posttoday

เช็กอินงานหนังสือ 5 จุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ในความทรงจำ

24 มีนาคม 2562

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้น่าจะอบอวลไปด้วยความรัก

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้น่าจะอบอวลไปด้วยความรัก ทั้งที่จับต้องได้จากธีมงาน “รักคนอ่าน” ไปจนถึงความรู้สึกของ “คนรักหนังสือ” ที่จะทราบกันดีโดยไม่ต้องบอกว่าปลายเดือน มี.ค.ของทุกปี จะมีนัดมาช็อปหนังสือใหม่ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ดังนั้น นอกจากงานหนังสือ เชื่อว่าขาประจำต้องคุ้นเคยและมีความทรงจำบางอย่างกับสถานที่แห่งนี้ ข่าวคราวการปิดปรับปรุงศูนย์ฯ สิริกิติ์ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. ต่อเนื่องนานเกือบ 4 ปี จึงน่าจะสร้างความไม่คุ้นชินในงานหนังสือครั้งต่อไปไม่มากก็น้อย ฉะนั้นสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 28 มี.ค.-7 เม.ย.นี้ ขอแนะนำ 5 จุดเช็กอินที่ต้องถ่ายภาพเก็บไว้ในความทรงจำ

โลกุตระ ประติมากรรมสีเหลืองทองที่กลายมาเป็นภาพจำของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ตั้งอยู่กลางบ่อน้ำหน้าทางเข้าโถงต้อนรับ เป็นประติมากรรมรูปเปลวรัศมีขององค์พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งเปลวรัศมีเป็นสัญลักษณ์ของโลกุตระปัญญาหรือปัญญาที่เหนือโลก ตั้งอยู่บนแท่นหินแกรนิตสีดำ หมายถึง โลกหรือฝ่ายโลกิยะ

เช็กอินงานหนังสือ 5 จุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ในความทรงจำ

ส่วนเส้นสายที่คล้ายก้านดอกบัว 8 ก้านนั้นเปรียบได้กับ มรรค 8 ที่จะนำทางบุคคลจากโลกิยะไปสู่โลกุตระ นอกจากนี้ ประติมากรรมเดียวกันยังมองเป็นกลีบบัว ซึ่งเมื่อรวมตัวกันแล้วทำให้เห็นเป็นรูปมือประนม สื่อความหมายถึงการประชุมหรือชุมนุมกันเพื่อประกอบความดีงาม

คนที่ไปศูนย์ฯ สิริกิติ์น่าจะเคยนัดพบกันที่หน้าโลกุตระ อาจเรียกว่า ดอกบัวบ้าง พนมมือบ้าง แต่เมื่อมองลึกไปถึงความหมายจะเห็นว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยแนวความคิดด้านพุทธธรรม และความอ่อนละเอียดของงานศิลป์ นอกจากนี้ ด้านหลังโลกุตระจะเป็นทางเข้าไปสู่โถงต้อนรับ ลักษณะเป็นโครงเหล็กสีแดงที่ถูกออกแบบอย่างงานศิลปะ ซึ่งเมื่อมองย้อนออกไปจะเห็นโลกุตระตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลางพอดี

พระราชพิธีอินทราภิเษก บริเวณโถงต้อนรับมีประติมากรรมไม้จำหลักบนไม้ประดู่จำนวน56 แผ่น มีลักษณะนูนสูง นูนต่ำ และกึ่งลอยตัวขนาดใหญ่ที่สุดภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีความกว้าง 22.80 เมตร สูง 4.50-6.35 เมตร ติดตั้งบนผนังบริเวณทางขึ้นโถงต้อนรับ เป็นบันทึกเรื่องราวของพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งเป็นพิธีเฉลิมพระเกียรติยศ พระราชอำนาจของพระอินทร์ และยังเป็นการเทิดพระเกียรติ ในหลวง รัชกาลที่ 9

เช็กอินงานหนังสือ 5 จุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ในความทรงจำ

คนที่มาเดินงานมักเรียกประติมากรรมจุดนี้ว่า หน้ายักษ์ เนื่องจากมียักษ์ตนใหญ่ยืนเด่นอยู่หนึ่งด้าน แต่หากสังเกตรายละเอียดบนจำหลักจะเห็นความอ่อนช้อยที่ไม่น่าเชื่อว่าเนื้อไม้จะอ่อนตาม ซึ่งผลงานชิ้นนี้ จรูญ มาถนอม ศิลปินเจ้าของผลงานใช้เวลาสร้างสรรค์เพียง 6 เดือนเท่านั้น

เสาช้าง ลูกโลก อีกหนึ่งประติมากรรมลอยตัวตั้งอยู่กลางโถงต้อนรับโซนเอ บางคนอาจนึกว่าเป็นเสาธรรมดา แต่เมื่อแหงนหน้ามองด้านบนจะเห็นว่านี่คืองานศิลปะ มีลักษณะเป็นช้างสี่เศียรที่ปั้นหล่อด้วยโพลีเอสเตอร์เรซิ่น รองรับโครงสร้างลูกโลก ส่วนเสาเป็นโครงเหล็กปิดผิวด้วยแผ่นทองเหลืองรมดำแสดงถึงการเป็นผู้ค้ำจุนโลก

ศิลปินได้ออกแบบตามแนวคิดที่ต้องการให้ช้างสี่เศียรเปรียบเสมือนทิศทั้งสี่แทนความหมายของประเทศไทยที่มีช้างเป็นสัญลักษณ์ ส่วนลูกโลกเป็นตัวแทนของนานาประเทศ แสดงความหมายถึงวาระที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนระหว่างประเทศเมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นงานแรกที่จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมฯ แห่งนี้

เช็กอินงานหนังสือ 5 จุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ในความทรงจำ

หนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ตำนานวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ ถูกถ่ายทอดลงบนผนังบริเวณโซนพลาซา โดยศิลปินได้รังสรรค์ฉากมหาศึกครั้งสุดท้ายระหว่างพระรามและทศกัณฐ์ ผสมผสานเข้ากับบริบทในจินตนาการ ด้วยการใช้สว่านเจาะลายบนแผ่นอัลลอยขนาดใหญ่แทนการฉลุลงบนผืนหนัง ทำให้หนังใหญ่ชิ้นนี้ไม่เหมือนใคร และกลายเป็นผลงานที่น่าทึ่ง เพราะความละเอียดประณีตของลวดลายจนทำให้แผ่นอัลลอยอันแข็งแกร่งแลดูพลิ้วไหวประหนึ่งมีชีวิต

จุดสุดท้ายที่ต้องถ่ายภาพเก็บไว้ในความทรงจำคือ ศาลาไทย งานสถาปัตยกรรมตามแบบประเพณีภาคกลาง สะท้อนงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าของไทย มีขนาดศาลายาว 3 ห้อง มีมุขลดหัวท้ายต่อยอดออกไปทั้งสองด้าน ตัวหลังคาหลักมีลักษณะเป็นมุขประเจิดวางอยู่บนหลังคากันสาด มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยเคลือบสีเทาฟ้าเพื่อให้ได้ลักษณะสีหลังคาไทยเดิม ใช้เทคนิคบิดปลายกระเบื้องด้วยกระจังลายดอกพุดตาน ส่วนตัวโครงสร้างหลังคาเป็นไม้ เป็นขื่อแปแบบโบราณ ใต้เชิงกลอนประดับตกแต่งด้วยดาวตุ๊ดตู่ตลอดแนวชายคา ล้อรับไปกับแนวกระจังด้านบน และเสารับชุดหลังคาประดับปลายเสาด้วยบัวจงกล

เช็กอินงานหนังสือ 5 จุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ในความทรงจำ

ส่วนการตกแต่งอื่นๆ เป็นไม้แกะสลักที่ลงรักปิดทอง มีบันไดขึ้นศาลา 2 ชุด ตกแต่งราวบันไดด้วยพนักพลสิงห์หัวเหราปูนปั้นลงรักปิดทองประดับกระจก เน้นตกแต่งด้วยโทนสีทองเพื่อให้เข้ากับหลังคาสีเหลืองของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ซึ่งวัสดุก่อสร้างทั้งหมดถูกผลิตขึ้นในไทย และสร้างขึ้นจากช่างฝีมือที่มีความชำนาญเฉพาะ ทั้งช่างแกะสลักไม้ ช่างสลักหินอ่อน ช่างปั้นปูน ช่างลงรักปิดทอง ช่างสีประดับกระจก และช่างโครงสร้าง สถาปัตยกรรมแห่งนี้จึงกลายเป็นศาลา “ไทย” ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ของคนรุ่นต่อไป

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดขึ้นวันที่28 มี.ค.-7 เม.ย. 2562 เวลา 10.00-21.00 น. ก่อนหิ้วหนังสือกลับบ้าน ลองแวะไปถ่ายรูปเช็กอินกับ 5 จุดดังกล่าวที่ทั้งสวยงามและทรงคุณค่าด้านศิลปะไทย