posttoday

เที่ยวสนุก สุขภาพดี ดูวิถีชุมชน

10 พฤศจิกายน 2561

เหตุผลอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนตัดสินใจไปเที่ยวเชียงใหม่คงเป็นเรื่องภูมิประเทศที่สวยงาม

เหตุผลอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนตัดสินใจไปเที่ยวเชียงใหม่คงเป็นเรื่องภูมิประเทศที่สวยงาม อากาศที่เย็นสบาย และวัฒนธรรมอันอ่อนช้อย งานหัตถศิลป์ งานหัตถกรรมของที่นี่ก็ขึ้นชื่อ มีสถานที่หลายแห่งที่มีความงดงามทางธรรมชาติ เช่น ดอยอ่างขาง ดอยผ้าห่มปก ห้วยน้ำดัง ดอยหลวงเชียงดาว ม่อนแจ่ม บ้านแม่กำปอง ผาช่อ​กิ่วแม่ปาน จนได้รับการโปรโมทให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่แล้วต้องไม่พลาด

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายสถานที่ที่มีดีไม่แพ้กัน แต่แค่ยังไม่ได้รับการโปรโมทให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้นเอง ซึ่งโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน นี่แหละ ที่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนท่องเที่ยวหน้าใหม่ได้มีโอกาสแจ้งเกิด

เจริญ สีวาโย หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์งานพัฒนาชุมชน ได้เล่าให้ฟังว่ายังอีกหลายชุมชนที่มีศักยภาพ ถ้าพูดถึงสันกำแพงคนก็จะนึกถึงบ่อสร้าง แต่พอเราได้เปิดโอกาสให้หมู่บ้านต่างๆ ได้แสดงศักยภาพขึ้นมาคนก็รู้จักกันมากขึ้น

บ้านป่าตาล ที่นี่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีมีหลากหลาย ถ้าได้มาเห็นสิ่งเหล่านี้แล้วทุกคนจะติดใจ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษาพูดก็เป็นเอกลักษณ์ของเขาเองตั้งแต่ดั้งเดิม หรือถ้าอยากกินอาหารของพี่น้องไทลื้อที่มาจากเมืองยอง เราก็จะได้รสชาติแท้ๆ การเดินทางก็ง่ายมาก ลงจากเครื่องบินแล้วก็ตรงมาได้เลย เดินทางแค่สิบกว่านาทีเท่านั้น ถ้าอยากหลีกเลี่ยงความจำเจในเมือง ต้องมาพักผ่อนที่บ้านป่าตาล ที่นี่มีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้มาพัก ได้มาสัมผัส ได้มาทำกิจกรรมร่วมกับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน

อันที่จริงแล้ว โครงการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน นี้ จะเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก อย่างแรกเลย คือ ถ้ามีคนมาเที่ยวในชุมชนมากขึ้นก็จะมีรายได้ ส่วนที่สอง คือ เรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดในชุมชน ช่วยลดการย้ายถิ่นฐาน หรือการออกไปทำมาหากินไกลบ้าน และส่วนที่สาม คือ ช่วยเรื่องการหวงแหนสิ่งแวดล้อมในชุมชน การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

คนในชุมชนบ้านป่าตาล เรียกตัวเองว่า“จาวยอง” มีความพยายามอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ ซึ่งสามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เป็นเสน่ห์ชุมชน เอื้อต่อการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีอีกด้วย

เที่ยวสนุก สุขภาพดี ดูวิถีชุมชน

วัดป่าตาล เป็นสถานที่ที่เราจะสามารถมาเรียนรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ก่อนนี้เรื่องราวของจาวยองถูกบอกเล่ากันปากต่อปาก มาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ต่อมา พระอาจารย์มงคล ฐิตมังคโล เจ้าอาวาสวัดป่าตาล เกรงว่าเรื่องราวจะผิดเพี้ยนหรือลบเลือนไป จึงได้รวบรวมคำบอกเล่า แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษากัน ตลอดจนคนในชุมชนเองก็มีความร่วมมือร่วมใจ ในการสืบสานวิถีจาวยอง ทำให้ที่นี่กลายเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น น่าเที่ยว น่าค้นหา และน่าเรียนรู้

พระอาจารย์มงคล อธิบายเพิ่มเติมว่าจาวยอง คือ ชาวยอง อันที่จริงแล้วก็คือคนไทลื้อที่อยู่เมืองยอง สมัยก่อนอยู่ที่เชียงตุง ได้อพยพมาอยู่ที่ลำพูน ตลอดจนถึงเชียงใหม่ วัฒนธรรมของจาวยองก็คล้ายๆ กันกับไทลื้อ หรือวัฒนธรรมล้านนา แต่คนยองจะมีลักษณะภาษาพูดที่สำเนียงผิดแผกแตกต่างไปบ้าง อย่างเช่น ข้ามสะพาน ถ้าภาษายองก็จะเรียกว่า “ข่ามโข” “แก๋งบักโถ่ใส่จิ้นโง” คือแกงถั่วฝักยาวใส่เนื้อวัว

วัฒนธรรมการนุ่งห่มก็จะมีเอกลักษณ์​ โดยเฉพาะการนุ่งผ้าซิ่นจะมีลายเอกลักษณ์เฉพาะ คือจะมีตีนเขียว เสื้อปั๊ดก็จะเป็นเสื้อแบบโบราณ สมัยก่อนจะมีการโพกหัว เพราะว่าใช้ผ้าโพกหัวในชีวิตประจำวัน บางคนไปทำไร่ทำนา ทำสวน ก็ใช้ผ้าโพกหัวเช็ดเหงื่อเช็ดไคล จะเอาผ้ามาพันเอวก็ได้ ใช้ได้จิปาถะ

อุษณีย์ คำแสง ประธานกลุ่มแม่บ้าน ชุมชนบ้านป่าตาล แนะนำให้เรารู้จักการทำหมวกกะโล่ ซึ่งมีน้ำหนักเบามาก วัสดุทำมาจากกระดาษสา มีแบบพิมพ์ที่ทำไว้ก่อนแล้ว เมื่อแห้งก็แกะออกมา แล้วตกแต่งให้สวยงาม

การที่มีคนรุ่นใหม่กลับมาอยู่บ้าน แล้วนำเอาอะไรใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์กลับเข้าในชุมชนแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลายวัยขึ้น เพราะลำพังแค่วัฒนธรรมจาวยอง อาจไม่ได้ดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มากพอ

หมวกกะโล่รุ่นใหม่มีลวดลายเก๋ไก๋ ไม่ใช่หมวกกะโล่แบบเดิมๆ เพราะบางทีแบบเดิมๆ วัยรุ่นอาจไม่ชอบ กลัวจะเชย จึงปรับเป็นเพนต์สีมีลวดลายทั้งดูเท่และกันแดดกันฝนได้ แถมน้ำหนักเบา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

เที่ยวสนุก สุขภาพดี ดูวิถีชุมชน

ต่อไปภายหน้า เมื่อมีคนมาเที่ยวที่ชุมชนนี้มากขึ้น โอกาสในการประกอบอาชีพก็จะมีอยู่ที่นี่ หลายคนที่เคยต้องออกไปทำมาหากินไกลบ้าน ก็จะได้มีโอกาสกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

อาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่คือเป็นชาวนา เมื่อตัวเมืองขยาย พื้นที่ทำนาก็ลดน้อยลง แต่ยังดีที่วัฒนธรรมยังอยู่เพราะช่วยกันอนุรักษ์ไว้พอว่างเว้นจากการทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มารวมกลุ่มกันทำงานหัตถกรรม โดยผู้ชายทำจักสาน ส่วนผู้หญิงก็จะทอผ้า ผ้าทอของที่นี่ก็จะเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่รู้จักในชื่อของผ้าซิ่นยอง

การทอผ้าเป็นการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ซึ่งเราอนุรักษ์การทอ แล้วก็ใส่ลวดลายที่เป็นวิถีแบบซิ่นยองเข้าไป เอกลักษณ์ของซิ่นยองก็คือ จะมีโครงสร้างที่เป็นลายเส้น เป็นลายขวาง แล้วก็มีเชิงเขียว ก็คือ ตีนของผ้าซิ่นเป็นสีเขียว จะเขียวอ่อนหรือเขียวแก่ก็ได้

ปัจจุบัน คนที่ทอเป็นก็...รุ่นผู้ใหญ่ แต่เราก็พยายามจะดึงเด็กรุ่นใหม่ให้มาร่วมมากขึ้น แล้วก็เปิดโอกาสให้คนจากต่างชุมชนมาจากที่อื่น สามารถมาเรียนรู้ได้ ซึ่งถ้าพูดถึงผ้าทอ ทุกภาคของไทยมีหมด แต่ถ้ามีการประยุกต์เทคนิคหรือเอามาแลกเปลี่ยนกัน ลองเอาลวดลายไปสลับกัน ก็น่าจะเป็นสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้มีการพัฒนาเป็นสีหวานๆ เพื่อจะให้ดูหวาน เพราะคนยองบุคลิกก็เป็นคนอ่อนหวานอยู่แล้ว เรียบร้อย น่ารัก ยิ่งเวลาใส่แล้วจะได้ดูหวานเข้าไปอีก ผู้เฒ่าผู้แก่ใส่ก็จะได้ดูหวานๆ ดูกระชุ่มกระชวยยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ชื่อเสียงของผ้าซิ่นยองของชุมชนบ้านป่าตาลเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง มีคนมาเรียนรู้และมาขอแบ่งปันประสบการณ์อยู่บ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องราว หลงเสน่ห์ให้กับความงดงามแบบหวานๆ ใสๆ ตามสไตล์ของผ้าซิ่นยอง

เที่ยวสนุก สุขภาพดี ดูวิถีชุมชน

นอกจากการทอผ้าแล้วก็ยังมีการนวดแผนไทย ซึ่งที่นี่เป็นการนวดสมุนไพร เรียกว่า “ย่ำขาง” คำว่า ย่ำ ก็คือการเหยียบหนักๆ ซ้ำไปซ้ำมา บนกล้ามเนื้อของเรา ส่วนคำว่า “ขาง” เป็นภาษาเหนือ ที่หมายถึง ผานไถนา ซึ่งเป็นโลหะส่วนปลายของคันไถ คอยงัดหรือพลิกดินขึ้นมา คนสมัยก่อนทำนา พอ ผานหรือขางหมดอายุก็จะไม่ทิ้ง เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า มักจะเก็บเอาไว้ หรือในบางพื้นที่ก็ยังมีการนำไปทำเป็นเครื่องราง

การย่ำขาง คือการใช้เท้าที่ชุ่มน้ำมันและสมุนไพร ไปแตะบนขางร้อนๆ ที่อยู่บนเตา จนเกิดไฟลุกขึ้น แล้วย้ายเท้ามาย่ำไปบนกล้ามเนื้อทันที เชื่อว่าจะรักษาอาการปวดเมื่อยได้

ใครอยากลองประสบการณ์แบบนี้ ก็เชิญได้เลยที่ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านป่าตาล

อีกจุดหนึ่งที่ใครมาถึงชุมชนบ้านป่าตาลแล้ว จะต้องไม่พลาดแวะมาเช็กอินก็คือ สะพานไม้ไผ่ หรือ “ขัวแตะ” หรือ “โขแตะ” ถ้าเป็นภาษายอง ก็โขแตะ “โข” คือ สะพาน “แตะ” คือการขัดสานไม้ไผ่ เป็นจุดเช็กอิน ชื่อว่า “สะพานบุญขัวแตะบ้านป่าตาล” ถ้าเป็นตอนเช้า ก็จะเห็นหมอกจางๆ ลอยผ่านทุ่งนา และมีน้ำค้างใสๆ เกาะบนใบข้าว ถ้ามาตอนเย็นๆ ก็จะเห็นแสงอุ่นๆ ของตะวัน ที่ทอดยาวไปตามแนวทุ่งนา ซึ่งสวยงามอย่าบอกใคร

อาหารพื้นบ้านของจาวยองแห่งบ้านป่าตาล เมนูนี้เขาออกเสียงว่า “ต๋ำบ่ะโอน้ำปู๋” บ่ะโอ ก็คือ ส้มโอ แต่ต้องเป็นส้มโอที่เรียกว่า กะปอ คือส้มโอที่ไม่เปรี้ยวเกินไป ไม่หวานเกินไป อมเปรี้ยว อมหวาน รูปร่างหน้าตาหลังจากเสร็จแล้วคล้ายกับยำส้มโอในบางภาค บางจังหวัด แต่ว่ารสชาติไม่เหมือนใครอย่างแน่นอน

อีกเมนูชื่อน่ารัก ชื่อว่า “แอ๊บใบบ่ะฟัก”ไม่น่าจะได้เห็นที่ไหนบ่อยๆ เพราะเขาบอกว่าเป็นอาหารที่จาวยองนิยมทำกินกันเอง แอ๊บ ก็คือปิ้ง เอาใบห่อใบ แล้วก็เอาไปปิ้งไฟ แล้วใบบ่ะฟัก คือเอาใบแก่ 2 ใบมาซ้อนกัน แล้วนำส่วนที่ตำมาห่อ แล้วจึงนำไปปิ้งไฟ ส่วนผสมและวิธีการก็ดูเหมือนจะไม่ซับซ้อน แต่พอสุกออกมาแล้วหอมน่ากินมาก

เที่ยวสนุก สุขภาพดี ดูวิถีชุมชน

มีน เป็นเหมือนวัยรุ่นอีกหลายๆ คนที่ไปเรียนหนังสือในเมือง แล้วก็ทำงานใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แต่มีนค้นพบว่าไม่มีที่ไหนที่จะอยู่แล้วมีความสุขเหมือนบ้านของตัวเอง ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิต มาทำธุรกิจที่บ้านเกิด เมื่อกลับมาก็ได้ประหยัดค่าใช้จ่าย ได้อยู่กับพ่อกับแม่ มีความสุข และได้เริ่มธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหาร เป็นร้านเล็กๆ แต่เพราะอยากให้ชุมชนมีของกิน มีของดี เอาไว้อวดโชว์นักท่องเที่ยวด้วย

ถ้าโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOPนวัตวิถี ของชุมชนบ้านป่าตาลประสบความสำเร็จ ในอนาคต ก็จะมีคนมาเที่ยว มากิน มาพัก และมาจับจ่ายใช้สอยในชุมชนนี้มากขึ้น เชื่อว่าคงจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนที่นี่ ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปหากินในเมือง และอาจจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้อีกหลายๆ คน ได้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวที่บ้านเกิดเหมือนอย่างน้องมีน

ต้องบอกตามตรงเลยว่าวัฒนธรรมจาวยองนั้นไม่ได้โดดเด่น หรือโด่งดังจนถึงขนาดว่าเอ่ยชื่อแล้วทุกคนจะต้องรู้จัก แต่เราก็เชื่อว่า ถ้าภาพเหล่านี้ถูกสื่อสารออกไปในวงกว้างก็จะทำให้มีคนอยากมาเห็น อยากมาเรียนรู้ และอยากมาสัมผัสวิถีแห่งจาวยองมากขึ้น ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตแบบบ้านๆ ก็จะมีคุณค่า กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา และพอมีคนมามากขึ้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น มีการใช้จ่าย มีการกระจายรายได้ พอที่นี่มีโอกาสในการทำมาหากิน คนก็ไม่ต้องออกไปหากินที่อื่น แถมคนที่คิดถึงบ้านก็จะได้กลับมาอยู่บ้าน มาอยู่กับครอบครัว และมีความสุขได้แบบเรียบง่าย