posttoday

ค้นรังมือปืนแบทแมนพบระเบิด-กับดักเพียบ

23 กรกฎาคม 2555

ตำรวจมะกันอึ้งมือปืนโรงหนังแบทแมนซุกวัตถุระเบิด ทำกับดักไว้ที่ห้องพักเพียบ ชี้การก่อเหตุมีการวางแผนไว้ล่วงหน้านานแล้ว

ตำรวจมะกันอึ้งมือปืนโรงหนังแบทแมนซุกวัตถุระเบิด ทำกับดักไว้ที่ห้องพักเพียบ ชี้การก่อเหตุมีการวางแผนไว้ล่วงหน้านานแล้ว

ค้นรังมือปืนแบทแมนพบระเบิด-กับดักเพียบ

แดน ออทเทสต์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมืองอูโรลา เปิดเผยว่า เจมส์ โฮล์มส มือปืนผู้ต้องสงสัยก่อเหตุกราดยิงใส่ผู้คนในช่วงระหว่างชมภาพยนตร์เรื่อง “แบทแมน” รอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์ในเมืองเดนเวอร์ เป็นการก่อเหตุโดยมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้านานกว่า 3 เดือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีข้อมูลว่า โฮล์มส ได้สั่งซื้ออาวุธและกระสุนปืน รวมถึงวัตถุระเบิดผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้ในการก่อเหตุ และผลจากการตรวจสอบในห้องพักของ โฮล์มส ก็ได้สร้างความตกตะลึงให้กับ เจ้าหน้าที่ เมื่อพบว่ามือปืนรายนี้ได้สร้างกับดักระเบิดไว้เต็มห้องพัก ทว่าล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ใช้หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดเก็บกู้ได้หมดแล้ว

“ห้องพักของมือปืนรายนี้เต็มไปด้วยขวดของเหลว วัตถุระเบิด และสารเคมี ซึ่งตั้งไว้เพื่อสังหารใครก็ตามที่เข้าไปในห้องนี้” ออทเทสต์ กล่าว พร้อมกล่าวเสริมอีกด้วยว่า ที่หน้าต่างห้องพักของมือปืนรายนี้ยังมีการนำถุงพลาสติกสีดำคลุมไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนข้างนอกมองเห็นภายในตัวของห้องพัก

ด้าน เจมส์ ยาคอน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดของสำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) เผยว่า ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสารตั้งต้นวัตถุระเบิดที่อยู่ในห้องพักมีชนิดใดบ้าง แต่ที่แน่ชัดแล้วก็คือห้องๆนี้อันตรายมาก ซึ่งหากมีผู้พลั้งเผลอเข้าไปอาจจะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงมูลเหตุจูงใจที่นำไปสู่การลงมือก่อเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ก็คาดว่า สาเหตุน่าจะเกิดมาจากพฤติกรรมเลียนแบบจากการชมภาพยนตร์

อีกนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่า โฮล์มส เคยมีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดเดียวกับที่ ฮีธ เลดเจอร์ อดีตนักแสดงฮอลลีวูดซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน และเคยสวมบทเป็นโจ๊กเกอร์ ตัวละครฝ่ายร้ายในเรื่องแบทแมนภาคที่แล้วอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเหตุจูงใจที่นำไปสู่การก่อเหตุจะเกิดขึ้นจากเหตุใด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นเหตุสังหารหมู่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 15 ปีของสหรัฐ นับตั้งแต่เกิดเหตุสังหารหมู่เด็กนักเรียน 13 คน ในโรงเรียนมัธยมโคลัมเบียน ที่เมืองลิตเติลตัน รัฐโคโลราโด เมื่อปี 2542

เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า ในตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา การก่อเหตุคดีสังหารหมู่สะเทือนขวัญได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ และบ่อยครั้งเหตุที่เกิดขึ้นก็มีลักษณะที่ผู้ลงมือไม่เคยรู้จัก หรือมีความแค้นส่วนตัวกับเหยื่อมาก่อนเลย และในปัจจุบันกำลังมีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ค้นรังมือปืนแบทแมนพบระเบิด-กับดักเพียบ

ในปี 2550 เกิดเหตุสังหารหมู่ของ เซิงหยูชู หนุ่มชาวเกาหลี ที่สถาบันเทคโนโลยีเวอร์จิเนีย ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 33 คน และผู้ก่อเหตุก็ยิงตัวตายตาม โดยไม่ทราบถึงสาเหตุการลงมือแต่อย่างใด

ขณะที่ในเดือน มี.ค. 2552 ก็ได้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ขึ้นอีกครั้งในสหรัฐ เมื่อ จีเวอรี หว่อง ชายชาวเวียดนาม ได้ก่อเหตุกราดยิงใส่กลุ่มคนที่ศูนย์พลเมืองของเมืองบริงแฮมตัน มลรัฐนิวยอร์ก จนมีผู้เสียชีวิตถึง 13 คน และผู้ก่อเหตุก็ได้ยิงตัวตายตาม ซึ่งคาดว่าสาเหตุของการก่อคดีสะเทือนขวัญเกิดมาจากความกดดันส่วนตัว และเจ้าตัวเคยมีประวัติถูกตำรวจกลั่นแกล้งอีกด้วย

ในเดือนเดียวกัน ได้เกิดเหตุเศร้าสลดตามมาในรัฐแอละแบมา เมื่อ ไมเคิล แม็คเลนดอน ชายชาวสหรัฐได้ก่อเหตุสังหารญาติพี่น้องในครอบครัวถึง 10 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เผยว่าเป็นเหตุฆาตกรรมหมู่ในครอบครัวที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐ และในช่วงปลายปี 2552 ก็ได้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันเมื่อ นิดัล ฮาสัน นายทหารระดับสูงของสหรัฐได้ก่อเหตุกราดยิงใส่เพื่อนทหาร 13 คนจนเสียชีวิต ที่ค่ายทหาร ฟอร์ด ฮูดส์ เทกซัส

ต่อมาหลังจากถูกจับกุม ฮาสัน ได้ให้การรับสารภาพว่า ได้รับแรงจูงใจในการก่อเหตุจาก อัล-อวาลากี ผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งถูกสังหารโดยกองทัพสหรัฐเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์สุดน่าเศร้าสลดยังได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง และยังเป็นที่จดจำของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ โดยในช่วงต้นปี 2554 ได้เกิดเหตุกราดยิงใส่ผู้คนในช่วงการประชุมสภาเมืองแอริโซนา จนมีผู้เสียชีวิตถึง 6 คน และกาเบรียล กริฟฟอร์ด สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐ ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน

ขณะที่ในเดือน เม.ย. ปีนี้ก็มีเหตุการณ์กราดยิงใส่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน จนมีผู้เสียชีวิต 7 คน ในเมืองโอ๊กแลนด์ แคลิฟอร์เนีย

นอกจากนี้ เหตุสังหารหมู่ยังไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะที่สหรัฐเท่านั้น ซึ่งกรณีที่เป็นที่โด่งดังอย่างมากคือ เหตุสังหารหมู่ชาวนอร์เวย์ 77 คน ของ อังเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก ในช่วงเดือน ก.ค. 2554 ซึ่งผู้ก่อเหตุอ้างว่าที่ทำลงไปทั้งหมด ก็เพื่อปกป้องประเทศให้พ้นจากการเป็นพหุสังคม และความหลากหลายด้านวัฒนธรรมอื่นๆ รวมถึงป้องกันการแพร่ขยายของศาสนาอิสลาม