posttoday

แฉ"สเต็มเซลล์แบงก์"ลวงโลกไทยแลนด์แห่ควักแพงเพื่อลูก

22 กุมภาพันธ์ 2553

สถาบันวิจัยในสหรัฐระบุ ธนาคารสเต็มเซลล์แค่เรื่องลมๆ แล้งๆ ศักยภาพรักษาได้จริงยังจำกัด ยกตัวอย่างในประเทศไทย พ่อแม่ยอมจ่ายนับแสนเพื่ออนาคตลูก

สถาบันวิจัยในสหรัฐระบุ ธนาคารสเต็มเซลล์แค่เรื่องลมๆ แล้งๆ ศักยภาพรักษาได้จริงยังจำกัด ยกตัวอย่างในประเทศไทย พ่อแม่ยอมจ่ายนับแสนเพื่ออนาคตลูก

เอิร์ฟวิง วีซแมน ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาสเต็มเซลล์และการแพทย์ทางเลือกใหม่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐ เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า บรรดาคลินิกที่เสนอตัวเป็นธนาคาร สเต็มเซลล์ ด้วยการรับฝากสเต็มเซลล์จากเด็กแรกเกิด เพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมร่างกายยามที่เจ็บป่วยในภายหลังนั้น ล้วนเป็นเพียงเรื่องลวงโลก และหลอกเอาเงินจากพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น

เอเอฟพีรายงานอ้างถ้อยแถลงของวีซแมน ในการประชุมประจำปีสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าของอเมริกัน (AAAS) ว่า ปัจจุบันมีคลินิกดังกล่าวผุดขึ้นในหลายประเทศ เพื่อให้พ่อแม่ที่มีฐานะฝากสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดของลูกในยามแรกคลอดไว้ เพื่อเป็นอะไหล่ร่างกายไว้รักษาตัวยามที่ลูกๆ ของตนโตขึ้นและเจ็บป่วย

แฉ"สเต็มเซลล์แบงก์"ลวงโลกไทยแลนด์แห่ควักแพงเพื่อลูก

ผู้อำนวยการจากสแตนฟอร์ดรายนี้ ได้ยกตัวอย่างของ “ประเทศไทย” ว่า มีพ่อแม่หลายรายที่ยอมจ่ายเงินแพงลิ่วถึง 3,600 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.2 แสนบาท) ไปกับคลินิกธนาคารสเต็มเซลล์ โดยหวังให้ลูกๆ ได้มีทางเลือกด้านสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต

ทว่าในทางวิทยาศาสตร์นั้น การเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดในสายสะดือหรือรกของเด็กแรกเกิด (Umbilical Cords) นั้นมีข้อจำกัดด้านศักยภาพอยู่มาก

“สายสะดือหรือรกนั้น มีสเต็มเซลล์ผลิตเม็ดเลือดที่สามารถผลิตเม็ดเลือดได้ในปริมาณเท่ากับของเด็กอ่อนเท่านั้น” วีซแมน กล่าว
นอกจากนี้ มี “เซนไคมอลสเต็มเซลล์” ที่ได้จากรกหรือสายสะดือ ซึ่งเป็นสเต็มเซลล์สำคัญที่จะเติบโตกลายเป็นเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ก็ยังมีประสิทธิภาพที่จำกัดมากในการสร้างเนื้อเยื่อ ไขมัน และกระดูก

และที่สำคัญก็คือ สเต็มเซลล์นี้ไม่สามารถสร้างเซลล์ของอวัยวะสำคัญอย่างสมอง เลือด หัวใจ และกล้ามเนื้อลาย ได้ตามที่หลายคลินิกอวดอ้าง

ผู้อำนวยการของสถาบันด้านสเต็มเซลล์ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า บรรดาผู้ที่ให้การรักษาด้วยสเต็มเซลล์เหล่านี้ทั้งที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน มีแนวโน้มที่จะเข้าไปเปิดคลินิกในประเทศต่างๆ ซึ่งยังไม่มีการวางกฎระเบียบทางการแพทย์ที่เข้มงวดมากเพียงพอ

อย่างไรก็ดี เอเอฟพี ระบุว่า หลายประเทศในยุโรปซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) และแม้กระทั่งสหรัฐเอง ก็มีคลินิกที่ให้บริการธนาคารสเต็มเซลล์อยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน

ทั้งนี้ สมาคมสเต็มเซลล์ระหว่างประเทศมีกำหนดจะออกรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเดือนเม.ย.นี้

ปัจจุบันสถาบันทางการแพทย์จำนวนมากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย มีการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ทางการแพทย์ในการรักษาโรคและอาการบาดเจ็บ

ขณะที่โรงพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชนหลายแห่ง ได้เปิดบริการธนาคารสเต็มเซลล์ โดยส่วนใหญ่มีการจัดเก็บสเต็มเซลล์ 2 วิธี คือ จากเลือดในรกหรือสายสะดือของเด็กแรกเกิด และจากกระแสโลหิตของบุคคลทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ทางแพทยสภาของไทยได้ออกแนวทางการรักษาและวิจัยสเต็มเซลล์ควบคุมแพทย์ ตามข้อบังคับของแพทยสภาออกมาแล้ว หลังเล็งเห็นว่าผู้รับบริการต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ทำให้ปัจจุบันการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคซึ่งได้รับการรับรองนั้น มีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น

ขณะที่สหรัฐนั้น ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต กลับลงนามยกเลิกคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรคริพับลิกัน ที่ไม่ให้ใช้เงินของรัฐบาลสนับสนุนงานวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์ โดยได้เปิดไฟเขียวการวิจัยดังกล่าวไปเมื่อเดือนมี.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับเป็นการบุกเบิกการวิจัยในแขนงดังกล่าว ขณะที่ทิศทางของสหรัฐนั้น ยังทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามวิจัยสเต็มเซลล์ ในเวลาต่อมาไม่นานเช่นกัน