posttoday

กูรูชี้ จ้างงานอาจสะดุด แต่มะกันยังไม่ต้องใช้คิวอี3

09 เมษายน 2555

กูรูเชื่อแม้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐเดือน มี.ค. น้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

กูรูเชื่อแม้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐเดือน มี.ค. น้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยน่าตระหนก และยังไม่ถึงเวลาต้องคิดเรื่องของมาตรการคิวอี 3

เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น มันนี่ ของสหรัฐเปิดเผยรายงานจากการสัมภาษณ์นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงินชั้นนำในสหรัฐซึ่งส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า แม้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐในเดือน มี.ค. ที่กระทรวงแรงงานรายงานเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันไว้ และน้อยกว่าตัวเลขการจ้างงานในเดือน ก.พ. มากกว่าครึ่งจะเป็นข่าวร้ายที่ไม่น่าพิสมัยสำหรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของสหรัฐ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าร้ายแรงเพียงพอจนถึงขั้นที่จะทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) หันมาพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ในขณะนี้

พอล อาร์ ลาโมนิกา นักวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็น กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐในขณะนี้ก็คือการมองข้ามเดือนที่น่าผิดหวังไปยังอนาคตข้างหน้าที่กว้างกว่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาตัวเลขสถิติทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ของสหรัฐ จะพบว่าตัวเลขเหล่านั้นยังไม่ถึงขั้นเลวร้าย

ทั้งนี้ ลาโมนิกา ระบุว่า แม้จะมีอัตราการจ้างงานในเดือน มี.ค. เพียงแค่ 1.2 แสนตำแหน่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.ก.พ. ที่มีการจ้างงานในแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 2 แสนตำแหน่ง ก็ต้องยอมรับว่าตัวเลขในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาน่าผิดหวัง จนอดที่จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกกังขาถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้

แต่เมื่อมองอัตราเฉลี่ยของบัญชีเงินเดือนของบรรดาบริษัทต่างๆ จะพบว่าตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

กูรูชี้ จ้างงานอาจสะดุด แต่มะกันยังไม่ต้องใช้คิวอี3

 

เรียกได้ว่า เฉลี่ยแล้วบรรดาบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้น

ด้าน สตีฟ บลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอทีจี อินเวสต์เมนต์ รีเสิร์ช ในนิวยอร์ก กล่าวว่า เฟดย่อมยิ้มไม่ออกกับรายงานการจ้างงานล่าสุดแน่นอน แต่ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่เฟดจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อตัวเลขเดียวที่ออกมา เพราะรายงานการจ้างงานในแต่ละเดือนของสหรัฐอยู่ในสภาพที่มีปัจจัยกระทบให้เกิดการผันผวนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

บลิตซ์ ระบุว่า เฟดยังมีเวลาอีกประมาณ 2 อาทิตย์กว่าๆ ที่จะพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในด้านอื่นๆ ก่อนที่จะตัดสินใจประกาศปรับนโยบายจัดการรับมือปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการประชุมนโยบายประจำเดือนเป็นระยะเวลา 2 วันครั้งต่อไปของเฟดจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย.นี้

หรือแม้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือตัวเลขข้อมูลที่จะทยอยเผยต่อสาธารณะในช่วงสัปดาห์นี้จะแย่ตามอัตราการจ้างงาน แต่บลิตซ์ก็ค่อนข้างมั่นใจว่า เบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนประกาศใช้มาตรการทุ่มซื้อพันธบัตรรอบ 3 หรือนโยบายผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี 3)

นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่อาจลืมไปได้ก็คือว่า ในปัจจุบันนี้เฟดยังคงใช้มาตรการช้อนซื้อพันธบัตรระยะยาว ผ่านโครงการโอเปอเรชัน ทวิสต์ อยู่จนกว่าจะถึงเดือน มิ.ย. โดยภายใต้โครงการดังกล่าวเฟดได้จัดการสวอปพันธบัตรระยะสั้นกับพันธบัตรระยะยาว โดยวิธีการนี้จะช่วยเลี่ยงไม่ให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องแบกรับภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้นไปกว่าปัจจุบันที่หนักหนาอยู่แล้ว

ดังนั้น การประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ก่อนกำหนดวันสิ้นสุดโครงการโอเปอเรชัน ทวิสต์ จึงดูเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะประมาทเลินเล่อ โดยในสายตาของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นว่า อย่างน้อยที่สุดหากเฟดจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นช่วงเส้นตายโครงการซื้อพันธบัตรมากกว่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เฟด ตลอดจนบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางต้องเตรียมตัวรับมือต่อจากนี้ก็คือ การยอมรับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้อาจย่ำแย่กว่าช่วงไตรมาสแรก โดยนักเศรษศาสตร์อาวุโสจากไอทีจีฯ กล่าวว่า บรรดาผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐดีขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อาจต้องตกอยู่ในสภาพเจ็บตัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะเจอภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงอย่างรุนแรง (ฮาร์ดแลนดิง) จนส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมของสหรัฐ

“แต่ตราบใดที่ไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่เกิดขึ้น สถานการณ์โดยรวมของสหรัฐก็ยังน่าจะไปได้สวย” บลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากไอทีจี อินเวสต์เมนต์ รีเสิร์ช กล่าว

ด้าน สกอตต์ บราวน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเรย์มอนด์ เจมส์ ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาส 2 ก็คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวแพงต่อเนื่อง โดยถ้าหากผู้บริโภคในตลาดตัดลดการใช้จ่าย บรรดาเจ้าของกิจการอาจใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการไม่จ้างบุคลากรเพิ่มเติม

ความหมายโดยนัยของบราวน์ที่แฝงอยู่ก็คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้เฟดต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอก เพียงแต่สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เลวร้ายถึงขั้นที่จะขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันก็คือ แม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะอ่อนแอลง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีที่เฟดจะพิจารณาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างคิวอี 3 หรือโอเปอเรชัน ทวิสต์

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามาตรการคิวอี 3 ได้กระตุ้นให้บรรยากาศการซื้อขายในตลาดทุนคึกคัก จนส่งผลให้บรรดาธุรกิจเกิดความรู้สึกมั่นใจที่จะจ้างพนักงานเพิ่มก็จริง แต่การอัดสภาพคล่องในลักษณะดังกล่าวก็ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนลงจนเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อ หรือภาวะข้าวยากหมากแพงตามมา

“เราไม่สนับสนุนคิวอี 3 แล้ว และการขาดสภาพคล่องก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเศรษฐกิจในภาพรวมของสหรัฐ” แบรด โซเรนเซน ผู้อำนวยการด้านการตลาดและวิจัยของชาร์ลส์ ชวาป ในเดนเวอร์ กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า งานของเฟดไม่ใช่เพื่อหามาตรการใดๆ มาทำให้นักลงทุนในตลาดมั่นใจว่าดัชนีดาวโจนส์จะพุ่งฉิวเกิน 1.3 หมื่นจุด