โฆษกของบริษัท มิตซูมิ อิเล็กทริกส์ ซึ่งปัจจุบันตั้งโรงงานอยู่ในเมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า บริษัทเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มาอยู่ที่ฟิลิปปินส์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากค่าแรงในจีนเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกเหนือจาก 2 ปัจจัยข้างต้นที่ทำให้อาเซียนกลายเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนจาก 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ อีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้อาเซียนไม่อาจละสายตาได้เลย นั่นคือแรงงานในภูมิภาคนี้เป็นแรงงานที่มีฝีมือ และทักษะอยู่มาก

ผลการศึกษาวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งจัดทำโดย เดวิด อีบลูม เดวิด คันนิง และเจพี เซวิลลา 3 นักเศรษฐศาสตร์ ที่ระบุว่า ถึงแม้ผลการศึกษาจะชี้ว่าการปันผลทางประชากรที่สมดุลจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัย 15-64 ปี แต่ข้อสรุปของผลวิจัยก็บอกว่า ปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่ตัวชี้ขาดเสมอไป

เพราะว่า หากประชากรในวัยดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากนโยบายภาครัฐ ทั้งทางด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ สาธารณสุข ทุกอย่างก็ไร้ความหมาย และไม่ก่อให้เกิดผลดีใดๆ ทางเศรษฐกิจขึ้นมา

ความเห็นดังกล่าวสอดรับกับคำกล่าวของ ศรี มูยานี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการของธนาคารโลก และเป็นอดีตรัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซีย ที่ระบุว่า ถึงแม้การมีคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้นจะเป็นผลดี แต่จะไม่มีประโยชน์เลยหากแรงงานเหล่านั้นไม่ได้รับการฝึกฝนและไร้ซึ่งทักษะ

กรณีดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นกับอินเดีย ที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มสัดส่วนการปันผลประชากรที่ดี และข้อมูลจาก เมอร์ริล ลินช์ ก็คาดว่าจำนวนคนในวัยทำงานของอินเดียจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 95 ล้านคนในปี 2563 แต่ทว่าผู้ประกอบการธุรกิจทั้งในประเทศและจากต่างชาติไม่ค่อยให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอินเดียเท่าไรนักเมื่อเปรียบเทียบกับอาเซียน

สาเหตุเป็นเพราะว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ ดังเห็นได้จากรายงานการพัฒนาด้านมนุษย์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อปี 2554 ซึ่งระบุว่า อัตราการเรียนรู้หนังสือในวัยผู้ใหญ่ในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สูงขึ้น 92% ขณะที่อินเดียเพิ่มขึ้น 63% เท่านั้น

“การขาดซึ่งแรงงานไร้ทักษะ หมายถึง การที่คนงานขาดซึ่งการฝึกฝนทักษะที่เพียงพอจะนำไปก่อสร้างถนน รางรถไฟ และท่าเรืออย่างที่อินเดียต้องการได้” บริษัท ลาเสนแอนด์ทูบอร์ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย และบริษัท ลิงตัน โฮลดิง ผู้ดำเนินธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย กล่าวแสดงความผิดหวังต่อระบบแรงงานในประเทศอินเดีย

ฉะนั้น อนาคตอาเซียนคงจะต้องรับมือกับกระแสการลงทุนที่ไหลหลากมาจาก 3 ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะจีนกับญี่ปุ่นเอาไว้ให้ดี