posttoday

เชจู แฮมุลบับ

14 มกราคม 2561

เที่ยวบินจากกรุงโซลไป “เกาะเชจู” ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง 15 นาที ก็ถึงปลายทาง

โดย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]

เที่ยวบินจากกรุงโซลไป “เกาะเชจู” ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมง 15 นาที ก็ถึงปลายทาง สนามบินบนเกาะเชจูเป็นสนามบินนานาชาติมีเที่ยวบินตรงจากหลายประเทศรวมทั้งจากไทยด้วย เกาะเชจูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและฮันนีมูนของเกาหลีคล้ายๆ กับเกาะภูเก็ต ทว่าภูเก็ตเราเป็นเกาะแห่งมนต์รักทะเลใต้ อากาศอบอุ่นถึงร้อน จึงมีบรรยากาศต่างกัน เพราะเชจูนั้นมี 4 ฤดูกาล ในฤดูหนาวอากาศหนาวมากและอาจมีหิมะตกบนยอดเขาฮัลลาซึ่งเป็นยอดภูเขาไฟซึ่งสูงสุดในเกาหลีใต้ จึงมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างแตกต่างกัน นักท่องเที่ยวที่ต้องการอากาศร้อนนอนอาบแดดบนชายหาดคงจะไม่ใช่นักท่องเที่ยวที่มาเกาะเชจูค่ะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเกาะเชจูมีพื้นที่ 1,849 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าภูเก็ตราว 3 เท่า และมีความต่างของระดับความสูงจากพื้นดินติดทะเลถึงจุดสูงสุดคือ ยอดเขาฮัลลาถึง 1,950 เมตร สภาพภูมิประเทศและพืชพรรณบนเกาะจึงมีความแตกต่างที่หลากหลายรวมกันอยู่ในเกาะ บางพื้นที่บนเกาะมี “Microclimate” คือเป็นสภาพอากาศในพื้นที่เล็กๆ สูงจากพื้นดินไม่เกิน 15 เมตร ที่มีความแตกต่างจากบรรยากาศรอบตัว อาจเย็นกว่า ร้อนกว่า หรือชุ่มชื้นกว่าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นความเย็นจากกลุ่มต้นไม้และหนองน้ำในสวนลุมพินีทำให้กลายเป็น Microclimate ที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าบนถนนสาทร เป็นต้น  

เชจู แฮมุลบับ

เมื่อออกมานอกสนามบินเราก็เจอกับ ของขลัง 1 ใน 3 สิ่งของเกาะทันที นั่นคือ “ลม” ที่หนาวยะเยือกพัดมาทักทายเราหน้าสนามบินจนรู้สึกสะท้าน เกาะเชจูเป็นถิ่นที่มีลมพัดแรงมากที่สุดในเกาหลี ลมจากทะเลจีนตะวันออกไม่เคยหยุดพัดจนกระทั่งหินผาซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์บนเกาะสึกกร่อน เมื่อใดที่ฝนตกลงมาผสมด้วยสายลมจะหนาวยะเยือกไม่น้อยกว่าลมหนาวที่เมือง “พยองชาง” ซึ่งเป็นสถานที่จัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือน ก.พ.ที่จะถึงนี้เลยทีเดียว

เวลาใกล้เที่ยงทำให้ลูกทัวร์จำเป็น (กลุ่มนักข่าวต่างประเทศทั้งหลาย) ท้องร้องกันระงมจนไปถึงหูของคุณ “คิมฮีอา” ไกด์สาวของเราจึงบอกทันทีที่ขึ้นรถว่า “เราจะไปทานอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของเชจูและเกาหลีกันค่ะ” อาหารชนิดนี้หากใครไปเชจูแล้วไม่ได้ทานถือว่าไม่ถึงเชจู เพราะเป็นอาหารประจำท้องถิ่นแท้ ที่อื่นบนฝั่งอาจมีแต่วัตถุดิบไม่เหมือนของเชจู เอาล่ะ เราเป็นนักชิมอยู่แล้วจึงได้นั่งรถไปอย่างมีความคาดหวังสูง

รถพาเรามาถึงริมทะเลแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเกาะไม่ไกลจากสนามบินนัก แต่ต้องจอดรถและลงเดินไป เพราะทางช่วงนี้ค่อนข้างแคบ รถตู้สวนทางลำบาก น่าจะเป็นทางเข้าชุมชนเก่าแก่ ระหว่างทางสังเกตเห็นพื้นหินตะปุ่มตะป่ำจากชายฝั่งไปถึงทะเล นี่ไงล่ะ สภาพพื้นที่แท้จริงของเชจู เป็นหาดหินบะซอลต์จากลาวาภูเขาไฟ บริเวณนี้จึงไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว

เชจู แฮมุลบับ

โอ้ คุณพระช่วย! ไกลออกไปริมทะเล “เชกา” สังเกตเห็นผู้หญิงสองคนเดินตามกันมาในชุดมนุษย์กบ เป็น “แฮ-นยอ &o4644;&*5376;” หรือ “หญิงทะเลในตำนาน” ของเกาะเชจู ได้ยินส่งเสียงโหวกเหวกเรียก “ออนนี่ๆ(พี่สาว)” มาแต่ไกล จึงได้หยุดยืนดู คุณป้าทั้งสองดูอายุไม่น้อยแล้ว แบกของท่าทางกำลังจะไปดำน้ำเก็บหอยอยู่พอดี ช่างโชคดีจริงๆ ที่ได้มาเห็น “แฮ-นยอ” ตัวจริง ซึ่งใกล้จะหมดคนทำอาชีพนี้แล้วจากความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาในเกาะ

เดินมาอีกนิดก็ถึงวัดเกาหลีชื่อ “แท-วอน-อัม &*5824;&o0896;&o0516;” ร้านอาหารอยู่ใกล้ๆวัดนี้ค่ะ ชื่อร้านยาวมาก เรียกย่อว่า “เชจูแฮมุลบับ - &o1228;&o1452; &o4644;&*7932;&*8165;” ซึ่งแปลว่า “ข้าว(ยำ)ทะเล เชจู” ลักษณะของข้าวยำทะเลนี้ก็คล้ายคลึงกับ “บิบิมบับ” ซึ่งเป็นข้าวคลุกหรือข้าวยำเกาหลีที่ใส่มาในหม้อหินตั้งไฟจนร้อนจัดให้เราคลุกข้าวกับเครื่องคลุกอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี โลเกชั่นของร้าน อยู่ที่ 313-1 Oedoi-dong, Cheju, Jeju-do ค้นหาได้ใน Google Map ค่ะ ดูรีวิวและรูปภาพเต็มๆ ของ “เชกา” ได้ในชื่อ piangor L

“เชจู แฮมุลบับ” เป็นร้านเล็กๆ ริมทะเล มีเทอร์เรซให้นั่งหน้าร้านด้วย แต่หน้าหนาวนี้นั่งข้างนอกไม่ไหวค่ะ ไปถึงเราได้สั่งอาหารชุดมากันเลย เป็นชุด “แฮมุลบับ” แบบเชจู ซึ่งแน่นอนว่า ต้องเป็นอาหารทะเล แต่ที่พิเศษคือเครื่องคลุกเป็นอาหารทะเลและผักที่ขึ้นบนเกาะเท่านั้น หม้อร้อนคลุกข้าวย่อมต้องทำมาจากหินบนเกาะ เพราะหินเป็นของขลังของเกาะนี้เป็นหม้อหินภูเขาไฟร้อนฉ่าและตั้งมาบนเตาหินจุดไฟมาให้แต่ละคนเลย เวลาคลุกต้องระวังสัมผัสหม้อและเตานะคะ

เชจู แฮมุลบับ

กลิ่นอาหารในหม้อหินร้อนๆ หอมมาก ที่พิเศษกว่าที่อื่นอีกอย่างคือ ปกติข้าวคลุกนั้นจะใส่ไข่ดิบมาบนข้าวให้เราคลุกในหม้อร้อน ทว่าที่นี่ตั้งชุดเตาหินใบเล็กให้เราทอดไข่แยกจากหม้อข้าว จึงได้กลิ่นหอมหวนของไข่ทอดบนกระทะหินยั่วน้ำลายก่อน เสร็จแล้วจึงนำไปคลุกในหม้ออีกที ส่วนเครื่องเคียงนอกจากผักดอง กิมจิ และผักสดแล้ว ยังมี น้ำซอสปลาหมักแบบเชจู ที่ไม่เคยทานมาก่อนบนแผ่นดินใหญ่เกาหลี รสชาติเด่นมาก มีหอยทะเลคล้ายๆ หอยขมตัวเล็กๆ ใส่ลงไปด้วย สำหรับท่านที่ชอบทานปลาร้ารับรองว่าติดใจ ส่วนท่านที่ไม่ค่อยชอบรสของปลาร้านักแนะนำให้ใส่แต่น้อยค่ะ อาหารมื้อนี้ทั้งแปลก ทั้งอร่อยแบบชาวเกาะ ได้ใจไปเต็มๆ จนเริ่มฝันอีกแล้วว่า ทริปนี้ที่เชจูคงจะมีอาหารแปลกๆ น่าสนใจตามมาเรื่อยๆ เป็นแน่

(ตามเที่ยวเชจูต่อฉบับหน้า)