posttoday

สืบค้น ทวงคืน เยียวยา (City Renewal 11)

06 มกราคม 2562

โดย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]

โดย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]


ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี ครอบครัวขุนนางหรือผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ต่างได้บันทึกลำดับวงศ์ตระกูล (สาแหรกตระกูล) ไว้เป็นหลักฐาน บันทึกนั้น เรียกว่า “จกโบ족보” ซึ่งเป็นมรดกทางเอกสารชิ้นสำคัญที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นแล้วรุ่นเล่า ส่งผ่านต่อกันมาทางฝ่ายชายของตระกูล โดยพี่ชายคนโตจะทำหน้าที่ดูแลรักษาต้นฉบับ “จกโบ” ที่บันทึกเทือกเถาเหล่ากอของวงศ์ตระกูลแต่ละรุ่น เพื่อส่งต่อไปยังลูกหลานในอนาคต

ทั้งนี้ การบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลแรกในเอเชียเกิดขึ้นในดินแดนจีนในยุคสามก๊ก (ช่วงปี 220-280) ที่มีการปกครองเขตแดนย่อยต่างๆ โดย 6 ราชวงศ์ จึงจำเป็นต้องจัดทำบันทึกสายเลือดของราชวงศ์ไว้ ส่วนบันทึกลำดับวงศ์ตระกูล “จกโบ” แรกแห่งประวัติศาสตร์เกาหลีคือ “วางแดจงโร๊ก” (왕대종록) บันทึกสายเลือดราชวงศ์โคเรียวซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1146-1170 ...ในยุคโคเรียวนั้น บรรดาขุนนางที่เรียกว่า “ยางบาน” ถือว่าการรักษาวงศ์ตระกูลมีความสำคัญยิ่งเท่าชีวิต ตระกูลใดที่มีอำนาจในเวลานั้น สันนิษฐานได้ว่ามีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในราชการอยู่ในสาแหรกตระกูล เมื่อเข้ายุคโชซอน ครอบครัวชนชั้นสูงต่างต้องทำ “จกโบ” ไว้ทั้งสิ้น

หากไม่มีจกโบจะเป็นอย่างไร ...จกโบเหมือนเอกสารยืนยันสิทธิต่างๆ ที่ได้มาเมื่อเกิด เช่น ยืนยันได้ว่าตนเองเป็นลูกบ้านนี้จริงและที่ดินที่อาศัยอยู่ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษมาเป็นของตนจริง ในอดีตคนธรรมดาชั้นไพร่และทาสแทบจะไม่มีนามสกุลจึงไม่มีจกโบ และไม่สามารถสอบ “ควา-กอ” (จอหงวน) ได้ ...แม้แต่ “ชนชั้นไฮบริด” บิดามารดาต่างชนชั้น เช่น บิดาเป็นชนชั้นขุนนาง แต่มารดาเป็นทาส ก็ไม่อาจรับรองให้มีชื่ออยู่ในจกโบได้ “ลูกไฮบริด” ก็จะไปสอบ “ควากอ” ไม่ได้เช่นกัน ...ยิ่งไปกว่านั้น หากยืนยันไม่ได้ว่าตนเองเป็นลูกหลานตระกูลไหน เคราะห์หามยามร้าย อาจถูกลากตัวไปเป็นทาสหลวงของทางการเลยก็มี

สืบค้น ทวงคืน เยียวยา (City Renewal 11)

ด้วย “จกโบ” นี้ แต่ละครอบครัวจะสามารถสืบย้อนชื่อบรรพบุรุษตนขึ้นไปได้หลายสิบชั้น เช่น “จกโบ” ของตระกูลอี (이) แห่งเมืองคยองจู สามารถย้อนรอยอดีตขึ้นไปกราบไหว้ชื่อบรรพบุรุษได้ถึง 37 ชั่วคน “จกโบ” ยังระบุถิ่นกำเนิดของต้นตระกูลว่ามาจาก หมู่บ้านใด เมืองไหน ซึ่งจะบ่งชี้ความเป็นญาติเกี่ยวพันกันของคนในหมู่บ้านนั้นๆ เมื่อญาติพี่น้องกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ “จกโบ” จึงเป็นเหมือนข้อความสั่งเสียของบรรพบุรุษที่คอยย้ำเตือนให้แก่คนในรุ่นต่อๆ มาว่าต้นตระกูลเรามีรากเหง้ามาจากที่ไหน...

ทุกๆ 70-100 ปี “จกโบ” จะถูกคัดลอกใหม่เพื่อทดแทนกระดาษที่เก่าขาดและหมึกที่ซีดจางลง แต่เล่มกระดาษที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏหลงเหลือมาทุกวันนี้ ชื่อว่า “ซองฮวาบู” ของตระกูลควน จากเมืองอันดงที่ยังคงเป็นรูปเล่มหนังสือเขียนมือตั้งแต่ปี 1476 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เล่มต่อมาเป็นของตระกูลยูจากเมืองมุนฮวา เขียนในปี 1565 ซึ่งในช่วงนี้น่าจะเป็นยุคที่จุดกระแสนำให้ตระกูลต่างๆ เริ่มเก็บบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลของตนเองตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ดเป็นต้นมา

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับลูกสาว...ในอดีตเชื่อว่า ลูกสาวเกิดมาสุดท้ายก็ต้องย้ายไปเป็นคนบ้านอื่น ดังนั้น “จกโบ” จะบันทึกเฉพาะชื่อลูกชายเท่านั้น ชื่อผู้หญิงจะปรากฏขึ้นภายหลังเมื่อแต่งงานเข้าบ้านเป็นภรรยาของบ้านอื่น ดังนั้น ลูกสาวบ้านนี้ เมื่อแต่งงานออกไปก็จะไปมีชื่ออยู่ใน “จกโบ” บ้านสามีเท่านั้น บางบ้านยังบันทึกจกโบว่า ลูกสะใภ้มาจากบ้านไหน แต่งเข้ามาเมื่อไร ตอนมาเอาข้าทาสบริวารและทรัพย์สินมาเท่าไรด้วย จากเรื่องราวปลีกย่อยในครอบครัวนี้ ทำให้นักประวัติศาสตร์สามารถแกะรอยสภาพสังคม การเมืองและเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ ได้ จกโบ จึงเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญยิ่งของเกาหลี

สืบค้น ทวงคืน เยียวยา (City Renewal 11)

ยิ่งบรรพบุรุษในอดีตขยันเขียนมากเท่าไร ยิ่งมีจำนวนเล่มมากเท่านั้น บางตระกูลอาจมี “จกโบ” เกินกว่าสิบเล่ม ความรู้สึกหวงแหน “จกโบ” อันเป็นมรดกของครอบครัวจืดจางลงไปในช่วงพัฒนาประเทศระยะ 30 ปีก่อน แต่กลับมาเข้าสู่ “เทรนด์ใหม่” อีกครั้งไม่นานมานี้ เมื่อความเจริญทางวัตถุมากขึ้น ชาวเกาหลีเริ่มต้องการความสุขทางใจ และเริ่มค้นคว้าหารากเหง้าของตนเอง ปัจจุบันนี้จึงเกิดกระแสสืบค้นบรรพบุรุษที่ใช้เทคโนโลยี Big Data เข้ามาช่วย

100 ปีก่อนนี้ บรรพบุรุษของชาวเกาหลีจำนวนมากได้เสียสละชีวิตเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และพยายามรักษาประเทศชาติไว้แม้ไม่สำเร็จก็ตาม ชื่อบุคคลผู้รักชาติเหล่านี้บันทึกอยู่ในจกโบ ลูกหลานยังสามารถพูดคุยด้วยความ
ภาคภูมิใจได้ เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่คุณทวดเป็นนักกู้ชาติก็ยังเล่าให้ฟังว่า ตอนหนุ่มๆ ไปสมัครงานที่ไหนก็เอาหลักฐานนี้ไปเป็นพลังเสริมในการสอบแข่งขันในฐานะลูกหลานของขบวนการกู้ชาติเกาหลี และได้คะแนนพิเศษมาจริงๆ ด้วย

แต่สำหรับลูกหลานของ “ผู้ทรยศชาติทั้ง 5” ที่ทำให้เกาหลีสูญเสียเอกราชต่อญี่ปุ่นนั้น คงไม่สามารถจะพูดอะไรได้ ในปี 2007 รัฐบาลเกาหลีได้จัดคณะทำงานสอบสวนย้อนหลัง และพบลูกหลานของผู้ที่ทำงานรับใช้จักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงยึดครองเกาหลีนับร้อยคน เมื่อสืบสวนต่อไปพบว่า ตระกูลเหล่านี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีเทียบกับค่าเงินปัจจุบันนับพันล้านวอน ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีจึงได้ออกกฎหมายพิเศษ ยึดคืนที่ดินจากลูกหลานที่สืบสายเลือดมาตาม “จกโบ” ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 4,000 ล้านบาท เพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินกลับไปเยียวยาแก่ลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากผู้รักชาติที่เสียสละชีวิตต่อสู้ญี่ปุ่น...

นี่ล่ะค่ะ ความสำคัญของ “จกโบ” แม้เหตุการณ์ผ่านมา 100 ปี ก็ยังตามสืบค้น หาคนได้... เกาหลีขึ้นชื่อว่าทำจริง ไม่เกรงหน้าใครแม้ประธานาธิบดีก็ติดคุกมาหลายคนแล้ว ตามยึดทรัพย์ร้อยปีมีหรือจะทำมิได้