posttoday

แฉโตโยต้าดอดเจรจาสหรัฐช่วยบริษัทเซฟเงินได้ 3 พันล้าน

22 กุมภาพันธ์ 2553

โตโยต้าฉาวอีกรอบ พบเอกสารสำคัญชี้บริษัทเซฟเงินได้ถึง 100 ล้านเหรียญ หลังเจรจาให้สหรัฐยุติการเรียกคืนรถกับปัญหาพรมปูพื้น เมื่อ 3 ปีก่อน

โตโยต้าฉาวอีกรอบ พบเอกสารสำคัญชี้บริษัทเซฟเงินได้ถึง 100 ล้านเหรียญ หลังเจรจาให้สหรัฐยุติการเรียกคืนรถกับปัญหาพรมปูพื้น เมื่อ 3 ปีก่อน

เอพี รายงานอ้างเอกสารสำคัญที่ส่งถึงกรรมาธิการปฏิรูปรัฐบาลและการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ อ้างว่าสามารถทำให้บริษัทเซฟเงินได้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,300 ล้านบาท) หลังจากที่เจรจาให้รัฐบาลสหรัฐจำกัดการเรียกคืนพรมปูพื้นรถเมื่อปี 2550 ได้

แฉโตโยต้าดอดเจรจาสหรัฐช่วยบริษัทเซฟเงินได้ 3 พันล้าน

รายงานอ้างว่า ทางโตโยต้าได้เปิดเผยเรื่องนี้เป็นการภายในเมื่อเดือน ก.ค. 2552 ที่สำนักงานของบริษัทในกรุงวอชิงตัน ดีซี ว่าสามารถช่วยให้บริษัทเซฟเงินจำนวนดังกล่าว หรืออาจมากกว่านั้นได้ หลังเจรจากับทางเจ้าหน้าที่สหรัฐให้จำกัดการเรียกคืนพรมปูพื้นในรถรุ่นคัมรี และเล็กซัส ES350 เป็นจำนวน 5.5 หมื่นคัน เมื่อเดือน ก.ย. 2550

เอกสารดังกล่าวซึ่งระบุหัวเรื่องว่าเป็น “ชัยชนะสำหรับกลุ่มความปลอดภัยของโตโยต้า” ยังอ้างว่า บริษัทเซฟเงินได้อีกหลายล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยการหน่วงเหนี่ยวกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยบางอย่างให้ล่าช้าออกไป หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสอบสวนเรื่องความบกพร่องกับรถ และยังถ่วงเวลาเรื่องการออกกฎบางประการต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ออกไป

เป็นที่คาดว่าเอกสารดังกล่าว จะยิ่งจุดประเด็นร้อนขึ้นในสภาคองเกรส ระหว่างที่อาคิโอะ โทโยดะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโตโยต้า เตรียมขึ้นให้การในสัปดาห์นี้ว่า โตโยต้าเห็นผลประโยชน์ของบริษัทสำคัญก่อนความปลอดภัยของผู้บริโภค และมีการผลักดันให้หน่วยงานของสหรัฐจำกัดขอบเขตการเรียกคืนอุปกรณ์ ตามที่อ้างในเอกสาร จริงหรือไม่

วันเดียวกัน เรย์ ลาฮูด รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐ ได้เปิดเผยในเว็บบล็อกของตนเองว่า ทางกระทรวงคมนาคมสหรัฐเริ่มตระหนักได้ว่ารถยนต์ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ มีปัญหาเรื่องระบบแป้นคันเร่ง ตั้งแต่ปลายปี 2546 หรือ 3 ปีก่อนที่จะเริ่มการสอบสวนเบื้องต้นกรณีปัญหาพรมปูพื้นรถยนต์ของโตโยต้า

การเปิดเผยของลาฮูด มีขึ้นหลังจากที่บริษัทประกันรถยนต์รายใหญ่ในสหรัฐ สเตท ฟาร์ม ออกมาเปิดเผยว่าบริษัทของตนได้รายงานปัญหาแป้นคันเร่งค้างในรถยนต์ของโตโยต้า ต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2547