posttoday

แวะมารู้จัก แล้วจะรัก ‘ท่าโพ’

30 มีนาคม 2562

หมู่บ้านเล็กๆ ใน อ.หนองขาหย่าง ห่างจาก อ.เมืองอุทัยธานี

หมู่บ้านเล็กๆ ใน อ.หนองขาหย่าง ห่างจาก อ.เมืองอุทัยธานี ประมาณ 40 กม. กำลังบรรเลงเพลงเกี่ยวข้าวก่อนฤดูลงแขก ซึ่งเสียงได้แว่วดังออกมาจากศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านท่าโพ

บ้านท่าโพ ตั้งอยู่ใน ต.ท่าโพ อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี เป็นหมู่บ้านที่มีเพลงพื้นบ้านท่าโพ เป็นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อยลง

ทำให้เมื่อปี 2522 ซึ่งเป็นปีแห่งการรณรงค์และการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย สำเริง รงค์ทอง อดีตครูใหญ่โรงเรียนวัดพันสี พร้อมคณะ ได้ฟื้นฟูการเล่นเพลงพื้นบ้านท่าโพขึ้นใหม่ โดยชวนพ่อเพลง แม่เพลง และผู้ที่สนใจมารื้อฟื้นและถ่ายทอดให้คนอุทัยธานีได้ชม จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

จากนั้นได้มีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านท่าโพเพื่อ “ฝึกสอน” เพลงให้ชาวบ้านในชุมชน เยาวชน และผู้ที่สนใจ พร้อมกันนั้นยังได้ “รวบรวม” เพลงพื้นบ้าน เนื้อร้อง ทำนอง โดยได้พยายามรักษาต้นฉบับเดิมของเพลงพื้นบ้านไว้ให้มากที่สุด ครั้งนั้นได้รวบรวมไว้ทั้งหมด 12 เพลง เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงรำวงโบราณ เพลงพิษฐาน และเพลงชักเย่อ

ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านท่าโพตั้งอยู่ในบ้านของ “อาจารย์ตุ้ย” สุรพงศ์ ทิพย์ศิริ ตัวตั้งตัวตีเรื่องการฟื้นคืนเพลงพื้นบ้านและริเริ่มการท่องเที่ยว

แวะมารู้จัก แล้วจะรัก ‘ท่าโพ’

“บ้านท่าโพเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่ง มีชื่อปรากฏอยู่ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับคุรุสภา หน้าที่ 178 บรรทัดที่ 19 สันนิษฐานว่า บ้านท่าโพในอดีตน่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพ การค้าขาย ปัจจุบันบ้านท่าโพมีคำขวัญประจำหมู่บ้านว่าท่าโพกลางบ้าน สืบสานประเพณี ของดีเพลงพื้นบ้าน นมัสการหลวงพ่อกุฏิ งามผุด หลวงพ่อโพธิมงคล ซึ่งหลวงพ่อโพธิมงคลเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของ จ.อุทัยธานี เป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับหลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย” อาจารย์ตุ้ย กล่าวถึงประวัติหมู่บ้าน

นักท่องเที่ยวและนักปั่นควรสตาร์ทจากบ้านหลังนี้เพื่อเริ่มต้นทำความรู้จักกับสถานที่จากไกด์ท้องถิ่นที่จะเล่าต่อไปว่า

“ส่วนเรื่องเพลงพื้นบ้านท่าโพ เรามีการอนุรักษ์สืบสานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกมันไหลบ่าเข้ามาในเมืองไทย จึงให้มีการสืบค้นว่าในแต่ละจังหวัดของไทยมีการร้องเล่นสืบสานประเพณีอะไรบ้าง ก็พบว่า บ้านท่าโพมีการร้องเล่นเพลงพื้นบ้านท่าโพ จึงได้มีการอนุรักษ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมแล้ว ที่นี่ยังมีการสอดแทรกเรื่องคุณธรรมโดยเฉพาะการตามรอยพระบาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 เข้าไปในเพลง ในบทเพลงบางเพลงจึงมีการสอดใส่เนื้อหาเรื่องการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเข้าไป คนท่าโพจึงมีสโลแกนในการดำเนินชีวิตว่า คนท่าโพใช้ชีวิตพอเพียง เคียงคู่อนุรักษ์วัฒนธรรม”

อาจารย์ตุ้ยเล่าต่อระหว่างรอลุงป้าน้าอาแต่งกายชุดรำวงว่า คนท่าโพร้องเพลงพื้นบ้านตามวิถีชีวิต ยกตัวอย่าง คนท่าโพทำนา เวลาเกี่ยวข้าวจะชวนเพื่อนบ้านมาลงแขกระหว่างใช้เคียวเกี่ยวข้าวก็จะร้องเพลงสร้างความสนุกสนาน

แวะมารู้จัก แล้วจะรัก ‘ท่าโพ’

รวมถึงเพลงบวชนาค ซึ่งสมัยก่อนเวลาแห่นาครอบโบสถ์คนท่าโพจะร้องเล่นเพลงบวชนาค โดยพ่อเพลงจะร้องแทนพ่อนาค ส่วนแม่เพลงจะร้องแทนคนรักของนาคที่ต้องร่ำลาจากกัน กระทั่งปัจจุบันคนท่าโพก็ยังร้องเล่นกันอยู่

“เพลงพื้นบ้านท่าโพแตกต่างจากที่อื่นโดยสิ้นเชิงทั้งเนื้อหา การร้อง การเล่น อย่างเพลงชักเย่อที่ชาวบ้านจะเล่นร้องกันตอนสงกรานต์ โดยฝ่ายหญิงและชายจะร้องโต้ตอบกัน เมื่อร้องเสร็จจะจบลงที่การชักเย่อ ซึ่งตอนนี้เพลงพื้นบ้านเหลืออยู่แค่ในท่าโพเท่านั้น ไม่พบในสถานที่อื่นๆ ในอุทัยธานี

อาจจะเป็นเพราะหนึ่ง คนท่าโพชอบความสนุกสนาน ชอบร้องรำทำเพลง และสองคือ ชาวบ้านได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้มานานจึงยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน”

หลังอธิบายเสร็จ ลุงป้าน้าอาก็แต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จพร้อมแสดง อาจารย์ตุ้ยขึ้นเวทีทำหน้าที่ตีรำมะนา อีกคนตีฉิ่งให้จังหวะ อีกสองคนช่วยเพิ่มจังหวะด้วยการปรบมือ ส่วนผู้รำวงแบ่งเป็นชาย 5 คน หญิง 5 คน แต่งกายด้วยชุดรำวงดั้งเดิม ผู้หญิงสวมเสื้อลูกไม้แขนยาวปล่อยชาย นุ่งโจงกระเบนรัดเข็มขัดทอง ด้านฝ่ายชายสวมเสื้อเชิ้ตลายดอก นุ่งโจงกระเบนคาดผ้าขาวม้า

ผู้รำวงจะทำหน้าที่เป็นผู้ขับร้องเพลงพื้นบ้าน จะเป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง เนื้อหาฟังง่ายตามบริบท สอดแทรกอารมณ์ขันและคติสอนใจ ฟังแล้วเพลินและเห็นภาพ อย่างเพลงเกี่ยวข้าวผู้รำจะใส่งอบ มือซ้ายถือรวงข้าง มือขวาถือเคียว หรือเพลงบวชนาคก็จะมีการจำลองสถานการณ์โดยมีนาค
พ่อเพลง และแม่เพลง

แวะมารู้จัก แล้วจะรัก ‘ท่าโพ’

นอกจากการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านยังทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมีความสุขราวกับว่าช่วงวัยหนุ่มสาวของพวกท่านย้อนกลับมา อย่างคุณตาบุญช่วย วัย 93 ปี ที่ขอมาร่วมรำวง คุณตายังจำเนื้อร้องได้ขึ้นใจและยังเต้นได้ตรงจังหวะ ส่วนลุงป้าน้าอาเหมือนได้ย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

นักท่องเที่ยวจะได้ชมการแสดงและสามารถเข้าไปร่วมรำวงกับลุงๆ ป้าๆ ได้อย่างสนุกสนาน จากนั้นเมื่อจบการแสดง นักแสดงกลุ่มเดิมจะเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นแม่ครัว สวมผ้ากันเปื้อนเตรียมสำรับอาหารหวานให้ชิม ไม่ว่าจะเป็นขนมเปียกปูน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมถ้วยตะไล และขนมต้มญวน

เมนูสุดท้ายน่าสนใจ เพราะหน้าตาเหมือนขนมต้มที่คิดไว้ แต่แทนที่จะกินกับมะพร้าวขูดเหมือนทั่วไป ต้องเปลี่ยนมากินกับน้ำกะทิเหมือนบัวลอย

อาจารย์ตุ้ยเล่าถึงเส้นทางท่องเที่ยวต่อว่า บ้านท่าโพเหมาะแก่การปั่นจักรยานเพราะมีถนนลัดเลาะไปตามทุ่งนาและผ่านสถานที่น่าสนใจ โดยเริ่มต้นที่ศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านท่าโพ ปั่นไปไหว้หลวงพ่อกุฏิที่วัดท่าโพ ปั่นชิลชมทุ่งนาที่กำลังเขียวสด

แวะชมบ้านไทยโบราณ ลองทำอาหารพื้นบ้านกับกลุ่มแม่บ้านที่ลานต้นโพธิ์ และวกกลับไปสิ้นสุดที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เดิม เพื่อรับประทานอาหารเย็นและชมการแสดงร้องเล่นเพลงพื้นบ้าน

แวะมารู้จัก แล้วจะรัก ‘ท่าโพ’

หรือหากต้องการพักค้างแรมสามารถพักได้ในโฮมสเตย์บ้านอาจารย์ตุ้ยและหลังอื่นๆ อีก 6 หลังในหมู่บ้าน รองรับได้สูงสุด 40 คน

จากนั้นเช้าวันถัดมา ตื่นขึ้นมาทำบุญตักบาตร ปั่นไปแวะชมบ้านยาหอม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาหอมทับทิมของหมอวิรัติ ตำนานตำรับยาหอมของอุทัยธานี ก่อนจะแยกย้ายหลังอิ่มจากมื้อเที่ยงฝีมือกลุ่มแม่บ้านที่ทำให้คิดถึงแม่ที่บ้าน

แพ็กเกจ 2 วัน 1 คืน แบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็นค่าที่พักโฮมสเตย์พร้อมอาหาร 3 มื้อ คนละ 500 บาท หากไม่ได้นำจักรยานมาแล้วต้องการใช้บริการรถยนต์นำเที่ยวคันละ 350 บาท (นั่งได้ 10 คน) และค่าการแสดงร้องเล่นเพลงพื้นบ้าน 3,000 บาท โดยใช้เวลาแสดงประมาณ 2 ชั่วโมง

บ้านท่าโพ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุทัยธานีเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในชนบทห่างไกลเพราะแทบไม่ถูกความเป็นเมืองกลืนกิน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักปั่นจากทั่วสารทิศมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบฉบับท่าโพ ติดต่ออาจารย์ตุ้ย โทร. 09-0683-1601