posttoday

‘พะเยา’ อย่ารีบมา

26 พฤศจิกายน 2559

เกิดขึ้นแล้ว กับการเดินทางมาราธอนตลอด 4 วัน ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 5 จังหวัด

โดย...กาญจน์ อายุ

เกิดขึ้นแล้ว กับการเดินทางมาราธอนตลอด 4 วัน ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา พื้นที่ 5 จังหวัดทางภาคเหนือที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติครองแชมป์ที่เชียงใหม่ รองลงมาคือ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา ส่วนนักท่องเที่ยวไทยนิยมไปที่ เชียงใหม่ มากที่สุดเช่นกัน รองลงมาคือ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และพะเยา

ดังนั้น จะขอเรียงไล่ไปตามความนิยมจากน้อยไปหามาก ทว่ามีเสน่ห์จากมากไปหาน้อย

‘พะเยา’ อย่ารีบมา เจดีย์วัดติโลกอาราม (วัดกลางน้ำกว๊านพะเยา)

 

พะเยา

น่าสงสาร “พะเยา” ที่มีคนสนใจน้อยที่สุด ทั้งที่เป็นจังหวัดเจ้าเสน่ห์ที่สุด เรื่องนี้ วีระวุฒิ ต๊ะปินตา ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยา รับทราบและเข้าใจดี เพราะตัวเลขแต่ละปีชี้ชัด อาจมีสาเหตุมาจาก หนึ่ง พะเยาไม่มีสนามบิน ทำให้ต้องพ่วงผลพวงจากจังหวัดอื่น เช่น ลำปางหรือเชียงรายที่มีสนามบิน แล้วลุ้นให้นักท่องเที่ยวขับรถมาทางพะเยาซึ่งอยู่ตรงกลางของ 2 จังหวัด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชม. กล่าวคือ ต้องตั้งใจมา เพราะต่อให้ขับรถมาจากกรุงเทพฯ ผ่านลำปาง พะเยาจะเป็นได้แค่จุดแวะเข้าห้องน้ำ แล้วต่อไปเชียงรายในที่สุด

สองเด้งมาเจอกันทั้งไม่มีสนามบินและเป็นทางผ่าน ทำให้พะเยากลายเป็นจังหวัดที่ไม่มีอะไรในสายตาของนักท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้ว พะเยามี “กว๊านพะเยา” ไฮไลต์เด่นที่หลายคนอาจคิดว่ามีแค่นี้ แต่เพียงแค่นี้ก็คุ้มค่าการมา

‘พะเยา’ อย่ารีบมา วิถีเรือพายของชาวบ้านรอบกว๊านพะเยา

 

กว๊าน หมายถึง หนองน้ำหรือบึงน้ำขนาดใหญ่ เป็นภาษาล้านนาที่ใช้เฉพาะที่พะเยาแห่งเดียวเท่านั้น ตัวกว๊านพะเยาตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง เป็นบึงน้ำรูปพระจันทร์เสี้ยวเกือบครึ่งวงกลม เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกเมื่อประมาณ 70 ล้านปีมาแล้ว มีความลึกเฉลี่ย 1.5 เมตร ซึ่งกว๊านพะเยานี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุดของพะเยา รวมทั้งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดและแหล่งเพาะพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ อย่างปลาบึกและปลาเทพา ที่สำคัญที่สุดของภาคเหนือตอนบน

ใจกลางกว๊านพะเยา เป็นที่ตั้งของ วัดติโลกอาราม เป็นโบราณสถานที่จมอยู่ในกว๊านพะเยามาเนิ่นนาน พระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรล้านนาโปรดให้พระยายุทธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยา สร้างขึ้นราวปี 2019-2029 ในบริเวณที่เรียกว่า บวกสี่แจ่ง โดยวัดแห่งนี้ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกที่ถูกค้นพบในวัดร้างกว๊านพะเยาอายุมากกว่า 500 ปี วัดถูกจมอยู่ในกว๊านเนื่องจากในปี 2482 กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านเพื่อกักเก็บน้ำ ทำให้บริเวณกว๊านที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณและมีวัดจำนวนมากต้องจมน้ำไป จนกระทั่งปริมาณน้ำค่อยๆ ลดลงจนเห็นเจดีย์วัดติโลกอารามที่อยู่บนเนินคล้ายเกาะกลางน้ำโผล่ขึ้นมา เปลี่ยนสภาพจากโบราณสถานกลับมาเป็นวัดติโลกอารามและหลวงพ่อศิลาพระพุทธรูปเก่าแก่กว่า 500 ปีภายในวัด ได้กลับมาเป็นที่เคารพบูชาของชาวพะเยาอีกครั้ง โดยแต่ละปีจะมีการเวียนเทียนทางน้ำรอบวัดติโลกอาราม 3 ครั้งในวันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นการเวียนเทียนบูชาองค์พระปฏิมากลางน้ำแห่งเดียวในโลก

‘พะเยา’ อย่ารีบมา ประติมากรรมนูนต่ำบนหน้าผาหินทราย วัดห้วยผาเกี๋ยง

 

นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเรือพายของชาวบ้านที่จุดให้บริการเพื่อไปยังวัดติโลกอาราม ไป-กลับ ราคาคนละ 20 บาท นั่งได้ลำละ 20 คน ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ยามเย็น ต้องกะเวลาให้พอดีกับช่วงพระอาทิตย์อัสดง เพราะการล่องเรืออยู่กลางกว๊านพะเยายามที่แสงสุดท้ายอาบท้องน้ำนั้น ช่างวิจิตรประหนึ่งจิตรกรรมสีน้ำที่ธรรมชาติละเลงอย่างไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะยามเย็นในฤดูหนาว พระอาทิตย์จะแดงกลมใหญ่และจะทิ้งแสงสุดท้ายไว้ให้ตะลึงไม่เว้นวัน

ขณะนั้นเองมีบทเพลงดังก้องอยู่ในหัว “แดดรอนรอน เมื่อทินกรจะลับเหลี่ยมเมฆา ทอแสงเรืองอร่ามช่างงามตา ในนภาสลับจับอัมพร... ต้องอยู่เดียวเปลี่ยววิญญาณ์ เหมือนดังนภาไร้ทินกร โอ้ยามเย็น จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์ ยามไร้ความสว่างห่างทินกร ยามรักจำจะจรจากกันไป”

‘พะเยา’ อย่ารีบมา ประติมากรรมพระพุทธรูปบนหน้าผา

 

บทเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แว่วเข้ามาเหมือนมีใครเปิดทรานซิสเตอร์กลางกว๊านพะเยา ทำให้พลันคิดถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ติดไว้ริมผนังวิหารครูบาศรีวิชัย ครั้งนั้นในปี 2501 ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสพะเยาครั้งแรก เพื่อเยี่ยมสถานีประมงกว๊านพะเยา และทรงปล่อยพันธุ์ปลาริมแม่น้ำอิงในบริเวณสถานีประมงกว๊านพะเยา จากนั้นเสด็จฯ ไปยังวัดศรีโคมคำเพื่อทรงนมัสการพระเจ้าตนหลวง

วัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง) ถูกสร้างมานานกว่า 525 ปี พร้อมกับการสร้างพระเจ้าตนหลวง โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่กับพระยาเมืองตู้ เจ้าผู้ครองเมืองพะเยา พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งหากไม่ได้ไปนมัสการพระเจ้าตนหลวงแล้ว จะถือว่ามาไม่ถึงพะเยา โดยทุกเดือน พ.ค.จะมีงานประเพณีไหว้สาปู๋จา พระเจ้าตนหลวง-แปดเป็ง หรืองานนมัสการพระเจ้าตนหลวง เดือนแปดเป็ง เป็นงานบุญใหญ่ประจำ จ.พะเยา ที่ชาวบ้านต่างเฝ้ารอ

‘พะเยา’ อย่ารีบมา วิหารครูบาศรีวิชัย วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา

 

นอกจากนี้ ท่านผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพะเยา ยังโปรโมท วัดห้วยผาเกี๋ยง ตั้งอยู่บนเขาที่เต็มไปด้วยหินและผาหิน ซึ่งเป็นแนวเขตเดียวกันกับเมืองโบราณ เมืองผายาว หรือพะเยาในปัจจุบัน ภายในวัดมีอุทยานพุทธศิลป์ที่เกิดขึ้นจากการแกะสลักผาหินทรายเป็นรูปพระพุทธรูปโดยฝีมือของพระสงฆ์รูปหนึ่ง ตอนนี้มีงบประมาณราว “204” ล้านบาท ในการแกะสลักหน้าผาหินความยาวหลายกิโลเมตร สร้างลานพระเจ้าห้าตน เจดีย์ และลานประทักษิณ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนา (ที่ใหญ่โตมโหฬาร) ของ จ.พะเยา

นอกจากวัดที่ถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาแล้ว คำว่าอารยธรรมล้านนาน่าจะตีความหมายไปถึงชุมชนประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี และธรรมชาติ เข้าไปในเขตที่ว่าด้วย เช่น แหล่งเตาเวียงบัวที่บ้านเวียงบัว จุดพบเตาเผาและเครื่องถ้วยชามในพื้นที่เมืองโบราณเวียงบัวตามริมห้วยแม่ต๋ำ สันนิษฐานว่าเตาเผาจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 โบราณสถานเวียงลอ ปรากฏซากกำแพงเมืองเก่าและวัดร้างมากมาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 หรือประมาณ 900 กว่าปี บ้านร่องไฮและบ้านแม่นาเรือ สองหมู่บ้านที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่บ้านร่องไฮยังคงเป็นแหล่งตีมีดและเครื่องมือทางการเกษตร ส่วนบ้านแม่นาเรือ ชาวบ้านยังสร้างแบบบ้านเฮือนวาน หรือบ้านที่ชาวบ้านร่วมแรงหรือเอามือร่วมสร้างให้กัน และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบัว หมู่บ้านที่พึ่งพาตนเองตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9

‘พะเยา’ อย่ารีบมา รอยเท้าและฝ่ามือครูบาศรีวิชัยจากเมืองลำพูน

 

พะเยายังมีอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ประกอบด้วย น้ำตกผาเกล็ดนาค น้ำตกแม่เหยี่ยน น้ำตกจำปาทอง และดอยหนอกหรือภูเขาหินทรงพีระมิด แห่งขุนเขาผีปันน้ำ ซึ่งบนยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์ได้ 360 องศา ชมพระอาทิตย์ขึ้นจากฝั่งพะเยาและชมพระอาทิตย์ตกจากฝั่งลำปาง ถ้ำปางงุ้นใน เขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนองวนอุทยานแห่งชาติภูลังกา มีดอยภูลังกาเป็นไฮไลต์ด้วยลักษณะเป็นสันเขาแคบ ฝั่งตะวันตกเป็นป่าดงดิบเขา และฝั่งตะวันออกเป็นหน้าผาสูงชัน มีหญ้าปกคลุม ลมพัดแรง นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปนอนเต็นท์ชมพระอาทิตย์ขึ้น ชมทะเลหมอก และภูมิประเทศฝั่ง สปป.ลาว วนอุทยานไดโนเสาร์แก่งหลวง จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์พันธุ์ซอโรพอดที่สันนิษฐานว่าได้พลัดหลงมาจากทางอีสาน อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำยม และน้ำตกธารสวรรค์ และ อุทยานแห่งชาติภูซาง มีน้ำตกภูซางซึ่งมีน้ำอุณหภูมิสูงถึง 35-36 องศาเซลเซียส เป็นน้ำตกอุ่นเพียงแห่งเดียวที่พบในไทย

นอกจากนี้ ช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้าพะเยาจะงดงามไปด้วยทุ่งดอกไม้ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวของ อ.ดอกคำใต้ ม่อนทานตะวัน แหล่งปลูกต้นทานตะวันกว่า 1,000 ไร่ ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และถนนสายดอกไม้ ทองกวาว เมื่อถึงเดือน ก.พ. ถนนจาก อ.ดอกคำใต้ไปทาง อ.จุน จะกลายเป็นเส้นทางที่สวยที่สุดเพราะเป็นช่วงเวลาที่ดอกทองกวาวสีส้มแสดจะบานสะพรั่งเป็นระยะทางกว่า 20 กม. โดยเส้นทางนี้สามารถเดินทางต่อไปที่ภูลังกาและภูชี้ฟ้าได้

‘พะเยา’ อย่ารีบมา พระอารามหลวงวัดศรีโคมคำ (วัดพระเจ้าตนหลวง)

 

ตามเส้นทางของเขตอารยธรรมล้านนา ต้องเริ่มเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และไปจบที่เชียงราย นักท่องเที่ยวจะได้นั่งเครื่องบินมาลงเชียงใหม่และกลับจากเชียงรายอย่างสะดวกรวดเร็ว แต่หากมีเวลาจำกัดเหมือนหน้ากระดาษนี้ ถ้าให้เลือกหนึ่งจังหวัด คงเลือก “พะเยา” จังหวัดที่คนมาเที่ยวน้อยที่สุด แต่มีเสน่ห์ที่สุด ซึ่งเสน่ห์ที่แท้จริงอาจเป็นเพราะมีนักท่องเที่ยวน้อย (ที่กำลังแนะนำอยู่นี้ก็กลัวว่าคนจะแห่กันไป) แต่ดูจากระยะทางพิสูจน์ใจ ใครไปถึงพะเยาได้ก็สมควรได้เชยชมอย่างเต็มที่ จาก 4 วัน เที่ยวมาราธอนล้านนา 5 จังหวัด เปลี่ยนมาอยู่พะเยา 4 วันติดก็คิดว่าไม่ผิดอะไร ดีเสียกว่ารีบเที่ยวจนลืมหยุดมองความงามที่แท้ของสถานที่ที่ไป มิฉะนั้นจะเรียกว่า เสียเที่ยว

‘พะเยา’ อย่ารีบมา เจดีย์สีทองอร่ามในวัดปงสนุกจ.ลำปาง

 

‘พะเยา’ อย่ารีบมา ชามลายรถม้าสัญลักษณ์เมืองลำปาง

 

‘พะเยา’ อย่ารีบมา เซรามิกลวดลายของธนบดีเซรามิคจ.ลำปาง

 

‘พะเยา’ อย่ารีบมา เด็กอนุบาลมาทัศนศึกษาที่วัดร่องเสือเต้น จ.เชียงราย

 

‘พะเยา’ อย่ารีบมา เชียงรายมีหอพระหยกที่ประดิษฐานพระหยกองค์แทนพระแก้วมรกตองค์จริง

 

‘พะเยา’ อย่ารีบมา เจ้าแม่กวนอิม ณ วัดห้วยปลากั้งจ.เชียงราย