posttoday

เลาะเกาะเทโพอู่ข้าว ล่องสะแกกรังอู่น้ำ

23 มีนาคม 2562

สายน้ำสะแกกรังเปรียบดั่งเส้นโลหิตเลี้ยงชีวิตชาวอุทัยธานี

สายน้ำสะแกกรังเปรียบดั่งเส้นโลหิตเลี้ยงชีวิตชาวอุทัยธานี ตั้งแต่อดีตเคยเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักและเป็นเส้นทางค้าข้าวที่สำคัญ

ต่อมาเมื่อถนนนำพาความเจริญทางบกเข้ามา การสัญจรทางน้ำจึงถูกลดบทบาทความสำคัญด้านการค้า แต่แม่น้ำสะแกกรังยังคงเป็นอู่น้ำด้านอาหาร ทุกวันนี้ชาวบ้านยังสามารถจับปลา ยังเป็นแหล่งชลประทานปลูกข้าว และชาวแพกว่า 300 หลังยังใช้ชีวิตบนผืนน้ำ

เสถียร แผ่วัฒนากุล อดีตข้าราชการครูที่ตอนนี้กลายมาเป็นปราชญ์ชาวบ้านให้ ความรู้เรื่องบ้านเกิด เล่าให้ฟังถึงที่มาของคำว่า “สะแกกรัง” ว่า ในอดีตการเดินทางต้องใช้ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นพาหนะ เมื่อหยุดพักระหว่างทางจะผูกไว้ใต้ต้นไม้ ซึ่งริมแม่น้ำทั้งสองฝั่งมีต้นสะแกขึ้นมาก เวลามันนอนจะนำตัวเกลือกกลิ้งไปกับดินโคลน เวลามันยืนขึ้นก็จะนำสีข้างถูกับต้นสะแก ทำให้ดินโคลนที่ติดอยู่ตามตัวติดเกรอะกรังคาต้นสะแกด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า สะแกกรัง

หรืออีกตำนานหนึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า มีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า สะแกกลาง แล้วเพี้ยนมาเป็น สะแกกรัง

เลาะเกาะเทโพอู่ข้าว ล่องสะแกกรังอู่น้ำ

สายน้ำสะแกกรังมีความยาว 12-15 กม. มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาโมโกจู ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย ไหลมาไกล 180 กม. ผ่านอุทัยธานีเรียกว่า แม่น้ำสะแกกรัง แล้วไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้

“แผ่นดินทางด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นเกาะ มีแม่น้ำเจ้าพระยาโอบล้อมหนึ่งด้าน ส่วนอีกด้านเป็นแม่น้ำสะแกกรัง พบว่ามีปลาเทโพอยู่มากจึงเป็นที่มาของชื่อเกาะเทโพ ในฤดูน้ำหลากเกาะเทโพจะถูกแม่น้ำเจ้าพระยาและสะแกกรังขึ้นท่วม นำพาแร่ธาตุอาหารจากน้ำไปสู่ดินทำให้มีต้นไม้ขึ้นเขียวชอุ่ม กลายเป็นแหล่งอาหารของคนเมือง โดยคนจากเกาะเทโพจะเพาะปลูกแล้วพายเรือนำพืชผักข้ามไปขายที่ฝั่งเมือง”

เกาะเทโพเชื่อมต่อกับแผ่นดินฝั่งด้วยสะพานข้ามแม่น้ำ ดินบนเกาะมีความสมบูรณ์และน้ำท่าอุดมจึงเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ทั้งยังเหมาะแก่การปั่นจักรยานชมทุ่งนาเช่นเดียวกับชาวบ้านที่มักเดินทางด้วยสองล้อ โดยถนนหนทางมีทั้งทางหลักสำหรับรถยนต์ และทางรองเป็นถนนเล็กๆ ซอกแซกไปในชุมชน

“ริมแม่น้ำสะแกกรังสมัยก่อนมีโรงสีข้าวตั้งอยู่เรียงราย และมีท่าข้าวหลายแห่งไว้สำหรับค้าขายข้าว ซึ่งปัจจุบันโรงสีเหล่านี้ย้ายจากริมตลิ่งไปอยู่ริมถนนหมดแล้ว เพราะสะดวกแก่การขนส่งมากกว่า”

เลาะเกาะเทโพอู่ข้าว ล่องสะแกกรังอู่น้ำ

เสถียร กล่าวต่อว่า ในอดีตแม่น้ำสะแกกรังมีความคึกคัก มีแพ (บ้านลอยน้ำ) เต็มสองฝั่ง โดยคนที่อาศัยบนแพคือ คนค้าขายและคนรวย เนื่องจากการคมนาคมต้องอาศัยสายน้ำ ส่วนคนที่อยู่บนฝั่งทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของผืนป่าห้วยขาแข้งจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง มอญ ละว้า

“ทุกวันนี้เรายังคงเห็นแพไม้สักหลายหลัง บ่งบอกฐานะว่าเป็นแพของคนที่มีสตางค์ แต่ทุกวันนี้เมื่อมีการตัดถนนทำให้การสัญจรทางน้ำซบเซาลง ความคึกคักในสายน้ำก็เปลี่ยนเป็นความเจริญในตัวเมือง

คนที่ยังอาศัยอยู่ในแพจึงเหลือเพียงคนรุ่นเก่าที่ยังคุ้นชินกับการพายเรือเป็นพาหนะ และยังมีทักษะในการเปลี่ยนลูกบวบ (ตัวช่วยพยุงแพทำจากไม้ไผ่) ซึ่งตอนนี้เหลือแต่คนอายุ 50 กว่าเท่านั้นที่ทำได้ ถ้าหมดรุ่นนี้ไปก็คงกลายเป็นแพสมัยใหม่ที่ใช้เหล็กหรือถังพลาสติกแทน”

เมื่อปั่นจักรยานเลาะแม่น้ำสะแกกรังจะเห็นกอไผ่สีสุกขึ้นอยู่เป็นระยะ เสถียร เล่าว่า ในอดีตมีกอไผ่ขึ้นชุม ชาวบ้านเรียกว่าเป็นต้นไม้วิเศษที่ธรรมชาติมอบให้ เพราะตั้งแต่ออกหน่อก็นำมากินได้ นำลำต้นมาใช้เป็นลูกบวบหนุนแพ และเวลากิ่งไผ่โน้มลงมาก็สามารถดักจับกอผักตบชวาไว้ได้อย่างดี

“ปัจจุบันแพในแม่น้ำสะแกกรังถูกจำกัดไว้ให้มีได้เท่านี้ คือ ประมาณ 300 หลัง แต่ละหลังมีเลขที่บ้าน ชื่อถนนเขียนว่า ถนนแพคลองสะแกกรัง ถ้าหลังไหนพังหรือถูกรื้อออกไป จะไม่มีการให้เลขที่บ้านเพิ่มแล้ว แต่สามารถซื้อขายแพหลังเดิมได้

เลาะเกาะเทโพอู่ข้าว ล่องสะแกกรังอู่น้ำ

ทำให้หลายหลังกลายเป็นที่พักและร้านอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ บริเวณรอบเรือนแพชาวบ้านจะปลูกใบเตย ผักบุ้ง ดอกพุทธรักษา สำหรับตัดขายและนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือน”

แม่น้ำสะแกกรังเปรียบเสมือนเส้นโลหิตสายชีวิตของชาวอุทัยธานี ในแม่น้ำอุดมไปด้วยปลาแรด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนให้เป็นปลาประจำ จ.อุทัยธานี ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาเกล็ด มีสินค้าขายดีริมสายน้ำอย่างปลาย่าง

ร้านดังที่ต้องนั่งเรือไปซื้อถึงบ้านต้อง “ร้านป้าแต๋ว” จำหน่ายปลาย่าง ปลาส้ม ปลาร้าน้ำพริกปลาย่าง และน้ำพริกปลาร้า ซึ่งในแพของป้าแต๋วยังมีเตาย่างปลา เคล็ดลับความอร่อยคือต้องรมควันไว้นาน 2-3 วัน

นอกจากนี้ บนฝั่งเกาะเทโพยังเป็นที่ตั้งของวัดโบสถ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังโดยมีสะพานเล็กๆ สำหรับคนเดินและจักรยานเชื่อมกับฝั่งตัวเมืองไว้ มองเข้าไปจะเห็นอาคารทรงแปดเหลี่ยมหรือกุฏิแปดเหลี่ยมฉาบสีขาวโดดเด่น รูปแบบผสมผสาน 4 เชื้อชาติ คือ สถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรป ลวดลายปูนปั้นแบบจีน พระพุทธรูปนูนต่ำเป็นแบบเมียนมา และภายในตกแต่งแบบไทย

เลาะเกาะเทโพอู่ข้าว ล่องสะแกกรังอู่น้ำ

ส่วนเจดีย์สามองค์ที่รายล้อมอยู่มี 3 รูปแบบคือ เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบสุโขทัย เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมแบบอยุธยา และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองแบบรัตนโกสินทร์ โดยเจดีย์ทั้ง 3 องค์สร้างขึ้นพร้อมกันในช่วงรัชกาลที่ 4 แต่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างกันเพื่อให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของไทย

ปราชญ์ชาวอุทัยฯ ยังเชิญชวนให้มาใส่บาตรพระทางน้ำ ทุกเช้าเวลา 07.00 น.เจ้าอาวาสวัดโบสถ์จะนั่งเรือพายจากวัดมายังท่าหน้าตลาดที่อยู่ตรงข้าม มารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน และเขาเองก็จะมาบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับสายน้ำสะแกกรัง

แถมยังมีคนคอยถ่ายภาพนักท่องเที่ยวตอนใส่บาตร โดยสามารถเข้าไปโหลดภาพได้ฟรีในเพจเฟซบุ๊ก อุทัยธานีที่รัก

หากกลุ่มนักปั่นต้องการข้อมูลเส้นทางลัดเลาะเมืองอุทัยธานี สอบถามเส้นทางจากคนในพื้นที่ เสถียร แผ่วัฒนากุล โทร.08-1532-2287 อีเล็คทริค