posttoday

ชิโกคุ ครั้งแรก (5)

17 กุมภาพันธ์ 2562

แรกเริ่มเดิมทีประเทศญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมการผลิตกระดาษมาจากชาวจีน

แรกเริ่มเดิมทีประเทศญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมการผลิตกระดาษมาจากชาวจีน ต่อมาได้มีการคิดค้นวิธีการผลิตในแบบเฉพาะของตัวเองเกิดเป็นกระดาษที่มีเอกลักษณ์อย่าง “กระดาษวาชิ” กระดาษสาญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานกว่าพันปี แหล่งผลิตกระดาษวาชิมีแพร่หลายในญี่ปุ่น แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่เป็นแหล่งผลิตเก่าแก่ดั้งเดิม และมีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพ จังหวัดโคจิก็เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตกระดาษวาชิที่มีประวัตินานนับพันปี ถึงขั้นได้รับสมญานามว่า “ประเทศแห่งการทำกระดาษ” โดยกระดาษสาของโคจิจะเรียกว่า “โทสะวาชิ”

จากร้านข้าวหน้าปลาไหล ใช้เวลามาประมาณ 30 นาที จะมาถึงเมืองอิโนะแหล่งผลิตกระดาษโทสะวาชิอันขึ้นชื่อของโคจิ ในเมืองอิโนะมีพิพิธภัณฑ์กระดาษ และหมู่บ้านหัตถกรรม ที่เราสามารถเรียนรู้และทดลองทำกระดาษโทสะวาชิได้ โปรแกรมนี้เราได้มาทดลองทำกระดาษที่หมู่บ้านหัตถกรรม Qraud บอกตามตรงตอนแรกเข้าใจว่าที่นี่คือ จุดพักรถที่มีคอร์สทำกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะด้านหน้ามีที่จอดรถบริเวณกว้าง อาคารด้านหน้าก็มีลักษณะการออกแบบตกแต่งค่อนข้างเรียบมีสไตล์ ไม่ตรงกับภาพที่คิดไว้ว่าถ้าพูดถึงหมู่บ้านหัตถกรรมก็จะให้ภาพเป็นหมู่บ้านชนบทมีคุณลุงคุณป้านั่งทำงานฝีมือ แต่ที่จริงแล้วที่นี่ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย นอกจากมีอาคารสำหรับเรียนรู้การทำกระดาษ ที่นี่ยังมีที่พัก ห้องอาหาร ออนเซน แกลลอรี และคอร์สกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทอผ้า และพายเรือแคนู สามารถมาพักและทำกิจกรรมทั้งครอบครัวที่นี่ได้

ชิโกคุ ครั้งแรก (5)

ระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังสาธิตวิธีการทำกระดาษ พลางนึกถึงสมัยเด็กตอนทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องการทดลองทำกระดาษ ฉันจึงพอมีความเข้าใจกระบวนการอยู่บ้าง ทำให้ยิ่งรู้สึกตื่นเต้นที่ได้มาทดลองทำกระดาษญี่ปุ่นแบบนี้ ก่อนอื่นเขาให้ทุกคนเขียนชื่อบนกระดาษเพื่อนำไปติดบนเก้าอี้ที่จะใช้วางกระดาษที่เราทำ อุปกรณ์สำคัญคือบล็อกไม้สำหรับชอนกระดาษ มี 2 ชิ้นด้วยกันชิ้นบนเป็นบล็อกไม้แบ่งเป็นล็อกๆ เพื่อแบ่งกระดาษเป็นแผ่นเท่าขนาดโปสการ์ด ขั้นตอนแรกกวนเยื่อกระดาษในน้ำให้แตกออกจากกันแล้วนำบล็อกไม้ชอนเยื่อกระดาษในบ่อขึ้นมา เขย่าๆ เพื่อกรองน้ำออก เสร็จแล้ววางพักไว้เก็บความเรียบร้อยไม่ให้มีกระดาษติดอยู่ตรงบล็อกไม้ด้านบน แล้วตั้งบล็อกไม้เข้าหาตัวเอียงประมาณ 45 องศา นับไป 5 วินาที ตั้งวางไว้แล้วดึงบล็อกไม้ด้านบนออก จากนั้นตั้งบล็อกไม้เอียงเท่าเดิมหันออกไปด้านนอก สุดท้ายนำไปคว่ำลงบนเก้าอี้ ตอนนี้กระดาษที่เห็นอยู่ตรงหน้า ลักษณะเป็นโปสการ์ด 2 แถว แถวละ 4 แผ่น มีดอกไม้ใบไม้สดจัดเตรียมไว้สำหรับตกแต่ง ขั้นตอนต่อจากนี้ก็แล้วแต่ความสร้างสรรค์ของแต่ละคน พออ่านแล้วสามารถลองทำเองดูที่บ้านได้เลย วิธีการง่ายแสนง่ายแต่วัตถุดิบคุณภาพไม่เหมือนกัน ถ้าอยากสัมผัสแบบออริจินอลต้องมาลองด้วยตัวเองที่นี่ รอกระดาษแห้งประมาณครึ่งชั่วโมง ในระหว่างนี้เราสามารถเดินเล่นดูรอบๆ หมู่บ้านหัตถกรรม ดูแกลลอรีโซนด้านหลังก็น่าสนใจดี หรือจะข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามก็สามารถเห็นธารสายน้ำนิโยะโดะ ถ่ายรูปชมวิวได้ แต่ในโปรแกรมของเรา เจ้าหน้าที่จะพาไปชมวิวแม่น้ำนิโยโดะที่สะพานแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านหัตถกรรมอยู่แล้ว

ชิโกคุ ครั้งแรก (5)

แม่น้ำนิโยโดะเป็นแม่น้ำสีฟ้าใสบริสุทธิ์ มีความยาวเป็นลำดับที่ 3 ของภูมิภาคชิโกคุ รองมาจากแม่น้ำชิมันโตะ และแม่น้ำโยชิโนะ มีต้นกำเนิดจากภูเขาอิชุซุรุซึ่งเป็นภูเขาสูงที่สุดในฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น โดยไหลผ่านจังหวัดเอฮิเมะและโคจิ ที่เราเห็นตามทางระหว่างที่นั่งรถผ่านมานั่นเอง เมื่อช่วงเช้าที่ไปน้ำตกนาคัตสึ แม่น้ำที่ไหลมาจากน้ำตกก็เป็นหนึ่งในสายน้ำที่ไหลรวมกับแม่น้ำนิโยโดะเช่นกัน แม่น้ำนิโยโดะขึ้นชื่อเรื่องสีของน้ำและความใสบริสุทธิ์ ยิ่งเป็นช่วงฤดูร้อนแม่น้ำก็ยิ่งมีสีฟ้าชัดเจน จุดชมวิวแห่งนี้ เป็นเพียงสะพานคอนกรีตขนาดความกว้างเท่ารถญี่ปุ่นคันเล็กๆ หนึ่งคันผ่านได้เท่านั้น และมีส่วนที่ยื่นออกมาเหมือนเป็นที่ที่เราสามารถยืนถ่ายรูปได้หรือเอาไว้ยืนตกปลาก็ได้ ในระหว่างเดินบนสะพานมีรถสวนมาพอดี พวกเราจึงต้องไปหลบตรงส่วนที่ยื่นออกไปด้านข้างของสะพาน ก็เลยเข้าใจแล้วว่าการทำพื้นที่ด้านข้างยื่นออกไปแบบนี้ก็เพื่อหลบรถนี้เอง รถจะได้ผ่านไปได้อย่างสะดวกและไม่เบียด
เราตกน้ำไปเสียก่อน สะพานชมวิวแห่งนี้ไม่มีอะไรมาก เป็นจุดเที่ยวคั่นเวลาเดินเล่นกินลมชิลๆ ระหว่างรอกระดาษแห้ง

ชิโกคุ ครั้งแรก (5)

กลับมารับผลงานกันก่อนที่จะวิ่งตรงไปที่ตัวเมืองโคจิ ตอนนี้ไกด์ทำหน้าที่เหมือนคุณครูขานชื่อแต่ละคนเพื่อมารับผลงานชิ้นเอกของตัวเอง กระดาษโปสการ์ดจะใส่ซองไว้อย่างดี พอได้เห็นผลงานของตัวเองก็ชื่นใจ แม้บางแผ่นไม่ได้ตั้งใจใส่รายละเอียดอะไรมาก กลับออกมาดีกว่าที่คิด บางแผ่นตั้งใจทำสุดๆ แต่ออกมาแล้วดูแปลกๆ แต่กระดาษดูดีมีราคาฉีกขาดยาก ถึงจะตกแต่งไม่ได้สวยงามนัก ภาพรวมก็ยังออกมาดูดี ฉันคิดว่าโปสการ์ดที่ทำด้วยมือพร้อมคำอวยพร หรือเรื่องราวที่เขียนด้วยใจ เป็นเหมือนของขวัญที่มีมูลค่าเหมาะที่จะส่งต่อให้กับผู้รับ แม้จะเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่งแต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่น่าเชื่อว่าใยพืชเส้นบาง ผสานด้วยน้ำ จับกลุ่มเป็นก้อน ผนึกเป็นแผ่น จะกลายมาเป็นเครื่องมือสำหรับจดบันทึกที่เชื่อมโยงมนุษย์ถึงกัน หากในอดีตไร้ซึ่งการจดบันทึก เราคงไม่รู้เรื่องราวและเหตุการณ์ที่ผ่านมา แม้กระทั่งรากเหง้าของอารยธรรม ทุกอย่างที่หล่อหลอมมาเป็นเราในปัจจุบัน

ชิโกคุ ครั้งแรก (5)

รถกำลังวิ่งตรงเข้าเมืองโคจิ โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที สถานที่ต่อไป คือ ตลาดฮิโรเมะ แต่เนื่องจากแถวตลาดไม่มีที่จอดรถจึงต้องมาจอดรถบริเวณปราสาทโคจิ เราจึงได้มีโอกาสเดินผ่านปราสาทโคจิ ซึ่งเป็น 1 ใน 12ปราสาทดั้งเดิมที่ยังหลงเหลืออยู่ เช่นเดียวกับปราสาทมัตสึยาม่าของจังหวัดเอฮิเมะ มีความพิเศษตรงที่ตัวปราสาทถูกสร้างเอาไว้เป็นทั้งป้อมปราการและเป็นที่พักอาศัยของผู้ปกครองแคว้น ภายในจึงได้รับการออกแบบและตกแต่งต่างจากปราสาทอื่นๆ แต่น่าเสียดายที่เราทำได้แค่เดินผ่านและถ่ายรูปหน้าทางเข้าเท่านั้น เพราะตามตารางไม่มีเวลาพอที่จะขึ้นไปถึงตัวปราสาทได้ และถ้าขึ้นไปก็จะไม่ทันมื้อเย็นที่จองไว้แน่นอน ตรงข้ามปราสาทมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปราสาทโคจิด้วย ด้านนอกออกแบบทันสมัยดูดีเลยแหละเดินจากปราสาทมาหน่อยเดียวก็มาถึงยังตลาดฮิโรเมะ ตลาดที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนโคจิ