posttoday

โกปีเตี่ยม รากวัฒนธรรมกาแฟอาเซียน (2)

29 มีนาคม 2562

เล่าไปในสัปดาห์ก่อนว่า ก่อนที่โลกนี้จะมีสตาร์บัคส์ คอฟฟี่บีน หรือบลูคัพ ฯลฯ

เรื่อง คาเอรุ

เล่าไปในสัปดาห์ก่อนว่า ก่อนที่โลกนี้จะมีสตาร์บัคส์ คอฟฟี่บีน หรือบลูคัพ ฯลฯ โกปีเตี่ยม เกิดมาก่อนนานแสนนาน โดยเฉพาะในมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา

โกปีเตี่ยม ตัวแทนวัฒนธรรมกาแฟอาเซียนยุคที่ 1 อาศัยกาแฟท้องถิ่น ปลูกเอง คั่วเอง ปรุงเป็นรสชาติต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ โกปีเตี่ยมพบได้ในทุกๆ คอมมูนิตี้ของสิงคโปร์ นับรวมๆ แล้วมีไม่ต่ำกว่า 2,000 แห่ง มีทั้งรูปแบบร้านเล็กๆ ร้านสาขา รวมทั้งเป็นแผงอยู่ตามฟู้ดคอร์ตต่างๆ ส่วนใหญ่จะนิยมไปรับประทานเป็นอาหารเช้า พร้อมขนมปังปิ้ง ไข่ลวก และสังขยา บ้างก็แวะเวียนไปตอนบ่ายๆ คล้ายมื้ออาฟเตอร์นูนทีก็มี

เช่นเดียวกับในมาเลเซีย ซึ่งโกปีเตี่ยมหลายแห่งคือจุดท่องเที่ยวแนวแกสโตรโนมีที่ต้องไปเยือน โดยเมื่อกาลก่อน โกปีเตี่ยม ในมาเลเซียก็แทบไม่ต่างจากเมืองไทย คือเป็นร้านกาแฟโบราณสไตล์จีน ส่วนในปัจจุบันนั้น โมเดิร์นโกปีเตี่ยมเป็นร้านกาแฟสไตล์เรโทรสุดเก๋ที่ใครๆ ก็อยากไปนั่ง อัพรูป เช็กอินลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งร้านโกปีเตี่ยมสไตล์โมเดิร์นมีเป็นพันๆ แบรนด์ ทั่วมาเลเซีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เมืองไอโพห์ 1 ใน 3 เมืองที่เป็นสุดยอดจุดหมายของคอกาแฟเอเชีย ที่บันทึกไว้ในหนังสือ Lonely Planet’s Global Coffee Tour ว่า กาแฟ ไวต์ คอฟฟี่ (White Coffee) สไตล์มาเลย์ เป็นเทรนด์ที่ไม่เคยตกของเมืองไอโพห์ “ด้วยรสชาติที่เต็มไปด้วยความหวานมัน กลายเป็นกาแฟซิกเนเจอร์ที่ต้องไปชิมดู ท่ามกลางบ้านเมืองที่สวยงามแบบคลาสสิก”

สำหรับในบ้านเราไม่ต้องพูดถึงเลยว่าวัฒนธรรมกาแฟ “สตรอง” ขนาดไหน ในยุคนู้น โกปีเตี่ยม เป็นที่รวมตัวของคนเก๋าๆ คนเท่ๆ มีสมอง นิยมถกกันเรื่องการเมือง จนถึงทุกวันนี้ โกปีเตี่ยมอาจไม่ใช่จุดขายแบบในสิงคโปร์หรือมาเลเซีย เพราะบ้านเราข้ามไปที่กาแฟสเปเชียลตี้ (ยุคที่ 3) และครีเอทีฟวิตี้ (ยุคที่ 4) กันแล้ว

ร้านกาแฟในเมืองไทยมีทุกแห่งหน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนที่นี่ โดยกาแฟรุ่นใหม่ อย่างกาแฟอราบิกานั้น ได้รับการนำมาเผยแพร่โดยราชวงศ์ไทย โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นผู้ปลูกอราบิกาต้นแรกในไทย เพื่อพระราชทานเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวเขาทางภาคเหนือ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970

กาแฟในอาเซียนที่พัฒนาจากโกปีเตี่ยม ไปเป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเอง ต้องพูดถึงกาแฟเวียดนาม ที่เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่ามาจากชาติไหน แม้สมัยก่อน (จนถึงทุกวันนี้) จะนิยม ca phe sua da หรือกาแฟเย็นเข้มๆ ใส่นม สไตล์กาแฟโบราณแบบโกปีเตี่ยมเหมือนบ้านเรา โดยมีเมนูยาวเป็นหางว่าวเช่นเดียวกับในสิงคโปร์และมาเลเซีย

ทว่า ทุกวันนี้ ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมกาแฟจากฝรั่งเศส ร้านกาแฟสาขาที่เข้ามาตีตลาด และความนิยมในป๊อปสตาร์ชาวเกาหลี ทำให้ร้านกาแฟแบบเดิมๆ เริ่มห่างหายไป กลายเป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมป๊อปมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คนเวียดนามพิถีพิถันกับกาแฟถ้วยโปรดมาก โดยพวกเขาใส่ใจกับการคั่วและการเบลนด์ให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด กาแฟสำหรับคนเวียดนามเป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่ม ทว่า หมายถึง “ความสำเร็จ” (เป็นที่เจรจาธุรกิจ) และ “การค้นพบ” (ทั้งในแง่ของกาแฟถ้วยโปรด และค้นพบไอเดียใหม่ๆ) เลยทีเดียวเชียวนะ

โกปีเตี่ยม รากวัฒนธรรมกาแฟอาเซียน (2)