posttoday

เกาหลีใต้ เมืองแห่ง (ร้าน) กาแฟ (2)

15 มีนาคม 2562

ความเดิมจากตอนที่แล้ว เล่าเรื่องวัฒนธรรมกาแฟในเกาหลีใต้ ว่ามีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นู่น

เรื่อง คาเอรุ ภาพ รอยเตอร์ส

ความเดิมจากตอนที่แล้ว เล่าเรื่องวัฒนธรรมกาแฟในเกาหลีใต้ ว่ามีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นู่น โดยเริ่มจากพี่สะใภ้ของทูตรัสเซียประจำเกาหลี เป็นผู้ชงถวายสมเด็จพระจักรพรรดิโคจงแห่งเกาหลี ในปี 1896 สมัยยังคงเป็นอาณาจักรโชซอนอยู่เลย

ทุกวันนี้ ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้นั้น ไม่ว่าจะมองไปทางไหน จะต้องมีร้านกาแฟ ที่ชาวเกาหลีเรียกว่า “ดาบัง” สักร้านสองร้านอยู่ในสายตา ไกด์ชาวเกาหลีเคยเล่าว่า ทุกวันนี้ “ดาบัง” เป็นที่พบปะของหนุ่มสาว นอกจากความที่เป็นสถานที่สุดคูลแล้ว ยังเนื่องเพราะบ้านของคนเกาหลีในเมืองนั้นแสนคับแคบ ไม่เหมาะกับการรับแขก เลยต้องมานัดพบพูดคุยกันในร้านกาแฟนั่นเอง

ในปี 2015 ในเกาหลีใต้ มีร้านกาแฟอยู่ราว 5 หมื่นแห่ง โดย 1.7 หมื่นแห่งอยู่ในกรุงโซล ซึ่งนับว่า เป็นเจ้าแห่งร้านกาแฟของโลกเลยทีเดียว มากกว่าจำนวนที่มีในซีแอตเติลหรือซานฟรานซิสโก เจ้าตำรับร้านกาแฟสาขาเสียอีก และจากผลสำรวจในปี 2013 พบการขายกาแฟออกไป 6.57 แสนตัน ในเกาหลีใต้ คาดว่าเฉลี่ยแล้วชาวโสมขาวดื่มกาแฟกันปีละ 2.3 กิโลกรัม

ร้านกาแฟสาขาชื่อดังอย่างสตาร์บัคส์ เข้ามาในเกาหลีเมื่อปี 1999 และประสบความสำเร็จในการขยายสาขาออกไปอย่างรวดเร็ว ราวปีละ 80 สาขาใหม่ อาจด้วยความใกล้ชิดกันของชาวเกาหลีและชาวอเมริกัน ที่ทำให้มันเวิร์กมากที่นี่ โดยผลสำรวจพบว่า ชาวเกาหลีใต้พึงพอใจในไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ที่มีสตาร์บัคส์คอฟฟี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เมื่อเกิดการสร้างห้างร้านใหม่ๆ บรรดาเจ้าของตึกมักจะมีสตาร์บัคส์เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของร้านกาแฟสาขา ที่จะมาเปิดกิจการในอาคารของพวกเขา นั่นทำให้ในกรุง
โซลนั้นมีร้านสาขาของสตาร์บัคส์มากที่สุดในโลก

กระนั้นก็ใช่ว่าร้านกาแฟสาขาของท้องถิ่นเกาหลีใต้ หรือ “ดาบัง” จะล้มหายตายจากไปเสียทีเดียว โดยเฉพาะ คาเฟ่เบเน่ (Caffe Bene) ร้านกาแฟสาขาสัญชาติโสมขาว ที่ก่อตั้งโดยซัน-ควอน คิม ตั้งแต่ปี 2008 นั้น ก็มีกิจการรุ่งเรืองไม่ใช่เล่น และขยายสาขานับพันแห่งทั่วเกาหลีใต้ โดยเฉพาะแท็กติกการใช้เป็นฉากถ่ายละครและรายการทีวีของเกาหลีนั้น ช่วยให้ร้านสาขาของพวกเขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

ที่ราคาย่อมเยาลงมา อย่างร้านสาขาพะยี่ห้อ เอดิยา (Ediya) เองก็มีพันกว่าสาขาในปี 2016 หลังจากการก่อตั้งในปี 2001 โดยมุนชาง-กี โดยร้านกาแฟระดับนี้เป็นคู่แข่งกับมุมกาแฟในเซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) แต่มีความกิ๊บเก๋ของสถานที่มากกว่า

แน่นอนว่า ร้านกาแฟสาขาที่มากมายขนาดนี้ ยังไม่นับร้านเล็กๆ ประเภทคราฟต์คาเฟ่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรือนอกกรุงโซลที่คอกาแฟขอตามไปเก็บสแปร์กันให้ได้อีก วัฒนธรรม “บาริสต้า” ก็เพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัวด้วย มีโรงเรียนกาแฟเกิดขึ้นหลายแห่ง เพื่อศึกษาการชงเอสเปรสโซ่และการตีฟองนมให้เพอร์เฟกต์ ความรักกาแฟของชาวโสมขาวดูจะไม่จืดจางลงไปง่ายๆ พวกเขายังเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบาริสต้าระดับโลกไปเมื่อปีสองปีที่ผ่านมานี้

คอกาแฟที่ไปเยือนเกาหลีใต้ อย่าลืมไปแวะเวียนตามร้านกาแฟท้องถิ่น แล้วจะพบกับบริการอันยอดเยี่ยม แม้เมนูของแต่ละร้านอาจจะไม่แฟนตาซี เพราะวัฒนธรรมกาแฟของที่นี่เป็นมากกว่าเครื่องดื่ม ทว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องธรรมชาติ เป็นแหล่งเชื่อมโยงเพื่อนร่วมงาน จุดนัดพบหนุ่มสาว ที่เจรจาธุรกิจ สถานที่ปรับความเข้าใจเจ้านายลูกน้อง

เป็นที่ที่ต้องไปทุกวัน ขาดไม่ได้เลยจริงๆ