posttoday

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

12 มีนาคม 2560

ผู้คนมากมายหลายร้อยคนกำลังต่อแถวยาวเหยียดเพื่อขอพรกับเทพทันใจที่พระเจดีย์โบดาทาวน์ (Botahtaung Pagoda)

โดย...โยโมทาโร่

 ผู้คนมากมายหลายร้อยคนกำลังต่อแถวยาวเหยียดเพื่อขอพรกับเทพทันใจที่พระเจดีย์โบดาทาวน์ (Botahtaung Pagoda) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ วัดเทพทันใจ ณ กรุงย่างกุ้ง

 เราแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือทำไมไม่เรียกว่า วัดเจดีย์โบดาทาวน์ แต่กลับเรียกว่า วัดเทพทันใจ หรือภาษาพม่าเรียกว่า นัตโบโบจี

 นั่นอาจจะเป็นเพราะการเรียกขานติดปากของชาวบ้านแต่ก่อนว่า พูดถึงวัดนี้มีอะไรเด่นที่สุด คงหนีไม่พ้นองค์เทพทันใจ ซึ่งว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ขออะไรก็มักจะได้สมใจทันใจเสมอ

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 แต่จุดที่ผมสนใจมากที่สุดคือในส่วนของพระเจดีย์โบดาทาวน์มากกว่าเพราะไม่เพียงแต่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แต่ภายในยังได้รวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่าของเมียนมาที่มีอายุตั้งแต่หลักหลายร้อยปีไปจนถึงพันกว่าปี

เจดีย์แห่งนี้สร้างเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว ในสมัยพระเจ้าโอกะลาปะ กษัตริย์มอญผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา หากจะเทียบอายุการสร้างก็น่าจะใกล้เคียงกับองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ที่มีอายุราวๆ 2,000 กว่าปีเช่นกัน

 ในสมัยนั้น พระเจ้าโอกะลาปะ ได้อัญเชิญพระเกศาธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประดิษฐานไว้ที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 แต่ครั้งนั้นการเดินทางจะใช้ทางเรือเป็นหลัก ในวันที่พระเกศาธาตุมาขึ้นฝั่งที่เมืองดากอง พระเจ้าโอกะลาปะ ได้แบ่งพระเกศาธาตุ 1 เส้น และสร้างพระเจดีย์โบดาทาวน์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงการเฉลิมฉลองในครั้งนั้น

 เราจึงนับได้ว่า พระเจดีย์โบดาทาวน์ เป็นพระเจดีย์ที่สร้างคู่กันมากับพระมหาเจดีย์ชเวดากองนั่นเอง จึงเป็นหนึ่งในมหาบูชาสถานของชาวมอญและชาวเมียนมามาโดยตลอด

 แต่ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 เจดีย์แห่งนี้ได้ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลาย แต่ยังพอเหลือโครงสร้างและโบราณวัตถุต่างๆ ที่เก็บรักษาไว้ภายใน

 จึงมีการบูรณะใหม่ในปี 2496 และนำพระเกศาธาตุบรรจุในครอบแก้วใส ให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ามาบูชาอย่างใกล้ชิด ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใต้ฐานพระเจดีย์เป็นช่องทางเดินวนโดยรอบ และใช้เป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูป

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 ข้าวของเครื่องใช้มีค่าสมัยโบราณนำมาเก็บรักษาไว้ทำให้พระเจดีย์เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุไปในตัว

 การต่อคิวเข้าไปนมัสการพระเกศาธาตุที่นี่ต้องทำใจสักหน่อยครับ ควรเปลี่ยนเอากระเป๋าสะพายไว้ด้านหน้าเพราะคุณจะได้เจอกับชาวเมียนมาและไทยพยายามเบียดเสียดลัดคิวเข้าไปสักการะ

 ส่วนตัวผมเองก็ได้แค่ขอเดินเข้าไปกราบชมใกล้ๆ ให้เป็นบุญตาแบบเร่งด่วน เพราะมีผู้มีจิตศรัทธาอีกเป็นจำนวนมากรออยู่เบื้องหลัง

 เดินเวียนขวาทักษิณาวรรตไปตามโถงทางเดินด้านซ้าย จะมีโบราณวัตถุดูแปลกตาจากที่เคยเห็นในประเทศไทยตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 หากเป็นผู้ที่นิยมสะสมพระเครื่อง หรือมีความชื่นชอบในพระพุทธรูปอาจจะใช้เวลานานกว่าครึ่งวันเพื่อเดินดูให้ครบ ขนาดคนไม่มีความรู้มากนักอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมงกว่าจะเต็มอิ่ม

 ระหว่างทางเดินจะมีพระสงฆ์ แม่ชี และนักปฏิบัติธรรมนั่งทำสมาธิกรรมฐานอยู่ภายใน บ้างก็เรียกเราไปให้ศีลให้พรถ้าพูดภาษาเดียวกันเราคงได้สนทนาธรรมกันแล้ว

มองไปที่ช่องหน้าต่างจะเห็นว่า มีธนบัตรและเหรียญสอดเสียบไปทั่วผนัง มีทั้งแบงก์ไทยและพม่า เป็นนัยว่าขอทำบุญให้กับวัดแต่จะใช่ธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่นั้นยังไม่มีใครตอบได้

 แต่อย่างไรก็ดี แค่ได้กราบพระเกศาธาตุกับเดินชมโบราณวัตถุก็สดชื่นแล้ว

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 ออกจากพระเจดีย์ภายในวัดจะมีอีก 2 ส่วนให้เดินชม ก็คือส่วนของวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย พระพุทธรูปนี้เคยประดิษฐานอยู่ในพระราชวังมัณฑะเลย์ เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมอังกฤษในปี 2428 ก็ถูกขนย้ายไปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศอีกหลายแห่ง จนกระทั่งได้นำกลับมาไว้ที่วัดเทพทันใจในที่สุด

 จากนั้นเราไปปิดท้ายกันที่โซนขอพรของวัดเทพทันใจ ที่เรียกว่า โซนขอพร เพราะทางวัดจัดให้เป็นส่วนที่ตั้งของวิหารเทพทันใจ (นัตโบจีจี) และเทพกระซิบ เทพประทานความโชคดี ซึ่งว่ากันว่าต้นแบบเทพทันใจที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดจะอยู่ที่วัดแห่งนี้ในประเทศไทย

 โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือ ก็มีการสร้างเทพทันใจเหมือนกับเมียนมาเช่นกัน แต่จะให้บอกว่าศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันไหมก็คงต้องลองไปขอพรกันดูครับ

 เทพทันใจนี้ถือเป็น “นัต” หรือเทพเทวาอารักษ์ผู้คุ้มครองของชาวเมียนมา ตามความเชื่อ นัตก็คือวิญญาณของเหล่าวีรชนที่ทำคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง เมื่อพวกท่านเหล่านี้เสียชีวิตวิญญาณก็จะยังคงเป็นห่วงบ้านเมืองประชาชนอยู่ไม่อาจไปเกิดใหม่ได้ จึงกลายเป็นนัต ให้คนกราบไหว้บูชาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

 นัต ในประเทศเมียนมามีทั้งหมด 36 องค์ โดยองค์ที่รู้จักกันมากที่สุดคือองค์ที่ตั้งอยู่ที่วัดเทพทันใจ การตั้งนัตนี้สืบมาตั้งแต่ สมัยพระเจ้าอนิรุธมหาราช (พระเจ้าอโนรธา) แห่งอาณาจักรพุกาม ราวๆ ปี 1600 ทรงใช้พระราชอำนาจจัดระเบียบนัตในเมียนมาใหม่เพื่อให้ประชาชนฟังหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามากขึ้น เพราะในยุคนั้นสมัยนั้นมีนัตมากมายหลายองค์

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 นัตแท้ๆ ที่น่าบูชาก็มี นัตปลอมสร้างหลอกลวงประชาชนก็มี จนเกิดความวุ่นวายและพากันงมงายจนเกิดเหตุก็ต้องมาคัดกรอง รวบรวม นัตที่มีผู้คนนับถือมากและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด 36 องค์ และตั้งจัดให้เป็นมหาคีรีนัต หรือเทพประจำอาณาจักร นัตนี้มีทั้งนัตที่เป็นชายและหญิง

 ชาวเมียนมาเชื่อกันว่า นัตสามารถบันดาลความต้องการของผู้อธิษฐานขอพรให้สำเร็จสมใจอย่างรวดเร็ว

 ขนาดมีคำกล่าวที่ว่า "เทพทันใจ ใครบูชา พาสำเร็จ เทพทันใจ ใครขอเสร็จ ดังประสงค์ เทพทันใจ ใครติดตัว ดวงเหนือคน เทพทันใจ ช่วยดล บันดาลจริง" จึงทำให้เทพทันใจกลายเป็นหนึ่งในเทพที่มีผู้คนบูชามากที่สุด ตั้งแต่ชนรากหญ้าไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งของเมียนมาและไทย

 เราต่อแถวอยู่ราวๆ 15 นาที ไม่ช้าไม่เร็วไปแบบมึนๆ ว่า เขาบูชากันอย่างไร ต้องสังเกตเอาว่าชาวเมียนมานิยมนำอะไรไปบูชา และหาซื้อเอากับร้านค้าในวัดที่จัดเตรียมไว้ให้พร้อม และแน่นอนว่าของที่ใช้กราบไหว้บูชาก็วนๆ กันไป

 การบูชาเทพทันใจต้องใช้ดอกไม้และผลไม้บูชา ยกมือไหว้บูชาและยื่นหน้าผากแตะที่ปลายนิ้วรูปปั้นเทพทันใจ แล้วขอพรให้สำเร็จสมประสงค์ โดยเราจะขอได้ข้อเดียวเท่านั้น เสร็จแล้วเดินวนไปอีก 3 รอบ หากทำตัวไม่ถูกจะมีเจ้าหน้าที่ของวัดคอยจัดการแนะนำให้

 ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยขออะไรกันมากครับ คนหนุ่มสาวก็ขอเรื่องความรัก ผู้ใหญ่วัยทำงานก็ขอให้ร่ำรวย ส่วนคนวัยชราขอแค่ไขข้อแข็งแรงเดินเหินได้ปกติก็ดีนักหนาแล้ว

พระเจดีย์โบดาทาวน์ เดินวนๆ ชมโบราณวัตถุ

 การบูชาใครอาจจะว่างมงาย แต่สำหรับผมแล้ว หากไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ ที่พึ่งความหวังของคนยากจนทั้งหลายให้คลายทุกข์ไปได้บ้าง ถือเป็นสิ่งดีๆ ที่ควรรักษาเอาไว้

 จบจากบูชาเทพทันใจก็ไปต่อกันที่เทพกระซิบ เทพกระซิบจะอยู่ตรงข้ามกับวัดเทพทันใจ เดินไปก็จะเห็นกล้วยนากวางเรียงกันให้ผู้ศรัทธาได้ซื้อไปบูชา เทพกระซิบชาวเมียนมาเรียกว่า “อะมาดอว์เมียะ” ตำนานว่ากันว่านัตองค์นี้เป็นธิดาของพญานาค ศรัทธาในพุทธศาสนา รักษาศีล ไม่ยอมกินเนื้อสัตว์ จนตายไปจึงกลายเป็นนัตในที่สุด

 ส่วนที่มาของการกระซิบไม่ทราบแน่ชัด แต่เล่ากันว่ามาจากคนไทยเป็นต้นกำเนิด บอกว่านักท่องเที่ยวไทยเราไปถามไกด์ท้องถิ่น ถามว่าป้ายที่ติดตรงหน้าวัดหมายความว่าอะไร ไกด์แปลให้ว่างดใช้เสียง เพราะวัดเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ นักท่องเที่ยวไทยเราเลยกระซิบขอพรแทน แล้วก็ทำตามๆ กันมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชาวเมียนมาคนไหนขอพรกับนัตแบบนี้

 เป็นเรื่องเล่าที่ทำให้เราหัวเราะในความแปลก ควรเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งหรือฟังหูไว้หูเลยก็ได้ ซึ่งความเป็นจริงอาจจะมีสาเหตุอื่นที่ดูน่าเชื่อถือกว่านี้

 โดยส่วนตัวคิดว่าที่วัดเทพทันใจนี้ เป็นวัดที่ค่อนข้างจะมีสีสันกว่าวัดอื่นๆ ในเมียนมา ที่ทำให้เราได้เห็นโบราณวัตถุทรงคุณค่า เห็นความเชื่อความศรัทธาและวิถีชีวิตของชาวเมียนมาในอีกมุมที่แตกต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง