posttoday

วิกฤตสไตรก์ในยุโรป

24 กุมภาพันธ์ 2553

เมื่อข้อเรียกร้องที่ไม่หยุดหย่อนของแรงงาน กลายเป็นวิกฤตที่ซ้ำเติมความบอบช้ำของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

เมื่อข้อเรียกร้องที่ไม่หยุดหย่อนของแรงงาน กลายเป็นวิกฤตที่ซ้ำเติมความบอบช้ำของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความแข็งแกร่งของสหภาพแรงงานอย่างที่สุด ก็ถือเป็นเรื่องดี เป็นสิทธิของแรงงานที่พึงควรจะได้ หลังยุโรปมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อสู้ของกรรมกร ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม และยังพัฒนาต่อไปจนเกิดพรรคแรงงานขึ้นในหลายประเทศอันถือเป็นปากเป็นเสียง เป็นตัวแทนของกลุ่มแรงงาน ซึ่งจะว่าไปก็คือประชาชนทั่วไปของประเทศครับ

วิกฤตสไตรก์ในยุโรป

ใครเคยไปยุโรป จะรู้ดี ว่าเมื่อถึงวันหยุด ก็คือวันหยุดจริงๆ จะเรียกให้เข้ามาทำงานนอกเวลา ก็ต้องจ่ายอัตราค่าแรงแพงจับจิต ในฝรั่งเศสมีชื่อเสียงด้านความแข็งแกร่งของภาคแรงงาน ที่รวมตัวต่อกรสู้กับนายทุนได้เป็นอย่างดี จะเอารัดเอาเปรียบกันยากครับ

แต่ในขณะนี้ ปัญหาของแรงงานกำลังกลับมาทำร้ายภาคเอกชน และรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรป ที่กำลังประสบปัญหากับความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจกันอยู่แล้ว และไหนจะต้องหาทางประนีประนอมกับภาคแรงงานอีกด้วยเป็นปัญหาหนักอกของหลายประเทศยุโรปในขณะนี้

ตัวอย่างที่กำลังเห็นได้ชัด คือปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรป ที่รัฐบาลกรุงเอเธนส์ กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาการขาดดุลงบประมาณเกินโควตาของกลุ่มยูโรโซน ซึ่งสิ่งที่ยุโรปบอกกรีซให้แก้ปัญหาก็คือ การประหยัด การมีวินัยทางการคลัง สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบ

และถ้าหากกรีซ ทำไม่ได้ ก็ยังจะต้องเจอกับมาตรการจากยุโรป ที่อาจจะสั่ง หรือ บังคับ ให้กรีซ ประหยัดหนักขึ้นกว่าเดิม

แต่การมีวินัยทางการคลังนั้น หมายถึงการประหยัดในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญ คือการลดผลประโยชน์ สวัสดิการของแรงงานในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่จะโดนเป็นกลุ่มแรก แน่นอน ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับแรงงานในกรีซ

ในช่วงที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เกิดการรวมตัวประท้วงหยุดงานของกลุ่มเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งผลตามมาทำให้กระทบต่อการส่งออก และนำเข้าอย่างรุนแรง และหลายพื้นที่ในประเทศ ก็เริ่มประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำมันที่ต้องน้ำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น

ปัญหาที่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับภาครัฐ แต่ภาคเอกชนเองก็เจอ อย่างในฝรั่งเศสเมื่อปีที่แล้ว เกิดเหตุแรงงานจับผู้จัดการเป็นตัวประกันอยู่หลายครั้ง เพราะไม่พอใจกับนโยบายตัดลดค่าใช้จ่ายของบริษัท

และล่าสุด ก็เกิดกับสายการบินรายใหญ่ที่สุดของยุโรป อย่างลุฟต์ฮันซา ของเยอรมนี ที่กลุ่มนักบินถึง 4,000 คน รวมตัวประท้วงหยุดงาน 4 วัน เพราะไม่พอใจกับนโยบายตัดลดค่าใช้จ่ายที่จะตัดลดเส้นทางบินหลายร้อยเที่ยว และยังมีแผนที่จะจ้างนักบินต่างชาติที่มีค่าแรงถูกกว่าเข้ามาทำงานด้วย แต่โชคดีที่ทางบริษัท และสหภาพแรงงานนักบินสามารถเจรจากันได้เสียก่อน การประท้วงหยุดบินจึงเกิดขึ้นแค่วันเดียวเท่านั้น

ช่วงนี้จะเห็นปัญหาเช่นนี้มากขึ้นในยุโรป ครับ การมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าอิจฉา แต่แกร่งมากเกินไป จนดื้อด้าน ยอมหักไม่ยอมงอ ก็ถือเป็นคราวซวยของยุโรปไปครับ