logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
posttoday

เปิดเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เตือนเอเชียเลี่ยงกีดกันการค้า

01 มิถุนายน 2555

เปิดฉากการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม กูรูเตือนเอเชียเลี่ยงใช้นโยบายกีดกันการค้า เตรียมรับมือปัจจัยเสี่ยงแรงกระแทกวิกฤตอียู

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

เปิดฉากการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม กูรูเตือนเอเชียเลี่ยงใช้นโยบายกีดกันการค้า เตรียมรับมือปัจจัยเสี่ยงแรงกระแทกวิกฤตอียู

เวทีการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ว่าด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 21 เปิดฉากอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ โดยประเด็นที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากภาครัฐและเอกชนชั้นนำทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเตือนให้เอเชียหลีกเลี่ยงการดำเนินเศรษฐกิจแบบปกป้องตัวเองจนเกินไป จนถึงการให้เร่งเฝ้าระวังวิกฤตจากยุโรปซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเอเชียมากที่สุด ตลอดไปจนถึงปัจจัยเสี่ยงจากภาวะขาดแคลนพลังงานด้วย

ปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ออกโรงเตือนระหว่างเข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ โมเดลแห่งเอเชียตะวันออกที่จะเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลกว่า นโยบายปกป้องทางการค้าที่ทำให้เกิดการดำเนินเศรษฐกิจแบบ “ปกป้องตัวเอง” ในเอเชีย ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มอาเซียน ที่อาจเป็นปัจจัยคุกคามที่บั่นทอนความแข็งแกร่งของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก กล่าวว่า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในแบบป้องกันตัวเอง (Protectionism) ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรปและแนวโน้มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในสหรัฐ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญล่าสุดในเอเชียที่เป็นภูมิภาคผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

“ยิ่งมีการออกนโยบายปกป้องการค้ามากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกนโยบายปกป้องการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องตัวเองกันมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็จะยิ่งส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคและโลก” ลามี กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงกรณีความเป็นไปได้ในการใช้สกุลเงินเดียวของอาเซียน ตามแผนการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ลามีงดแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า สิ่งที่อาเซียนต้องทำในขณะนี้ก็คือการยกระดับความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในระดับที่แต่ละประเทศในอาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าโดยปราศจากมาตรการกำแพงภาษี

“ผมเชื่อมั่นว่า อาเซียนในเวลานี้ได้เดินมาถูกทางแล้ว และมาในสปีดที่ถูกต้อง” ลามี กล่าว

นอกจากนั้น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ยังเตือนว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงจากวิกฤตหนี้ในฝั่งยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากในขณะนี้เศรษฐกิจของภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดย ลามี เรียกร้องให้อาเซียนเดินหน้าร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตภายนอกภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ ความเห็นของลามีสอดคล้องกับความเห็นของ นาโอยูกิ ชิโนฮารา รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่แนะให้อาเซียนเร่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเศรษฐกิจของอาเซียนให้บรรลุผลเสียก่อนที่จะมีการพูดคุยกันถึงเรื่องการใช้เงินสกุลเดียว

เปิดเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม เตือนเอเชียเลี่ยงกีดกันการค้า

 

นอกจากนี้ ชิโนฮารา ยังได้แสดงความเห็นถึงปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจโลกที่ควรต้องเฝ้าระวังและจับตามองกันต่อไปในระยะสั้นและระยะกลางก็คือ เศรษฐกิจของยุโรป โดยยุโรปไม่ควรมองแค่จะแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคธนาคารอย่างไร แต่ต้องมองหาช่องทางการเติบโต และการสร้างงานให้กับคนหนุ่มสาว

ปัจจัยเสี่ยงประการต่อมาที่โลกต้องเตรียมตัวก็คือพลังงาน ที่ความต้องการใช้เพื่อนำมาฟื้นฟูหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่อมมีมากขึ้น แต่ขณะนี้แหล่งพลังงานเริ่มมีจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุวิกฤตนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ทำให้กระแสนิวเคลียร์ไม่เป็นที่ต้องการ

ชิโนฮารา สรุปว่า ถ้าเอเชียจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวให้ได้ในระยะยาวก็จำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องความความเท่าเทียมกันทางรายได้เป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน หัวเรือใหญ่องค์การการค้าโลกยังได้แสดงความเห็นครอบคลุมถึงกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยแสดงความมั่นใจว่า ข้อพิพาทดังกล่าวจะไม่ทวีความรุนแรงถึงขั้นกลายเป็น “สงครามการค้า” อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวอ้าง เนื่องจากหากพิจารณาปริมาณการค้าระหว่างสองชาติแล้วจะพบว่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“องค์การการค้าโลกไม่เคยมีคำว่าสงครามการค้าในพจนานุกรมเลย เพราะฉะนั้นเราเชื่อมั่นว่า สหรัฐและจีนไม่ได้ทำสงครามการค้ากันอยู่ และขณะนี้ สถานการณ์ระหว่างสองประเทศก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงอย่างที่หลายฝ่ายคิด” ลามี กล่าวระหว่างการแถลงข่าว

ขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้เปิดเผยรายงาน “บทบาทของตลาดเกิดใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจการเงิน” แนะนำว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ควรจะเปลี่ยนรูปแบบการระดมทุนจากเดิมที่ใช้วิธีการกู้ยืมมาเป็นการออกพันธบัตรคอร์ปอเรต บอนด์ แทน เพื่อสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ราจัท เอ็ม นาค ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอดีบี กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีทุกแห่งจะสามารถออกพันธบัตรได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีมีหลายประเภทและระดับ ไล่ตั้งแต่เล็กสุดไปถึงใหญ่สุด ดังนั้น เฉพาะเอสเอ็มอีขนาดใหญ่เท่านั้น อาทิ เอ็สเอมอีที่อยู่ในรูปของสถาบันการเงิน ธุรกิจลีสซิง หรือโรงงาน ที่จะสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้

เอดีบีเผยว่า แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นสถาบันที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงเทียบเท่าสถาบันชั้นนำของโลก ทว่าการเข้าถึงเงินกู้ของประชาชนในประเทศเกิดใหม่หลายประเทศกลับอยู่ในระดับที่ต่ำ

ขณะเดียวกันในหัวข้ออภิปราย “การรับมือกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และเศรษฐกิจ” ผู้เข้าร่วมอภิปรายเห็นตรงกันว่า เอเชียตะวันออกได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แข็งแกร่งในการรับมือกับภัยต่างๆ ได้ดี และเริ่มที่จะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เอเชียตะวันออกจะสามารถแสดงให้เห็นความสามารถดังกล่าว แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอ โดยเอเชียตะวันออกควรจะหามาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้นกว่านี้

ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายของพิธีเปิด ศ.เคลาส์ ชวาป ได้เปิดโอกาสให้ผู้นำ 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว เปิดเผยความฝันของแต่ละคนในเรื่อง “อาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า” โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า ต้องการให้แต่ละชาติสมาชิกนำจุดแข็งมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ขณะที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน แห่งอินโดนีเซีย ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า อยากให้อาเซียนมีความมั่นคงระดับภูมิภาค การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีบทบาทบนเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทด้านเศรษฐกิจ

ด้านนายกรัฐมนตรีเหงียนตันดุง แห่งเวียดนาม เปิดเผยว่า ต้องการเห็นอาเซียนประสบความสำเร็จในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ และนายกรัฐมนตรีทองสิง ทำมะวง แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระบุว่า หวังว่าในอีก 5 ข้างหน้า ช่องว่างในด้านต่างๆ ระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนจะลดลง