posttoday

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

15 ธันวาคม 2561

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ 

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ 


ใครจะคิดว่าห่างจากกรุงเทพฯ แค่ 4 กม. จะมีวิถีชีวิตชนบทและพื้นที่เกษตรให้เห็นและเรียนรู้ ที่นี่คือ “ชุมชนบ้านศาลาดิน” ริมคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม คลองซึ่งครั้งหนึ่งเคยเน่าเสีย แต่วันนี้ฟื้นกลับมาใสสะอาดด้วยความร่วมมือของชาวบ้าน และช่วยกันต่อยอดสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน

กำหนดเส้นทางล่องเรือเที่ยว 5 จุดในวันเดียว โดยสัปดาห์ที่แล้วเล่าถึง 2 จุดคือ เรียนรู้วิถีชาวนาบัวที่นาบัวลุงแจ่ม และถ่ายรูปสนุกที่นากล้วยไม้ป้าสร้อย ขอเรียกชื่อเล่นๆ ว่าเป็นเส้นทางสายดอกไม้

ส่วนวันนี้จะเป็นเส้นทางสายอาหาร สวนเกษตร และการแปรรูป รวมอีก 3 จุดให้เป็นไอเดียเรื่องอาหารและให้อิ่มหนำสำราญกับอาหารปลอดภัย

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

วันชัย สวัสดิ์แดง ชาวบ้านชุมชนศาลาดินและไกด์ท้องถิ่น เล่าว่า ชาวบ้านได้นำทุกอย่างที่เป็นวิถีชีวิตเข้าสู่ระบบการจัดการและทำเป็นการท่องเที่ยวชุมชน

“ทุกคนมาร่วมมือฟื้นคลองและร่วมทำท่องเที่ยวชุมชน เพราะผลประโยชน์ เราต้องอย่าโลกสวยว่าทุกคนมาช่วยกันเพื่อชุมชน เพราะที่สำคัญที่สุดคือ ผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ ทุกคนเปิดรับนักท่องเที่ยวเพราะจะได้เงินจากการท่องเที่ยว”

วันชัยเผยด้วยว่า “ชุมชนศาลาดินยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียว คือ ห้ามสร้างตึกสูงอย่างโรงแรม รีสอร์ท และคนที่มาอยู่ที่นี่ต้องทำการเกษตรเท่านั้น รวมถึงผู้สืบทอดก็ต้องสืบต่อพื้นที่การเกษตรไปชั่วลูกชั่วหลาน และไม่สามารถซื้อขายได้”

เรือติดเครื่องแล่นออกจากท่านากล้วยไม้ป้าสร้อยเมื่อสัปดาห์ก่อน มุ่งหน้าสู่บ้านฟักข้าวที่อยู่ริมคลอง เมื่อเข้าใกล้พออาจได้ยินเสียงแหล่ลอยมาฟัง

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

แหล่ฟักข้าว

“ป้าจิ๋ม” เดิมเป็นหมอทำขวัญและเป็นเจ้าของบ้านฟักข้าว หลังจากปี 2554 ป้าจิ๋มลองปลูกฟักข้าวปล่อยให้เลื้อยบนหลังคา จากนั้นก็ได้เรียนรู้วิธีทำน้ำฟักข้าว ทำขายอยู่ 2 ปี จนกระทั่งปี 2558 มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลเข้ามาช่วยสอนแปรรูป และเมื่อมีความรู้ก็สามารถแปรรูปฟักข้าวเป็นสบู่ โลชั่น หมี่กรอบ คุกกี้ แยม ขนมปัง กวนหยี แช่อิ่ม และซอสเย็นตาโฟ โดยทั้งหมดทำขายได้ในเวลาแค่ 1 ปี

ขนิษฐา พินิจกุล ลูกสาวป้าจิ๋มเล่าต่อว่า เธอรับฟักข้าวจากชาวบ้านอีก 3 สวนมาแปรรูป รับซื้อสัปดาห์ละ 30-40 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนมากพอจนเหลือใช้ ให้แกะเก็บเยื่อฟักข้าวแช่แข็งไว้ขายคนที่ต้องการนำไปแปรรูป

“นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมสวนจะได้เห็นลูกฟักข้าวของจริงแน่นอน และจะได้ชิมน้ำฟักข้าว ชิมหมี่กรอบฟักข้าวสูตรกินแล้วไม่เหนียวติดฟัน ส่วนก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟฟักข้าว เราใช้เยื่อฟักข้าวแทนการใช้สีใส่เย็นตาโฟ ทำขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น” ขนิษฐา กล่าวต่อ

“ข้อดีของฟักข้าวคือ แม้จะผ่านความร้อนก็ยังไม่สูญเสียสารอาหาร อย่างน้ำมะนาวถ้าผ่านความร้อนจะทำให้วิตามินซีเป็นศูนย์ แต่สำหรับฟักข้าวถ้าผ่านความร้อนสารเบต้าแคโรทีนจะยิ่งเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ เมื่อมาถึงบ้านฟักข้าวแล้ว ต้องได้ฟังแหล่ฟักข้าวที่อาจารย์มหิดลเขียนให้ป้าจิ๋มโดยเฉพาะ เสียงทรงพลังของหญิงวัย 73 ปีก้องกังวานไปทั่วคุ้งน้ำ จับสาระสำคัญของเพลงแหล่ได้ว่า ผลฟักข้าวมีทรงรี มีหนามอ่อน ผลอ่อนนำไปจิ้มน้ำพริก ผลแก่ใช้เยื่อมายีปั่นเป็นน้ำคั้นฟักข้าว ส่วนใบใช้ทำยาเขียวไว้ถอนพิษ ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณบำรุงปอดและหลอดลม และรากสามารถนำไปต้มแก้เสมหะชนะภัย

ก่อนกลับซื้อน้ำฟักข้าวบรรจุขวดดื่มแก้กระหายและเพิ่มวิตามินซีให้ร่างกาย ก่อนไปจุดต่อไปที่สวนผลไม้และชิมเมี่ยงกลีบบัว

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

สวนผลไม้ อีแต๋นซิ่ง

ตั้งแต่ทางเข้าสวนมีภาพ บุญเลิศ สวัสดิ์จุ้น ควบรถอีแต๋นท่าทางเฟี๊ยวฟ๊าว ดูจากภาพทำให้นึกถึงชื่อเสียงที่ได้ยินมา ถ้าใครมาคลองมหาสวัสดิ์แล้วไม่ได้ขึ้นรถอีแต๋น ถือว่ามาไม่ถึง!

สวนลุงบุญเลิศมีพื้นที่ 80 ไร่แบ่งเป็นสวนผลไม้ 40 ไร่ และข้าวอีก 40 ไร่ ปลูกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งและพันธุ์ทองดี มะม่วง ขนุน มะปราง กระท้อน ลองกอง กล้วย หมาก มะนาว มะพร้าว ซึ่งทั้งหมดเพิ่งปลูกใหม่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ของขึ้นชื่อต้องยกให้ส้มโอที่ปีนี้เพิ่งให้ผล ซึ่งบุญเลิศมั่นใจว่ารสชาติจะเหมือนเดิม แต่ยังไม่หวานเจี๊ยบเท่าเดิมเพราะต้นยังสาว

“ส้มโอต้องปลูก 10 ปีขึ้นไปถึงรสหวานและเปลือกบาง” บุญเลิศกล่าว และเล่าต่อว่า ก่อนน้ำท่วมเขาขายผลไม้ส่งออกเมืองนอกทำให้ต้องใช้ยาฆ่าแมลง เพราะต้องเน้นผิวสวยถึงได้ราคา แต่หลังจากปลูกใหม่ บุญเลิศเลือกทำเกษตรปลอดสาร ขายหน้าสวน และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนไฮไลต์ของการท่องเที่ยวคือ ลุงบุญเลิศและรถอีแต๋นของเขา

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

ลุงบุญเลิศนั่งตำแหน่งคนขับ ส่วนนักท่องเที่ยวนั่งบนรถพ่วง บรรทุกได้ครั้งละ 10 คน เริ่มสตาร์ทจากหน้าสวน ดริฟต์โค้งแรกผ่านสวนมะม่วง บิดคันเร่งเพิ่มความเร็วจนภาพเบลอ ก่อนหักโค้งอีกครั้งเข้าทุ่งนา จุดนี้ทำความเร็วได้ไม่มากเพราะทางเป็นดินขรุขระจนสุดคันนา จากนั้นลุงหักหัวอีแต๋นฉับพลัน ตัวกระโดดลงจากรถไปบังคับแฮนด์ บิดเป็นครึ่งวงกลมกลับรถ แล้วกระโดดขึ้นตำแหน่งเดิมอย่างช่ำชอง

ส่วนขากลับเหมือนลุงบุญเลิศไม่สะใจกับเสียงกรี๊ด บิดคันเร่งเต็มแรง บึ่งเข้าสวนมะม่วงทางเดิมเต็มสูบ ก่อนเลี้ยวหักซอกเข้าซองจอดอย่างสวยงามเข้าใจแล้วว่าทำไมถ้าไม่ได้ขึ้นอีแต๋นจะเหมือนมาไม่ถึงคลองมหาสวัสดิ์ เพราะที่นี่น่าจะเป็นหนึ่งเดียวในไทยที่มีลีลาขับอีแต๋นได้เสียวไส้เท่านี้

นอกจากนั่งรถอีแต๋น สวนลุงบุญเลิศยังมีเมี่ยงกลีบบัวให้ลิ้มลอง มีเครื่องเคียงเหมือนเมี่ยงทั่วไป แต่ใช้กลีบบัวที่ปลูกแบบปลอดสารพิษแทนใบชะพลู กลายเป็นอาหารโอท็อปของคลองมหาสวัสดิ์ พร้อมมีบรรจุกล่องขายโดยมีวิธีให้ความชื้นกับดอกบัวคงความสดใหม่ ขายได้ราคากว่าเมี่ยงทั่วไปถึง 5 เท่า

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

ข้าวตังเกวียนละ 8 แสน

เรือมาสิ้นสุดที่ท่าตลาดน้ำบ้านศาลาดิน จุดนี้มีสาธิตทำข้าวตังไรซ์เบอร์รี่ ซึ่งเป็นวิธีเพิ่มมูลค่าข้าวสารให้ได้เกวียนละถึง 8 แสนบาท

วันชัยอธิบายว่า ข้าวสาร 1 เกวียน ขายได้เกวียนละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวสาร 1 กก. ทำข้าวตังได้ 400 แผ่น ขายได้แผ่นละ 2 บาท เท่ากับข้าวสาร 1 กก. ทำเงินได้ 800 บาท และเมื่อข้าวสาร 1 เกวียนมี 1,000 กก. ดังนั้นข้าวสาร 1 เกวียนจะสามารถทำเป็นข้าวตังได้เงินมากถึง 8 แสนบาท และเมื่อนำมาใส่กล่องให้สวยงามก็จะเพิ่มมูลค่าเป็นเกวียนละ 1.3 ล้านบาท เพิ่มมูลค่ามากถึง 90 เท่า ซึ่งแน่นอนว่า ทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น

“ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่นี่ปลูกแบบอินทรีย์ เป็นข้าวที่วิจัยโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เรียกว่าเป็นข้าวประจำจังหวัดนครปฐมเลยก็ว่าได้ ซึ่งนอกจากจะขายเป็นข้าวสารแล้ว เรายังมาทำข้าวตัง ซึ่งแต่โบราณชาวบ้านจะนำข้าวที่หุงติดก้นหม้อมาโรยน้ำอ้อยน้ำตาลกินเล่น

จนมีการประยุกต์ให้เป็นของกินเล่น มีหน้าหมูหยอง หน้างา ผลิตขายกันในชุมชน โดยนักท่องเที่ยวที่มาล่องเรือกับเราสามารถชิมได้ไม่อั้น และหลังจากชิมแล้วก็ติดกับเรา ต้องซื้อไปฝากคนที่บ้านทุกราย” วันชัยกล่าวไปหัวเราะไป

คลองมหาสวัสดิ์อิ่มแปล้ ชิมของแท้จากสวน

นอกจากนี้ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ยังมีตลาดน้ำบ้านศาลาดิน เป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านริมคลองมหาสวัสดิ์มาขายสินค้าการเกษตรที่ปลูกแบบปลอดสารพิษ

“เรามีข้อตกลงกับชาวบ้านว่า สินค้าที่นำมาขายห้ามไปซื้อมาจากตลาด แต่ต้องปลูกเองที่บ้าน วันจันทร์ถึงพฤหัสฯทำเกษตร วันศุกร์เก็บผลผลิต วันเสาร์และอาทิตย์นำมาขาย จากนั้นวันจันทร์นำเงินไปฝาก ธ.ก.ส.” วันชัย กล่าวทิ้งท้าย

รวมทั้งมีร้านอาหารกินง่าย ราคาไม่แพง ให้มาฝากท้องและซื้อหาของฝาก ให้ความรู้สึกเหมือนไปเที่ยวต่างจังหวัดไกลๆ แต่แท้จริงอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ นิดเดียว