posttoday

อียูหั่นงบช่วยเหลือ19ชาติ

09 ธันวาคม 2554

ไทยติดหางเลขเหตุคนรวยขึ้นซ้ำศก.ยังโตเป็นคู่แข่งยุโรปเอง

ไทยติดหางเลขเหตุคนรวยขึ้นซ้ำศก.ยังโตเป็นคู่แข่งยุโรปเอง

อียูตัดลดงบความช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 19 ประเทศ รวมทั้งไทย เริ่มมีผลบังคับใช้ 2557 เป็นต้นไป

แอนดิส เพียร์บาร์ค แห่งคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาแห่งสหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้ตัดสินใจตัดลดงบประมาณการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวน 19 ประเทศลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี จีน โคลัมเบีย คอสตาริกา เอกวาดอร์ คาซัคสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย มัลดีฟส์ เม็กซิโก ปานามา เปรู เวเนซุเอลา อุรุกวัย และไทย โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ไปจนถึงปี 2563

“การตัดสินใจในครั้งนี้ของอีซีจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันของอียูกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และความช่วยเหลือที่ตัดไปนั้นจะถูกนำไปช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศที่ยากจนกว่าแทน” เพียร์บาร์ค กล่าว

การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อสอดรับกับการปรับเปลี่ยนรายจ่ายขนานใหญ่ที่มีต่อกิจการภายนอกของอียู เนื่องจากสถานะทางการเงินของยุโรปที่กำลังประสบกับวิกฤตหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลบีบให้อียูต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายในระยะยาวลง ประกอบกับการที่ความเปลี่ยนแปลงสถานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของอียูมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวของอีซีได้รับเสียงคัดค้านจากองค์กรความช่วยเหลือแห่งสมาพันธ์ยุโรปที่มองว่า การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการมองข้ามความเป็นจริงของปัญหาความยากจนที่ยังมีอยู่ซ่อนอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ทั้งนี้ เนื่องจากการตัดสินใจของอีซีนั้นได้ใช้ฐานข้อมูลของรายได้ประชาชน โดยเฉลี่ยนำมาตัดสินซึ่งรายได้โดยเฉลี่ยดังกล่าวนั้นแม้ว่าจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้สะท้อนอย่างแท้จริงว่าประชาชนทั้งหมดจะมีรายได้สูงจริงตามค่าเฉลี่ยที่ออกมา ซึ่งคนยากจนที่ต้องการรับความช่วยเหลือในประเทศเหล่านี้ก็ยังมีอยู่มาก

ภายใต้แผนการตัดลดงบความช่วยเหลืออันใหม่ของอีซี นั้นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 19 ประเทศจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการความช่วยเหลือครั้งใหม่ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2557 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5.75 หมื่นล้านยูโร (7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่แผนความช่วยเหลืออันเดิม (ปี 2550–2556) อินเดียได้รับเงินช่วยเหลือจากอียูถึง 470 ล้านยูโร ส่วนจีนได้รับ 170 ล้านยูโร บราซิลได้รับ 61 ล้านยูโร

ปัจจุบันอียูเป็นผู้บริจาคเงินให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยจำนวนเงินกว่า 5.38 หมื่นพันล้านยูโร (7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อย 50% ของเงินความช่วยเหลือที่ชาติต่างๆ ทั่วโลกส่งความช่วยเหลือออกมาทั้งหมด โดยมีอีซีเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการเงิน 20% ของเงินที่อียูบริจาคออกมาทั้งหมด ซึ่งจำนวนเงินที่อีซีต้องรับผิดชอบมีอยู่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านยูโร