posttoday

เที่ยวคลอง ล่องคู ดูธรรมชาติ ที่สมุทรสงคราม

17 พฤศจิกายน 2561

จ.สมุทรสงคราม เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครไม่รู้จัก

จ.สมุทรสงคราม เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อ ตลาดน้ำอัมพวา ตลาดร่มหุบ และดอนหอยหลอด เพราะสถานที่เหล่านี้ เป็นปลายทางท่องเที่ยวขึ้นชื่อของสมุทรสงครามมาช้านานแล้ว

แต่ถ้าเอ่ยชื่อชุมชนคลองไข่เน่าโปร่งล่ะ คุณรู้จักไหม ถ้ายังไม่รู้จักชุมชนนี้ เพราะเดิมทีชุมชนนี้ก็ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่น แต่หลังจากพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีการดึงเอาเสน่ห์ของชุมชนมาดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่นี่ จึงไม่ใช่ที่ที่จะมองข้ามอีกต่อไป!

ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ดำเนินงานภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ประชาชน​ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คนในพื้นที่ รู้จักดึงเอาเสน่ห์ออกมาสร้างเป็นรายได้ พร้อมทั้งช่วยพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น

จุดเริ่มต้นที่จะสัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชนคลองไข่เน่าโปร่ง ก็คือ ตลาดน้ำบางน้อย

คุณเบญจมาศ วงษ์สุวรรณ พัฒนาการจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เล่าให้ฟังว่า ตลาดน้ำบางน้อย ต่างจากที่อื่น มีความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นดั้งเดิมของชุมชน มีการดึงเสน่ห์ในชุมชนเอามาปรับปรุงใหม่ ก่อให้เกิดรายได้ หรือเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP ดึงคนจากแอ่งท่องเที่ยวใหญ่ เข้ามาเที่ยวแอ่งเล็ก เพราะ จ.สมุทรสงคราม มีอะไรอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ มีอาหารพื้นบ้านที่อยากให้เข้ามาชิม

เมื่อโครงการนี้สำเร็จ ชุมชนก็ไม่ต้องไปขายของข้างนอก สามารถตั้งหลักอยู่ที่ชุมชนของเขาเองได้ กลับมาอยู่รวมกัน มาช่วยกันผลิต มาช่วยกันจำหน่าย ส่งเสริมให้ในชุมชนเรามีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประชาชนของเรามั่งคั่ง ยั่งยืนได้

มีคำพูดเล่นๆ ว่า มีเงิน 10 บาท มาเดินตลาดนี้ก็อิ่มได้ อย่างเช่นมีผักถ้วยละ 10 บาท มะนาวทั้งจานก็ 10 บาท ผักมัดใหญ่ 5 บาท กล้วยหวีละ 10 บาท ข้าวหมากห่อละ 5 บาท ขายในราคาถูก พ่อค้าแม่ค้าก็คือชาวบ้านมีน้ำใสใจจริง ยิ้มแย้มแจ่มใส

เที่ยวคลอง ล่องคู ดูธรรมชาติ ที่สมุทรสงคราม

ถ้ามาที่นี่ ชิลๆ เดินเล่นสบายๆ แล้วก็ซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน ได้สัมผัสบรรยากาศแบบเป็นลูกทุ่งๆ แบบชาวบ้านๆ แล้วก็ในชุมชนแท้ๆ ที่จอดรถก็สะดวก

คุณลาวัลย์ เชิดชู รองประธานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของตลาดน้ำบางน้อย กล่าวว่า ชุมชนตลาดน้ำบางน้อยเป็นย่านธุรกิจทางน้ำเก่าแก่กว่า 100 ปี แต่พอมีถนนหนทาง คนใช้รถมากขึ้น เศรษฐกิจทางน้ำก็ซบเซาไป แต่ต่อมา ชุมชนก็มีความคิดอยากฟื้นฟูบรรยากาศเก่าๆ ของตลาดนี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของโครงการ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่ดำเนินการภายใต้โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืนของรัฐบาล ตลาดแห่งนี้จึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

สมัยก่อนนี้ ตลาดน้ำบางน้อย เป็นหนึ่งในตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้หลักของ อ.บางคนที ชาวสวน ชาวไร่ มักจะเอาผลผลิตทางการเกษตร บรรทุกมาทางเรือ เพื่อมาส่งที่นี่ จึงเป็นที่รู้กันว่า ใครอยากได้ของสดๆ อยากได้ของคุณภาพดีและราคาถูก ก็ต้องมาที่ตลาดนี้ แม้ว่าทุกวันนี้สินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งตรงขึ้นรถไปตลาดค้าส่งในกรุงเทพฯ แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเกษตรกรรายย่อยอีกไม่น้อยที่ยังนิยมนำผลผลิตมาวางขายที่ตลาดแห่งนี้ คนที่ไม่ได้มีสวน-มีไร่ขนาดใหญ่ แต่มีผลผลิตเหลือกิน เหลือใช้ ก็เอามาวางขายที่ตลาดแห่งนี้ได้เช่นกัน บางคนไม่ได้มีอาชีพเป็นชาวสวน ชาวไร่ แต่อยากทำขนมขาย อยากเอาข้าวของมาขาย ก็ได้อีกเหมือนกัน

กล้วย 3 หวี 20 ถูกมาก!!! มะเฟืองลูกโตๆ ก็มี ไข่เค็มพอกดินใบเตย ผลไม้แช่อิ่ม ของที่วางขายที่นี่ ไม่ได้มีแค่ของสดที่เน้นราคาถูกเท่านั้น แต่หลายอย่างก็มีการแปรรูปเพื่อยืดอายุ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย

คุณนันทนา รัตนกร ประธานชุมชนท่องเที่ยว เล่าให้ฟังว่า หน้าฝนมะนาวได้ผลมาก เลยเอามาแปลงเป็นมะนาวดอง สืบทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นแม่ แล้วก็เอามาปรับประยุกต์ มะนาวดองที่เห็นอยู่นี้ เป็นหนึ่งในสินค้า OTOP ขึ้นชื่อของตลาดน้ำบางน้อย ที่นอกจากจะวางขายที่นี่แล้ว ยังส่งไปขายใน
จังหวัดอื่นๆ ด้วย แถมยังมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มผลิตสินค้า OTOP ของจังหวัดอื่น มาลงตัวที่โมเดลของการ “เอาของดีบ้านฉัน ไปขายที่บ้านเธอ แล้วเอาของดีบ้านเธอกลับมาขายที่บ้านฉัน” เป็นการเพิ่มโอกาส และกระจายรายได้ให้กว้างขึ้น

ไอศกรีมมะม่วงหาวมะนาวโห่ ก็มีเยอะที่บางคนที เดิมนั้นรสเปรี้ยวมาก แต่พอมาทำเป็นไอศกรีมก็อร่อย รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย

ไฮไลต์ที่นี่ไม่ได้มีแค่ของสด ของถูกเท่านั้น เพราะของอร่อยๆ ที่นี่ก็มีเพียบ ป้าสุนี วิไล ขายขนมสลัดงา บอกว่า ขนมโบราณมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ราคาชิ้นละ 2 บาท ห่อใบตอง ใช้ไม้กลัด แถมใส่ถุงกระดาษ ทำจากวัสดุเหลือใช้ ขายไปด้วย ร้องเพลงฉ่อยให้ลูกค้าฟังด้วย เรียกได้ว่า ขนมก็อร่อย เพลงฉ่อยก็ฟังเพลิน และที่เด็ดสุด คือ ราคาประหยัด อีกร้านคือขนมอัญชันให้ชิมฟรีเลยทีเดียว

เที่ยวคลอง ล่องคู ดูธรรมชาติ ที่สมุทรสงคราม

และอีกหนึ่งเมนูที่ใครมาบางน้อยแล้วต้องทาน ก็คือโรตีแต้จิ๋ว คุณเรณู อุทัยรัตนกิจเจ้าของร้านโรตีแต้จิ๋ว บอกว่า ได้สูตรมาจากอาม่า คนจีนเรียกหลัวะก้วย ซึ่งก็คือ ทอดแป้ง แต่พอทำขาย ก็ตั้งชื่อให้จำง่ายขึ้น เคล็ดลับความอร่อย อยู่ที่แป้ง น้ำตาลทรายแดง และถั่วคั่วสด ราคาขายแค่ 3 อัน 20 บาทเท่านั้น

คุณรัตนา อินทรโชติ ร้านก๋วยเตี๋ยวหลอดบางน้อย บอกว่าขายดีมาก ยังไม่ถึงเที่ยงก็จะหมดแล้ว ใครอยากลองชิม ถ้ามาถึงตลาดแล้ว ต้องตรงมาร้านนี้ก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวหมด ร้านใช้วัสดุธรรมชาติจากชุมชน ไม่เน้นวัสดุย่อยสลายยาก

คุณกัญญานัฎฐ์ อมรเทพ เล่าให้ฟังว่า การปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นหนึ่งในเรื่องที่ชุมชนแห่งนี้ให้ความสำคัญมานานแล้ว ทั้งเรื่องการเลือกใช้วัสดุย่อยสลายง่าย และการรีไซเคิลจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งฐานการเรียนรู้ สำหรับผู้ที่สนใจก็มีฐานการเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิล ตัวอย่าง เช่น กล่องน้ำ UHT มาสานตะกร้าได้ ถุงน้ำพาสเจอไรซ์ ทำเป็นกระเป๋าได้ ใครอยากมาเรียนรู้ก็ได้ แต่ต้องมีเวลาหน่อย

นอกจากเรื่องรีไซเคิลแล้ว ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอีกหนึ่งฐานการเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของชุมชน คุณประพีร์ภัรทร พิเสฐศลาศัย ฐานการเรียนรู้ พิพิธภัณณ์ตั้งเซียมฮะ หรือบ้านไหพันใบ บอกว่า ภาชนะเก่าแก่พวกนี้บอกเล่าเรื่องราวมากมาย มีภาชนะใส่น้ำตาลจำนวนมาก เพราะที่นี่ทำน้ำตาลมะพร้าวมาแต่อดีต มีไหจากเมืองจีนเยอะ เพราะชุมชนที่นี่เป็นคนเชื้อสายจีนมาก

อีกหนึ่งฐานฯ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนที่นี่ ก็คือการตกกุ้งแม่น้ำ คุณณรงค์ นิติสาขา บอกว่า อยากตกกุ้ง ต้องรู้นิสัยกุ้งก่อน แต่ละแบบก็จะมีวิธีสังเกตต่างกัน และสามารถนั่งเรือไปตกกุ้งกันได้เลย

หลังจากได้กุ้งแม่น้ำตัวโตๆ มาแล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือเอามาปรุงอาหาร แล้ววันนี้เราก็ทำเมนูพิเศษซึ่งเป็นเมนูพื้นเมืองของที่นี่ เรียกว่า แกงคั่วหัวปลี ใส่กุ้งแม่น้ำ หัวปลีก็นุ่ม เนื้อกุ้งแม่น้ำก็แน่น พริกแกงก็หอมๆ บวกกับรสชาติหวานมันของกะทิ ต้องบอกว่า อร่อยจนอยากจะห่อกลับไปกินต่อที่บ้านกันเลยทีเดียว

การทำเชือกกล้วย และงานประดิษฐ์จากเชือกกล้วย เริ่มต้นจากที่ชุมชนมีต้นกล้วยจำนวนมาก บวกกับคนชราไม่มีอะไรทำ เลยชวนกันมาทำ สมัยก่อนก็เคยใช้เชือกกล้วยกัน แต่ถูกแทนที่ด้วยวัสดุสังเคราะห์ จึงอยากนำเชือกกล้วยกลับมาใช้อีก เพราะย่อยสลายง่าย รูปแบบที่ทำในปัจจุบัน ก็เป็นกระเป๋า ที่ใส่ทิชชู่ ใส่แก้วเยติ กระเป๋าใส่ iPAD เด็กๆ ก็ฝึกทำ แถมทำได้ดีด้วย เป็นการปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักงานฝีมือ และรักษ์ธรรมชาติ แนวคิดนี้กำลังมาแรงเพราะทุกคนกำลังลดพลาสติก

เที่ยวคลอง ล่องคู ดูธรรมชาติ ที่สมุทรสงคราม

ที่ศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ต.กระดังงา ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดน้ำบางน้อย นิดเดียวเอง คุณธงชัย แสงบรรจง รองนายกเทศมนตรีตำบลกระดังงา บอกว่า ที่นี่มีพันธุ์ไม้ทุกอย่างให้เยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะละกอ ลองกอง ส้ม และอื่นๆ อีกเพียบ​ แถมยังมีผลไม้แปลกๆ มีไม้หายาก อีกหลายชนิดด้วย ใครอยากลองชิม เจ้าของสวนเขาก็ไม่หวง แถมปอกให้ชิมฟรีอีกต่างหาก

นอกจากพืชผักแล้ว สัตว์เลี้ยงก็มีทั้งปลาเป็ด กบ มีไส้เดือนที่เลี้ยงไว้ เพื่อนำไปทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ที่นี่เหมาะอย่างมากสำหรับการพาเด็กๆ มาเรียนรู้ธรรมชาติ และวิถีชนบท

ถึงตรงนี้ บางคนอาจจะมองว่า ที่ชุมชนตลาดน้ำบางน้อยแห่งนี้คงเหมาะสำหรับแม่บ้าน หรือคนสูงวัย เพราะไม่ต้องเดินไกล​ ไม่ต้องเบียดเสียดกัน แถมมีอาหารการกินราคาประหยัด ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ หรือบางคน อาจมองว่าตลาดน้ำแห่งนี้คงเหมาะกับการพาเด็กๆ มาเที่ยวเล่น เพราะจะได้เห็น ได้เรียนรู้อะไรแปลกๆ ใหม่ ที่หาดูไม่ได้ในเมือง

ที่จริงแล้วเหมาะกับทุกเพศทุกวัยเลยก็ว่าได้ เพราะแม้แต่วัยรุ่นสมัยใหม่ ที่อยากได้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ เป็นตัวของตัวเอง การมาเที่ยวเล่นที่นี่ หรือมานอนเล่นที่นี่ คือความเก๋ไก๋สุดๆ ใครที่ชอบใช้ชีวิตแบบแนวๆ ปล่อยตัวปล่อยใจ ไปกับธรรมชาติ มาที่นี่ ไม่ผิดหวังแน่

พอพระอาทิตย์ตก ก็อย่าเพิ่งรีบไปไหน เพราะบรรยากาศอีกแบบหนึ่ง กำลังเริ่มต้นขึ้น ที่สะพานข้ามคลองบางน้อย อุโมงค์ไฟระยิบระยับบนสะพานแห่งนี้ เหมาะกับการมานั่งรับลมเย็นๆ ชมแสงไฟสวยๆ แล้วถ่ายรูปเล่นเก๋ๆ

ยิ่งถ้าเป็นคู่รักด้วยแล้วละก็ มีมุมให้ถ่ายรูปเล่นสนุกๆ และสวยๆ อยู่หลายจุด เห็นแบบนี้แล้ว บางคนอาจจะได้ไอเดียสำหรับการถ่ายรูป Pre Wedding ไปด้วยเลย

ของถูก กิจกรรมสนุกๆ บรรยากาศสุดชิล คู่รักหวานแหวว ตลาดน้ำบางน้อย เป็นสถานที่สำหรับคนทุกเพศทุกวัยจริงๆ

เที่ยวคลอง ล่องคู ดูธรรมชาติ ที่สมุทรสงคราม

จะเห็นได้ว่า กิจวัตรประจำวัน หรือว่าวิถีชีวิตธรรมดาๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรของเรา แต่บางครั้งมันคือสิ่งที่สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว หรือว่าคนที่ได้มาเยือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละสามารถพัฒนาไปเป็นกิจกรรมท่องเที่ยว สามารถนำองค์ความรู้ หรือภูมิปัญญาที่มีอยู่ในการดำรงชีพทุกวันมาสร้างเป็นสินค้า ยิ่งถ้าใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป เอานวัตกรรมเข้ามาช่วย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมาย

แนวคิดแบบนี้กำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ชุมชนทั่วประเทศไทย ภายใต้ชุมชนที่ชื่อว่า ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ในรายการ โลก 360 องศา วันอาทิตย์นี้ หลังเคารพธงชาติ เวลา 08.00-08.30 น. ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32 HD