posttoday

UK’s Future

09 ธันวาคม 2560

ในช่วงเวลาแห่งทศวรรษนี้ หลายประเทศมีข่าวการลดโลกร้อนแบบเป็นรูปธรรมกันมากขึ้น

ในช่วงเวลาแห่งทศวรรษนี้ หลายประเทศมีข่าวการลดโลกร้อนแบบเป็นรูปธรรมกันมากขึ้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกวัน สิ่งต่างๆ ที่เคยเป็นแค่แนวคิดก็ถูกนำมาปฏิบัติจริง อีกทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาก็เป็นบทเรียนสอนให้รู้ว่าแต่ละประเทศต้องหาวิธีการที่เหมาะสมของตัวเอง สอดคล้องกับทรัพยากร สถานะทางเศรษฐกิจและความพร้อมของประชาชน รวมถึงประเทศอังกฤษที่เป็นประเทศที่มีนักพัฒนาเก่งๆ มาตั้งแต่อดีต ยิ่งเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าย่อมมีการพัฒนาที่ดีกว่าเดิม ก้าวหน้ากว่าเดิม ทันสมัยกว่าเดิม ซึ่งชวนให้น่าสนใจและติดตามว่าแนวโน้มหรือทิศทางของพลังงานแห่งอนาคตประเทศนี้จะเป็นอย่างไรกันต่อไป

 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ พยายามพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้มีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่อังกฤษกลับมุ่งเป้าไปที่การลดบทบาทเชื้อเพลิงถ่านหิน และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนแทน พอพูดถึงพลังงานหมุนเวียน คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงพลังงานจากสายลมและแสงแดดกัน แต่สำหรับประเทศอังกฤษตอนนี้เขากำลังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องพลังงานชีวภาพเพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น เราไปหาคำตอบกันได้ที่เมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester)

UK’s Future

แมนเชสเตอร์ คือมหานครที่ใหญ่อันดับสองของอังกฤษ รองจากลอนดอนเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุด มีความทันสมัยเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน การธนาคาร และการศึกษา จากความเป็นศูนย์กลางหลายด้าน รวมทั้งความมีชื่อเสียงของสโมสรแมนเชสเตอร์จึงทำให้เมืองนี้มีสีสันแล้วก็คึกคักมีชีวิตชีวาพอสมควร จนอาจทำให้คนหลงลืมไปว่าครั้งหนึ่งช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม Manchester เคยเป็นศูนย์กลางทางด้านอุตสาหกรรมของประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเป็นอย่างมาก มีเครื่องมือเครื่องจักรทันสมัยที่สุดของยุคนั้น ส่งผลให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกกันเลยทีเดียว

หากย้อนไปดูปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอดีตของอังกฤษประสบความสำเร็จได้ ก็จะพบว่าสมัยนั้นมีเครื่องจักรไอน้ำโดยเชื้อเพลิงที่เอามาใช้ต้มน้ำตั้งแต่สมัยนั้นก็คือ ถ่านหินนั่นเอง นั่นก็หมายถึงว่าถ่านหินมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศนี้มาหลายทศวรรษแล้ว ครั้นเมื่อมาถึงยุคปัจจุบันนโยบายของรัฐบาลกลับมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเพิ่มภาษีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กับบริษัทผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ควบคู่ไปกับการจ่ายเงินอุดหนุนให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แต่ก็พบว่าพลังงานไฟฟ้าจากสายลม แสงแดด มีข้อจำกัดในเรื่องของประสิทธิภาพและการกักเก็บ ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวมวลนั้นมีจุดเด่นตรงที่สามารถกักตุนเชื้อเพลิงไว้ใช้ผลิตไฟฟ้าได้ตามเวลาที่ต้องการ แม้ว่าจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ แต่ก็สามารถชดเชยด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าได้

UK’s Future

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ทีมงานโลก 360 องศา จึงได้ไปคุยกับ ดร.มีเรียม นักวิจัยที่ University of Manchester ซึ่งเป็นนักวิจัยที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนและการใช้พลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งเขาให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานของประเทศนี้อีกหนึ่งมิติว่า “โรงไฟฟ้า Drax power station ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของอังกฤษและใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเป็นหลักก็ต้องปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาลโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดพลังงานในประเทศต่อไปได้” เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศนี้จะยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้วหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทั้งหมดก็ได้คำตอบว่า “เป็นเรื่องที่ยังเป็นไปไม่ได้”

ทั้งนี้ ดร.มีเรียม มีโครงการศึกษาถึงความเป็นได้ในการพัฒนาพลังงานชีวภาพในหลายประเทศ เมื่อลองถามถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาพลังงานชีวภาพในประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเรา ความคิดเห็นที่ได้รับก็ทำให้เราเห็นภาพการพัฒนาที่เป็นจริงขึ้นว่า เราต้องถามตัวเองเสมอว่าเราต้องการจะทำอะไร? มีความเป็นไปได้เพียงใด? มีค่าใช้จ่ายถูกแพงอย่างไร? เพื่อที่จะทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานนั้นได้นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการของประเทศหนึ่งอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะบริบทแตกต่างกันดังนั้นต้องพิจารณาให้รอบด้าน

UK’s Future

 ซึ่งก็ต้องบอกว่าเป็นความคิดเห็นที่ควรเห็นด้วย เพราะการที่ได้ไปเห็นโมเดลการพัฒนาของหลายประเทศไปดูปัจจัยที่ทำให้แต่ละประเทศประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การยกระดับคุณภาพการศึกษา หรือแม้แต่เรื่องของการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าหากเราจะเอาโมเดลที่ทำแล้วสำเร็จในประเทศ A ไปใช้กับประเทศ B แล้วจะได้ผลเหมือนกัน เพราะบ้านเราก็มีบริบทเป็นของเราเอง เราเรียนรู้ เราไปทำความเข้าใจของเขา แต่สุดท้ายเราต้องนำความรู้นั้นมาประยุกต์ให้เข้ากับทรัพยากรของบ้านเราเอง

ดังนั้น เมื่ออังกฤษประกาศว่าจะลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน แล้วจะใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนแต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ทำได้ แล้วคราวนี้เขาจะทำอย่างไรถ้าไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นๆ ควบคู่กันไป ซึ่งก็พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในขณะที่บางประเทศในยุโรปออกข่าวว่าจะยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์แต่ที่อังกฤษเขากำลังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มปัจจุบันอังกฤษพึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ถึงร้อยละ 21 เลยทีเดียว และเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในยุคที่พลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ยังมีข้อจำกัดก็ยิ่งทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ยิ่งจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น

 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของอังกฤษเปิดเดินเครื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956  ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง มีบุคลากรที่ความรู้ มีประสบการณ์จำนวนมาก จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดคาร์บอนควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงาน และหนึ่งในนั้นคือโรงไฟฟ้าที่ชื่อว่า Bradwell โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่อยู่ใกล้ลอนดอนมากที่สุด มีกำลังการผลิตยูนิตละประมาณ 150 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ยูนิต เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 หมดอายุลงในปี ค.ศ. 2002 ปัจจุบันมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงใหม่ขนาด 1,150 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงขึ้นมาทดแทน

UK’s Future

การสร้างโรงไฟฟ้าที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตผู้คนในท้องที่จนเกิดความคุ้นเคยจากการอยู่ร่วมกันมานานนั้น ทำให้คนอังกฤษส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและไม่ได้ต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างรุนแรงเหมือนในบางประเทศ ซึ่งนั่นอาจเป็นที่มาให้รัฐบาลเห็นความเป็นไปได้ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ให้มากขึ้น ซึ่งล่าสุดมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โรงใหญ่ๆ ที่อยู่ในแผนก่อสร้างแล้ว 11 โรง ซึ่งก็ยังไม่นับรวมโรงขนาดเล็กๆ ที่อาจจะสร้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 จะเห็นได้ว่าประเทศนี้เขาก็พยายามทำหลายๆ วิธีควบคู่กันไป คือส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแบบเดิมประเภทโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีกด้วย การได้มองเห็นว่าประเทศนี้เขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนๆ กับอีกหลายประเทศผู้นำโลก แม้จะมีนโยบายและวิธีการอาจแตกต่างไปจากประเทศอื่นอยู่บ้าง แต่ก็มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานนั่นเอง ซึ่งก็เป็นข้อมูลใหม่ๆ เป็นมุมมองใหม่ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่อีกมุมหนึ่งของโลกและอะไรคือปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านั้น พอเข้าใจแล้วเวลาจะเอามาปรับประยุกต์ให้เหมาะกับประเทศเราก็จะได้พิจารณาจากปัจจัยที่รอบด้านมากขึ้น เพราะโลกนี้ไม่ได้มีแค่มุมเดียว ไม่ได้มีแค่องศาเดียว หมุนดูรอบตัวเราให้ครบทั้ง 360 องศาก่อนที่เราจะก้าวเดินไปข้างหน้า

สำหรับสัปดาห์นี้ท่านสามารถติดตามชมเรื่องราวของ UK’s Future ผ่านรายการโลก 360 องศา คืนวันเสาร์นี้ ทาง ททบ.5