posttoday

จับตา 3 วันอันตราย ต่างชาติชี้ศก.ไทย

10 มีนาคม 2553

นักวิเคราะห์ต่างชาติเร่งจับสัญญาณ 3 วันอันตราย ส่วนใหญ่ฟันธงกระทบเศรษฐกิจ-การลงทุนยาว ขณะแบงก์ออสซีมองแง่ดี วุ่นแค่ไหนก็พรากยิ้มสยามไปไม่ได้

นักวิเคราะห์ต่างชาติเร่งจับสัญญาณ 3 วันอันตราย ส่วนใหญ่ฟันธงกระทบเศรษฐกิจ-การลงทุนยาว ขณะแบงก์ออสซีมองแง่ดี วุ่นแค่ไหนก็พรากยิ้มสยามไปไม่ได้

รอยเตอร์ส รายงานอ้างความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ต่างชาติเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ถึงการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคการท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มการลงทุนในระยะยาว

รายงานระบุว่า ราคาสินทรัพย์ในประเทศไทยนั้นมีความผันผวนสูงกับระดับปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากภาวะถดถอยของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทว่าตลาดหุ้นกลับมีอัตราส่วนของราคาต่อกำไรจากที่ประเมินในปี 2011 เพียง 10.1 เท่า เท่านั้น ซึ่งนับว่าถูกที่สุดในย่านเอเชีย รองจากปากีสถาน ประเทศเดียว

สถานการณ์ของตลาดทุนในไทยนั้นเริ่มดำเนินมาได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ก็หลังจากที่ผ่านพ้น 2 เหตุการณ์ประท้วงครั้งสำคัญมา คือการบุกยึดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อเดือน พ.ย. 2551 และกลุ่มคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการประท้วงจนเกิดความรุนแรงที่กรุงเทพฯ และพัทยา เมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว

ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ระบุในงานวิจัยล่าสุดของเดือนนี้ว่า โครงการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคพื้นฐานในไทยที่ยังต้องการการลงทุนอีกมากนัก จะเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองครั้งนี้

“เราเชื่อว่าความไม่แน่นอนทั้งหลายในบรรยากาศทางการเมืองขณะนี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมถึงความต้องการเข้ามาร่วมลงทุนของภาคเอกชน เมื่อมองไปยังสถานการณ์ข้างหน้า เราเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นปัจจัยฉุดให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” โกลด์แมน แซคส์ ระบุ

ขณะที่อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนท์ ยูนิท (อีไอยู) จากนิตยสารดิ อิโคโนมิสต์ มองว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและค่าเงินในขณะนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยแนวโน้มระยะสั้นเป็นหลัก

“เราจะเห็นผลกระทบมากขึ้นต่อการลงทุนโดยตรงในระยะยาว ซึ่งแน่นอนว่าจะได้รับความเสียหายจากความไร้เสถียรภาพและความวิตกกังวลต่อแนวโน้มทางการเมืองของไทย บรรดานักลงทุนอาจไม่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทยอีก เมื่อมองเทียบกับบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน จะเห็นว่าเขาสามารถจัดการกับปัญหาทางการเมืองได้ดี เช่นที่ อินโดนีเซีย” อีไอยู ระบุ

ด้านสถานีวิทยุและโทรทัศน์วีโอเอนิวส์ ในสหรัฐ รายงานอ้าง จอห์น โคลโดว์สกี โฆษกสมาคมการขนส่งทางอากาศเอเชียแปซิฟิก (พาตา) ว่าปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างก็ตื่นตระหนกกับความตึงเครียดทางการเมืองไทยอยู่แล้ว การชุมนุมระหว่างวันที่ 12 – 14 มี.ค. นี้ จะยิ่งทวีความตึงเครียด และบรรดาข่าวลือว่าอาจเกิดความรุนแรงขึ้นนั้น ก็ยิ่งรังแต่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินบางแห่งกลับเห็นว่าเรื่องนี้ จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น

“ต้องยอมรับว่า เมฆหมอกแห่งความเสี่ยงทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่สามารถพรากรอยยิ้มไปจากคนไทยได้ด้วยเช่นกัน เมื่อมองจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่น่าดึงดูดมากขึ้น ในสยามเมืองยิ้มแห่งนี้” ธนาคารเพื่อการลงทุนในออสเตรเลีย แมคควอรี ระบุในรายงาน