posttoday

ยุโรปดันค้าเสรี‘อียู-อาเซียน’

12 กรกฎาคม 2555

นายกฯเยอรมนีรับจะรีบเร่งผลักดัน สเปนออกมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่ม

นายกฯเยอรมนีรับจะรีบเร่งผลักดัน สเปนออกมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่ม

เยอรมนีพร้อมผลักดันเอฟทีเอ อียู-อาเซียน โดยเร็ว ลั่นยุโรปต้องทำเพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขัน ด้านสเปนออกแผนรัดเข็มขัดเพิ่มเติม

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี กล่าวระหว่างการเยือนอินโดนีเซีย ว่ายุโรปต้องพยายามจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมชี้ว่าเป็นสิ่งที่ยุโรปต้องการอย่างมากในเวลานี้

“อียูจะต้องรีบบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับภูมิภาคนี้โดยเร็ว ถ้ายุโรปต้องการคงความสามารถแข่งขันต่อไป” แมร์เกิล กล่าว

นอกจากให้คำมั่นผลักดันเอฟทีเอให้เดินหน้าแล้ว แมร์เกิลและประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน ของอินโดนีเซีย ยังได้ประกาศเพิ่มความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.17 แสนล้านบาท) ขณะที่ทางอินโดนีเซียคาดว่าการค้ากับเยอรมนีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.72 แสนล้านบาท) ภายในปี 2557

ทั้งนี้ อียูและอาเซียนได้กลับมาเริ่มต้นเจรจาเอฟทีเอกันใหม่อีกครั้ง เมื่อเดือน พ.ค. 2550 หลังต้องหยุดชะงักไปหลายปีก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยอียูนั้นถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากจีน โดยมีสัดส่วนการค้าคิดเป็น 11% ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน

วันเดียวกัน ด้านนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย ของสเปน เผยมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่ เพื่อลดขาดดุลงบประมาณให้ได้ 6.5 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.47 ล้านล้านบาท) ภายใน 2 ปีครึ่ง ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิม 18% ไปอยู่ที่ 21% ควบคู่ไปกับการตัดลดค่าใช้จ่ายรัฐบาล เช่น การลดสวัสดิการผู้ว่างงาน และการตัดลดโบนัสประจำปีของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะถดถอยโดยเร็ว

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เตือนอิตาลีว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤตหนี้ยุโรปและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลกอยู่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างหนักแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจอิตาลียังขยายตัวได้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ –1.9% ในปีนี้ และลดลงมาเหลือ – 0.3% ในปีถัดไป

ด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า แม้ยุโรปจะเผชิญกับมรสุมวิกฤตหนี้อย่างหนัก ทว่าความต้องการเงินสกุลยูโรทั่วโลกกลับลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยในช่วงปลายปี 2553 สัดส่วนเงินยูโรในกองทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่ที่ 25.4% และลดลงมาอยู่ที่ 25% ในช่วงปลายปี 2554

ด้านฟิทช์เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับเครดิตชื่อดัง ยืนยันว่า ความน่าเชื่อถือของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับ “AAA” อยู่เช่นเดิมแต่ยังคงแนวโน้่มในเชิงลบต่อไป เนื่องจากสภาครองเกสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการตัดลดงบประมาณประเทศได้สำเร็จ