posttoday

โกปีเตี่ยม รากวัฒนธรรมกาแฟอาเซียน (1)

22 มีนาคม 2562

พอพูดคำว่า โกปีเตี่ยม (Kopitiam) อารมณ์หวนรำลึกถึงอดีต และความเปรี้ยวปาก

เรื่อง คาเอรุ

พอพูดคำว่า โกปีเตี่ยม (Kopitiam) อารมณ์หวนรำลึกถึงอดีต และความเปรี้ยวปากอยากกาแฟโบราณก็พุ่งปรี๊ดขึ้นมาพร้อมๆ กัน

โกปีเตี่ยม หรือร้านกาแฟสไตล์โบราณ แสดงให้เห็นถึงรากวัฒนธรรมกาแฟอาเซียน ที่เข้มข้นเหมือนรสชาติของกาแฟโบราณ ไม่แพ้กับชนชาติอื่นๆ ใดในโลก

ก่อนที่โลกนี้จะมีสตาร์บัคส์ คอฟฟี่บีน หรือบลูคัพ ฯลฯ โกปีเตี่ยม เกิดมาก่อนนานแสนนาน โดยเฉพาะในมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา และกาแฟอะราบิกง-บีกาอะไร ไม่มีใครรู้จักจ้ะ โกปีเตี่ยม วัฒนธรรมกาแฟอาเซียนยุคที่ 1 อาศัยกาแฟท้องถิ่น ปลูกเอง คั่วเอง ปรุงเป็นรสชาติต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

ทุกวันนี้ โกปีเตี่ยม กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวแนวแกสโตรโนมีทัวริสม์ต้องแวะ ทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเชีย และบรูไน

นอกจากเมนูโกปี หรือกาแฟ นี่เป็นเอกลักษณ์ โดยจะมีความเหมือนกันในย่านอาเซียนคือกาแฟเข้มๆ ใส่นมข้นหวานแล้ว ในร้านโกปีเตี่ยม มักจะเสิร์ฟอาหารแกล้มกาแฟ อย่าง ขนมปังปิ้ง ไข่ลวก แล้วก็สังขยา รวมทั้งมีเครื่องดื่มทางเลือกอย่างชาร้อนหรือไมโลร้อนอีกด้วย

กาแฟในโกปีเตี่ยมมีเอกลักษณ์คาแรกเตอร์ที่ไม่ธรรมดา อาศัยการคั่วในกระทะพร้อมๆ กับเมล็ดข้าวโพดและเนย ซึ่งทำให้กาแฟมีความหอม หวาน และมัน ก่อนจะนำไปบดหยาบๆ เวลาชงต้องอาศัยถุงผ้าราดน้ำร้อนๆ ผ่านกาแฟ ปล่อยให้น้ำสีดำๆ ส่งผ่านไปสู่ถ้วยที่เตรียมนมข้นหวานเอาไว้ที่บริเวณก้น

ใครชอบหวานก็ชงให้เข้ากันก่อนดื่ม ใครชอบหวานน้อยก็ชงให้นมข้นละลายแค่พอประมาณ ส่วนใครยังหวานไม่พอ มีน้ำตาลก้อนไว้คอยบริการเพิ่ม หรือใครไม่ประสงค์จะกินนมเลยก็สั่งกาแฟดำได้ (แต่มันจะเข้มมาก)

กาแฟในโกปีเตี่ยมบ้านเรา มีชื่อเรียกเป็นเอกลักษณ์ อย่าง โอเลี้ยง (กาแฟดำใส่น้ำแข็ง) โอยัวะ (กาแฟดำร้อน) ยกล้อ (กาแฟใส่นมสด) ส่วนโกปี๊ ใช้เรียกทับศัพท์กาแฟโบราณแบบกาแฟใส่นมข้นหวาน

โกปีเตี่ยม รากวัฒนธรรมกาแฟอาเซียน (1)

หากไปโกปีเตี่ยมที่มาเลเซียหรือสิงคโปร์ เมนูจะมีความหลากหลายมาก แต่ไม่สับสนแบบในสเปนที่แต่ละท้องถิ่นเรียกไม่เหมือนกัน อย่าง Kopi ใช้เรียกกาแฟใส่นมข้นหวาน ส่วน Kopi C หมายถึงกาแฟใส่นมสด (C ย่อมาจาก คาร์เนชั่น นมยอดนิยมในอาเซียน) Kopi O คือ กาแฟดำใส่น้ำตาล (ถ้าไม่เอาน้ำตาลต้องสั่งด้วยนะ) Kopi O Peng - กาแฟดำใส่น้ำแข็ง (และน้ำตาล) Kopi O Peng Kosong = กาแฟดำใส่น้ำแข็งไม่ใส่น้ำตาล

Kopi Si Peng คือ กาแฟเย็นใส่นมข้นจืดและน้ำตาล Kopi Si = กาแฟร้อนใส่นมข้นจืดและน้ำตาล ส่วนเมนูชา Teh O = ชาร้อนไม่ใส่นม (ใส่น้ำตาล) Teh = ชาร้อนใส่นมและน้ำตาล Teh Tarik คือ ชาร้อนใส่นมข้นหวาน Teh Si = ชาร้อนใส่นมข้นจืดและน้ำตาล Tiao Hee หรือ Tiao Her = ชาจีน ส่วน Tat Kiu คือ ไมโลร้อน

นอกจากนี้ ยังมีเมนู Cham เป็นกาแฟกับชาผสมกัน (ใส่น้ำตาลด้วย) Cham Peng = กาแฟกับชาผสมกัน (ใส่น้ำแข็ง+น้ำตาล) เมนู Michael Jackson เฉาก๊วยใส่นมถั่วเหลือง ฯลฯ

โกปีเตี่ยมพบได้ในทุกๆ คอมมูนิตี้ของสิงคโปร์ นับรวมๆ แล้วมีไม่ต่ำกว่า 2,000 แห่ง มีทั้งรูปแบบร้านเล็กๆ ร้านสาขา รวมทั้งเป็นแผงอยู่ตามฟู้ดคอร์ตต่างๆ ส่วนใหญ่จะนิยมไปรับประทานเป็นอาหารเช้า พร้อมขนมปังปิ้ง ไข่ลวก และสังขยา บ้างก็แวะเวียนไปตอนบ่ายๆ คล้ายมื้ออาฟเตอร์นูนทีก็มี