posttoday

ค่าจ้างแรงงานไทยหญิงชายเท่าเทียม

25 กรกฎาคม 2562

นักวิจัยฯ ชี้ค่าจ้างหญิงชายไทยไม่ต่าง จ้างคนมีลูกถูกกว่าคนโสด

นักวิจัยฯ ชี้ค่าจ้างหญิงชายไทยไม่ต่าง จ้างคนมีลูกถูกกว่าคนโสด

ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าจากงานวิจัยความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) พบว่ามีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนทางการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คุณลักษณะของผู้หญิงมีการยกระดับขึ้น ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกีดกันทางเพศที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างของผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทยกล่าวได้ว่ามีปัญหาการกีดกันทางเพศ (gender discrimination) ที่ค่อนข้างน้อยมาก จะเห็นได้จากการลงทุนทางการศึกษาของครอบครัวไทย ที่ไม่มีปัญหาอคติในการให้การศึกษากับลูกสาวหรือลูกชาย ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า ทำให้ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น และค่าจ้างของผู้หญิงก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมากถึง 20 % แต่ปัจจุบันช่องว่างลดลงแทบไม่มีความแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ในงานวิจัยพบว่าความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูก และไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าแรงงานชายที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายที่ไม่มีลูก 17% ส่วนแรงงานหญิงที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูก 22% เนื่องจากต้องจัดสรรเวลาไปเลี้ยงลูกทำให้มีเวลาทำงานลดลง

ทั้งนี้เห็นว่าภาครัฐอาจสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการแบกรับต้นทุนนี้และมีการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก