posttoday

อีสานต๊ะต่อนยอน ณ บ้านท่าขันทอง

04 พฤศจิกายน 2560

เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ชาวอีสานกลุ่มหนึ่งอพยพหนีความแห้งแล้งและการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์มาตั้งรกรากอยู่ในภาคเหนือ

 โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

 เมื่อ 50 กว่าปีก่อน ชาวอีสานกลุ่มหนึ่งอพยพหนีความแห้งแล้งและการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์มาตั้งรกรากอยู่ในภาคเหนือ กลายเป็นชุมชนอีสานล้านนา "บ้านท่าขันทอง" อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของลูกอีสานไว้ไม่ลืม

อีสานต๊ะต่อนยอน ณ บ้านท่าขันทอง 01 วงดนตรีพื้นบ้านบนรถอีแต๊ก

 บ้านท่าขันทอง เป็นชุมชนคนอีสานขนาดใหญ่ทั้งจากร้อยเอ็ด ยโสธร สกลนคร และมหาสารคาร ที่รวมตัวกันตั้งเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง (ซึ่งหากลืมตัวอาจคิดได้ว่านี่คือชายแดนอีสานมากกว่าเชียงแสน) โดยปัจจุบันหมู่บ้านนี้ถูกพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน และได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยเมื่อปี 2552/2555 และ 2558 โดยมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่ได้ยกวิถีชีวิตพื้นบ้านมาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสตัวตนของลูกอีสานล้านนาอย่างแท้จริง

นั่งอีแต๊กชมโขง

 นอกจากภาษาอีสานและเสียงพิณ วิถีถิ่นอย่างการใช้รถอีแต๊กเพื่อเดินทาง เป็นอีกหนึ่งในเสียงอีสานที่ครื้นเครงได้ใจ เพราะนอกจากเสียงดนตรีวงพื้นบ้านทั้งพิณ กลอง ฉิ่ง ฉาบ ยังได้ผสมปนเปกับเสียงแต๊กๆๆ จากเครื่องยนต์ที่เข้ากันดี

 เส้นทางเริ่มต้นจากจุดขึ้นรถอีแต๊กในหมู่บ้าน ผ่านศาลพญานาค สวนกล้วย จนทะลุออกไปยังถนนเล็กๆ เลียบแม่น้ำโขง ประหนึ่งได้นั่งยานพาหนะทะยานจากเหนือไปอีสานภายในพริบตา

 สายน้ำขนาดกว้างสุดลูกตาไหลเชี่ยวตรงข้ามกับทิศทางสัญจร ลมร้อนไหลเอื่อยทำลายความอบอ้าวคล้ายฝนสุดท้ายจะตกอำลาฤดูกาลอีกไม่นาน โดยเส้นทางยาวไม่กี่กิโลเมตรแต่เสียงดนตรีไม่มีจุดจบ หากลุงป้าน้าอาบรรเลงไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยคงไม่เงียบเหงาสักวินาที

 ปลายทางนั้นมีป้าย "ออนซอนเดว โฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง" แปลว่า อรชรหรืองามนัก ซึ่งวิวทิวทัศน์แม่น้ำโขงช่างงดงามสมคำเชยชม ส่วนโฮมสเตย์บ้านท่าขันทองจะออนซอนแค่ไหนคงต้องตัดสินในหนทางกลับไปด้วยกิจกรรมในหมู่บ้าน

อีสานต๊ะต่อนยอน ณ บ้านท่าขันทอง 02 ชาวบ้านนั่งกะเทาะเปลือกถั่วดาวอินคา

สองมือสีข้าวกล้อง

 วิถีชีวิตพื้นบ้านที่สุดอย่างการสีข้าวกล้องด้วยมือ กลายเป็นกิจกรรมที่คนเมืองตื่นเต้นไปได้ เพราะการได้รู้จักสิ่งที่คุ้นเคยที่กินวันละ 3 มื้อกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยนักท่องเที่ยวสามารถลองสีข้าวและร่อนข้าวด้วยสองมือ เรียนรู้กระบวนการก่อนเป็นข้าวหอมในจานว่ากว่าจะได้มาต้องผ่านความเพียรมากเพียงใด 

 แน่นอนว่าชาวอีสานยังบริโภคข้าวเหนียว ทุกมื้อต้องมีกระติ๊บใหญ่ หยิบปั้นกินที่ละคำ เคียงคู่ส้มตำปลาร้า และอาหารเหนือที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในสำรับอย่างน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง และลาบคั่ว รวมถึงยังได้เรียนรู้การทำข้าวจี่ฟักทองชุบไข่ อาหารกินเล่นแบบบ้านๆ ที่เด็กอีสานทุกคนต้องเคยลิ้มลอง

อีสานต๊ะต่อนยอน ณ บ้านท่าขันทอง 03 นักท่องเที่ยวลองร่อนข้าวเปลือกด้วยตัวเอง

ชิมเสาวรสกลางไร่

 พืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของบ้านท่าขันทอง คือ เสาวรส ผลไม้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน หากโรยเกลือหน่อยจะกลมกล่อมจนไม่อยากแบ่งใคร มีใส่ถุงใหญ่วางขายราคาถูกกว่าท้องตลาดเกือบ 2 เท่า ซึ่งหากมาในช่วงเวลาติดลูกดกมากๆ อาจมีโอกาสเดินไปเด็ดผลสดจากต้น กินกันสดๆ ใต้แปลงเสาวรสนั้นเลย

 ผลไม้ชนิดนี้ชาวบ้านนิยมปลูกแซมไปกับทุ่งนา ลักษณะเป็นพืชประเภทเถาเลื้อย ปลูกได้ง่ายทุกสภาพดิน ออกผลผลิตได้ง่าย เป็นที่ต้องการของท้องตลาด และขายได้ราคา ปัจจุบันเกือบทุกบ้านจะปลูกเสาวรสไว้เพื่อบริโภคและขายเป็นรายได้เสริม หากนำไปแปรรูปเป็นแยม ไอศกรีม หรือน้ำเสาวรส ก็ยิ่งได้มูลค่าเพิ่ม

 นอกจากนี้ เจ้าของไร่ยังแนะนำว่า การกินเสาวรสให้อร่อยต้องกลืนทั้งคำ ไม่ต้องเคี้ยว ไม่เช่นนั้นจะเปรี้ยวจนเกินพอดี ซึ่งเจ้ากะทกรกฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเอ และมีใยอาหารสูง

ดื่มชาดาวอินคาเพิ่มโอเมก้า

 ถั่วรูปดาวจากประเทศเปรู ถูกนำมาส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ และกลายเป็นของฝากติดดาวของหมู่บ้าน นั่นคือถั่วดาวอินคาอบกรอบ และชาดาวอินคา ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงลิ่ว

 ถั่วดาวอินคาอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดการอักเสบของสมอง วิตามินเอ วิตามินอี และกรดอะมิโน ที่ดีต่อร่างกาย มีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการนอนหลับสนิท ช่วยเสริมประสิทธิภาพทางเพศได้ดี โดยเมล็ดที่ยังดิบอยู่จะไม่สามารถนำมารับประทานได้ แต่หากคั่วจนสุกแล้วจะมีความอร่อยมัน ซึ่งแนะนำให้กินวันละ 5 เมล็ด

อีสานต๊ะต่อนยอน ณ บ้านท่าขันทอง 04 รถอีแต๊กพานักท่องเที่ยวชมความงามริมฝั่งโขง

 รวมถึงใบของต้นถั่วดาวอินคา ยังสามารถนำไปทำเป็นใบชาเพื่อสุขภาพและไม่มีคาเฟอีน หรือนำไปสกัดเป็นคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าคลอโรฟิลล์ทั่วไปถึง 200 เท่า

 ถั่วมหัศจรรย์ชนิดนี้ถูกนำมาส่งเสริมให้แก่ชาวบ้านท่าขันทอง เพราะให้ผลผลิตเร็ว สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี และมีอายุนานถึง 60 ปีจากการปลูกเพียงครั้งเดียว

 ที่สำคัญ พืชชนิดนี้ต้องปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ชาวบ้านจึงแทบปล่อยให้เติบโตเองตามธรรมชาติทำให้ปลอดภัยกับทั้งคนปลูกและคนกิน

 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการโฮมสเตย์บ้านท่าขันทองที่ได้รับมาตรฐาน สะอาดสะอ้าน ปลอดภัย และยังคงคอนเซ็ปต์ คือพักอยู่กับชาวบ้าน สามารถสัมผัสความเป็นท้องถิ่นได้ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนในราคาประหยัด จ่ายน้อยแต่ได้ประสบการณ์มาก ส่วนกิจกรรมตามที่กล่าวมาสามารถเลือกสรรได้ว่าอยากทำอะไร แล้วคิดราคาเพิ่มเติมตามจริง ซึ่งก็ไม่แพงอีกเช่นเดิม

 หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านท่าขันทอง พร้อมรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ (แบ็กแพ็กเกอร์ กลุ่มประชุมสัมมนา นักเรียนนักศึกษา) และยินดีต้อนรับคนแปลกหน้าให้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างเต็มใจ ซึ่งนอกจากผู้ไปเยือนจะได้รับความสุขและประสบการณ์ไม่เหมือนใคร เจ้าบ้านอย่างชาวบ้านยังมีชีวิตชีวาและสนุกสนานไปด้วย

..........ล้อมกรอบ...........

 ติดต่อเข้าพักและท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าขันทอง โทร. 08-1952-7058 (เศรษฐศักดิ์ พรหมมา)

 พักโฮมสเตย์คืนละ 300 บาท/คน หรือรวมอาหารคนละ 400 บาท

...........ใต้ภาพ...........

00(รูปเปิด) ชาวไร่เสาวรสเดินเก็บผลจากต้น

01 วงดนตรีพื้นบ้านบนรถอีแต๊ก

02 ชาวบ้านนั่งกะเทาะเปลือกถั่วดาวอินคา

03 นักท่องเที่ยวลองร่อนข้าวเปลือกด้วยตัวเอง

04 รถอีแต๊กพานักท่องเที่ยวชมความงามริมฝั่งโขง

05 ถั่วดาวอินคา

06 สวนถั่วดาวอินคา พืชเศรษฐกิจของชาวบ้านท่าขันทอง

07 โฮมเสตย์น่านอนที่บ้านท่าขันทอง

08 ต้นถั่วดาวอินคา

09 ขายเสาวรสสดๆ ราคาหน้าสวน

10 กินเสาวรสจิ้มเกลือ รสชาติชื่นใจ

11 ปลูกข้าวผสมแปลงเสาวรส

12 ถั่วดาวอินคาอบกรอบ ของฝากบ้านท่าขันทอง

13 อาหารเหนือบนขันโตกในหมู่บ้านชาวอีสาน

14 แปลงปลูกเสาวรสสร้างรายได้ดีให้แก่ชาวบ้าน