posttoday

อุตฯอาหารและเครื่องดื่มไทย ปี'62 คาดมูลค่ารวมแตะ 2.6 ล้านล้านบาท

26 กรกฎาคม 2562

'ยูบีเอ็ม เอเชีย' ชี้ช่อง ฟู้ดเทค สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ของไทยร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพร้อมรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่มเวทีโลก ผ่านงาน Fi Asia 2019

'ยูบีเอ็ม เอเชีย' ชี้ช่อง ฟู้ดเทค สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ของไทยร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพร้อมรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่มเวทีโลก ผ่านงาน Fi Asia 2019

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ-ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ บริษัท อินฟอร์มาร์ พีแอลซี ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท เป็นการบริโภคภายในประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และเป็นการส่งออก 1.1 ล้านล้านบาท

โดยมีประเทศคู่ค้าหลักเป็นกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่ กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ, แอฟริกา, สหภาพยุโรป และโอเชียเนีย โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 14 ของโลกในปี 2560

และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าส่งออกอาหารในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่า ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.36% จาก 2.34% ในปีก่อน ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่เช่น สหรัฐฯ, บราซิล และจีน ต่างมีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลง ส่วนประเทศผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญในภูมิภาคอย่างอินเดียและเวียดนาม ต่างมีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยเทคโนโลยี และ พฤติกรรมของผู้บริโภครวมถึงด้าน ‘ดิจิทัล’ เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มทุกอย่างในปัจจุบัน นำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม

ดังนั้นผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จึงต้องปรับตัวและอยู่ให้รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง โดยการตามกระแสไปกับเทคโนโลยี นวัตกรรม เทรนด์การรักษ์โลก และความนิยมของการดูแลสุขภาพ

“ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงของไทยได้การยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันนานาประเทศก็กำลังมุ่งเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยหวังว่าจะสามารถช่วงชิงพื้นที่ตลาด ผู้ประกอบการด้านอาหารจึงต้องปรับตัวหยุดนิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่มีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด อัพเดตตนเองได้ไวที่สุด"นางสาวรุ้งเพชร กล่าว

ขณะเดียวกัน ก็มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาสินค้า บริการ และแพลตฟอร์ม เพื่อตามให้ทันต่อยุคสมัยและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทย เป็นภาคส่วนที่ขับเคลื่อนให้ GDP ในปี 2560 มีการขยายตัวขึ้น

รวมไปถึงการสร้างมูลค่าการส่งออกของภาคเกษตรที่น่าจับตามอง โดยมีมูลค่า 6,551,718 ล้านบาท ขยายตัว 5.1% เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 4.9% และมีสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศคิดเป็น 42.4% ส่วนสตาร์ทอัพด้านอาหารของไทยเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนมากที่สุดในธุรกิจสตาร์ทอัพของทั้งประเทศ โดยคิดเป็น 14% ของการลงทุน

ทั้งนี้ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือ บริษัท อินฟอร์มาร์ พีแอลซี ประเทศอังกฤษ เตรียมจัดงาน Fi Asia 2019 หรือ งานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ในวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา และประกาศเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มครั้งที่ 2

โดยมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของ ฟู้ดเทค สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่มของไทยบนเวทีโลก ที่มีมูลค่ากว่า 2.6 ล้านล้านในปัจจุบัน