posttoday

ล่าขุมทรัพย์ ‘ซัมซุยโป’ ย่าน ‘จน’ สุดในฮ่องกง

13 ตุลาคม 2561

วิถีชีวิตบนตึกสูงของคนฮ่องกงมีจุดเริ่มต้นจากย่าน “ซัมซุยโป”

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ 

วิถีชีวิตบนตึกสูงของคนฮ่องกงมีจุดเริ่มต้นจากย่าน “ซัมซุยโป” (Sham Shui Po) ย่านที่เป็นจุดนับหนึ่งของวิวัฒนาการการสร้างเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นย่านที่ยากจนที่สุดในฮ่องกง

ย้อนกลับไปในปี 1930 ชาวจีนแผ่นดินใหญ่อพยพหนีสงครามจีน-อังกฤษมายังเกาะฮ่องกง (เวลานั้นฮ่องกงตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ) กระทั่งปี 1950 “ผู้อพยพยากจน” จำนวนเรือนหมื่นต่างมาสร้างบ้านอยู่ตามเชิงเขาในย่านซัมซุยโป

อังกฤษในฐานะผู้ปกครองในตอนนั้นไม่สนใจว่าผู้อพยพจะทำอะไร จะสร้างบ้านมากแค่ไหน หรือจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร เพราะถือว่าไม่ใช่ประชาชนที่ต้องดูแล

แต่แล้วมีบางอย่างเกิดขึ้นในปี 1953 เอริก วาน (Eric Wan) ไกด์ลูกครึ่งฮ่องกง-แคนาดา หยุดเล่าไว้แค่นี้ก่อนเดินนำเข้าไปใน “พิพิธภัณฑ์เหมยโฮเฮาส์ไลฟ์” (Mei Ho House Live Museum) เขาพาทุกคนย้อนกลับไปในคืนคริสต์มาสอีฟเมื่อ 65 ปีที่แล้ว

ร้านทำรองเท้าแห่งหนึ่งในชุมชนผู้อพยพเกิดไฟไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็ว บวกกับความแออัดที่แน่นเกินกว่าให้รถดับเพลิงเข้าถึงพื้นที่ ทำให้เพียงชั่วข้ามคืนมีคนไร้บ้านกว่า 5 หมื่นคน อังกฤษจึงเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างอาคารรูปตัวเอช (H-Shaped Building) จำนวน 8 ตึก แล้วให้ผู้อพยพทั้งหมดเข้าไปอยู่อาศัย (อย่างแออัดเหมือนเดิม)

ล่าขุมทรัพย์ ‘ซัมซุยโป’ ย่าน ‘จน’ สุดในฮ่องกง

หนึ่งในนั้นคือ “เหมยโฮเฮาส์” (Mei Ho House) เหมยโฮ แปลว่า ดอกบัวที่สวยงาม เป็นอาคารรูปตัวเอชแห่งสุดท้ายที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันถูกอนุรักษ์ไว้และนำไปใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตของซัมซุยโป เป็นโฮสเทล เป็นสำนักงาน เป็นร้านอาหารและบาร์

ส่วนอีก 7 ตึกที่เหลือรัฐบาลฮ่องกงได้ทุบทิ้งแล้วทำเป็นอาคารที่พักอาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย คล้ายๆ กับบ้านเอื้ออาทรบ้านเรา

อาคารรูปตัวเอชทั้งหมดสร้างเสร็จภายใน 1 ปี โดยเสร็จในปี 1954 ซึ่งเหตุผลที่สร้างได้ไวขนาดนี้ เอริกกล่าวว่า เป็นเพราะอังกฤษได้ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกับ “คุก” จึงไม่ต้องเขียนแบบใหม่หรือมีกระบวนการสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งแม้ว่าห้องจะมีขนาดเล็กแต่ทุกคนก็สามารถทำทุกอย่างได้ภายในห้องเดียว ทั้งเป็นห้องนอน ห้องครัว ห้องทำงาน ห้องซักผ้า ส่วนห้องน้ำและห้องอาบน้ำจะแยกเป็นส่วนกลางตรงทางเชื่อมระหว่างตึก ถ้านึกภาพตามก็คือ ขีดตรงกลางของตัวเอช

เขากล่าวด้วยว่า บุคคลหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ในอาคารรูปตัวเอชคือ จอห์น วู ผู้กำกับหนังชาวจีนที่ไปสร้างชื่อในฮอลลีวู้ด เจ้าของผลงานเรื่อง Face/Off และ Mission Impossible 2 ซึ่งเขาเคยใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กในห้องเล็กๆ แห่งนี้

เมื่อเวลาผ่านไป ห้องซอมซ่อได้ถูกปรับสภาพให้ดีขึ้น เริ่มมีห้องน้ำในตัว เริ่มมีโทรทัศน์ เริ่มมีเฟอร์นิเจอร์ในห้องพัก จนเริ่มมีหน้าตาเหมือนห้องพักในปัจจุบัน อาคารรูปตัวเอชจึงกลายเป็นต้นแบบให้ตึกยุคต่อไป อย่างอาคารรูปตัวแอล รูปตัววาย จนกลายเป็นตึกสูงชะลูดตามขนาดพื้นที่ที่เหลือน้อยลงทุกวันๆ

ล่าขุมทรัพย์ ‘ซัมซุยโป’ ย่าน ‘จน’ สุดในฮ่องกง

“ในฮ่องกงเจ้าของที่ดินคือรัฐบาลดังนั้นคนฮ่องกงจึงมีสิทธิแค่ซื้อบ้านแต่ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน แถมยังต้องจ่ายภาษีที่ดินให้รัฐบาลไปเรื่อยๆ เป็นวิธีที่รัฐบาลหา เขากล่าวต่อว่า ตึกที่พักอาศัยมี 2 ประเภทคือ ตึกของรัฐบาลและของเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าของเอกชนจะแพงกว่า ใหม่กว่า และดีกว่า ส่วนของรัฐบาลค่าเช่าจะถูกกว่าแต่สภาพอาจเก่าไปบ้าง โดยผู้ที่มีสิทธิเช่าห้องพักของรัฐบาลต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย คือ ต่ำกว่า 1.5 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 6 หมื่นบาท) ซึ่งผู้ที่มีรายได้น้อย มีบุตร และมีคนแก่ในครอบครัวจะถูกพิจารณาเป็นอันดับแรก

รองลงมาคือ ผู้สูงอายุ คู่สามีภรรยา และคนโสด ตามลำดับ ส่วนค่าเช่าห้องพักจะตกอยู่เดือนละ 2,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 8,000 บาท) ซึ่งถือว่าถูกที่สุดในฮ่องกง แต่สำหรับการซื้อห้องพักของรัฐบาลจะเป็นระบบจับสลาก โดยผู้ที่มีรายได้น้อยต้องสมัครและเสี่ยงดวง

เอริกพาเดินซอกแซกไปตามตรอกตามผังเมืองที่แบ่งเป็นบล็อกๆ อย่างเท่ากัน โดยแต่ละตรอกจะมีถนนขายของต่างประเภทกัน อย่าง “ตรอกขายผ้า” ที่เห็นแล้วนึกถึงพาหุรัด แต่ที่นี่แขกไม่ได้ขายผ้า ทุกร้านมีเถ้าแก่เป็นคนฮ่องกง ซึ่งซื้อผ้าจากโรงงานจีนมาขายปลีกเป็นหลาๆ ส่วนลูกค้าคือ คนปากีสถานที่เข้ามาทำงาน

ตรอกถัดมาคือ “ตรอกเครื่องใช้ไฟฟ้า” หน้าตาเหมือนคลองถม ที่บนถนนจะเต็มไปด้วยอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือช่างสารพัดชนิด บางร้านมองเข้าไปเห็นแต่ใบพัดของพัดลม บางร้านขายแต่รีโมทคอนโทรล บางร้านรับซ่อมทีวีไปจนถึงทรานซิสเตอร์ ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าที่มาซื้อแทบไม่มีวัยรุ่น แต่จะเป็นรุ่นใหญ่ เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ขายที่ต้องใช้คำนำหน้าว่า อาเจ้อาเฮีย

นอกจากนี้ ยังมี “ตรอกสินค้าเบ็ดเตล็ด” ที่ทำให้อดคิดถึงสำเพ็งบวกประตูน้ำบ้านเราไม่ได้ โดยตรอกนี้ขายทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ของเล่น ทั้งขายยกโหลและขายปลีก ถ้าสนใจชิ้นไหน เอริกแนะนำว่าต้องต่อรองราคา เพราะนอกจากจะเป็นอรรถรสของการค้า อาจจะได้ของราคาถูกกว่าครึ่ง

ล่าขุมทรัพย์ ‘ซัมซุยโป’ ย่าน ‘จน’ สุดในฮ่องกง

ร้านค้าตามตรอกที่กล่าวถึงนี้มีทั้งร้านค้าในตัวตึกและร้านค้าแผงลอยบนถนน ซึ่งย่านการค้าในซัมซุยโปถือว่าเป็นแหล่งจับจ่ายของคนระดับล่าง เพราะราคาถูกมากแต่ก็มาพร้อมกับคุณภาพไม่พรีเมียม

หลังจากเห็นซัมซุยโปมาพอประมาณ ได้หันไปถามไกด์ลูกครึ่งว่า ถ้าให้นิยามจะนิยามซัมซุยโปว่าอะไร เอริกตอบทันทีว่า

“ซัมซุยโปคือย่านที่จนที่สุดในฮ่องกง ตึกที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาลเพื่อรองรับคนรายได้น้อยที่มีอยู่จำนวนมาก แม้ชั้นล่างสุดจะเปิดเป็นร้านค้า แต่ด้านบนคือที่อยู่อาศัยแออัด ห้องหนึ่งอาจกว้างไม่ถึง 20 ตร.ม. แต่ต้องอยู่รวมกันถึง 4 คนในครอบครัว ยิ่งห้องไหนอยู่สูงก็จะยิ่งถูกลงเพราะในตึกไม่มีลิฟต์ ต้องเดินขึ้นบันไดสูง 7-8 ชั้นกว่าจะถึงห้องพัก จึงไม่แปลกว่าทำไมซัมซุยโปถึงไม่มีร้านค้าแบรนด์ดังมาเปิด เพราะคนฮ่องกงต่างรู้ดีว่า ที่นี่เป็นที่อยู่ของคนมีรายได้น้อย”

ภาพอาคารเก่าซอมซ่อ คอมเพรสเซอร์แอร์สนิมเขรอะ และเสื้อผ้าแห้งแข็งติดราว คือภาพของซัมซุยโปที่มองไปทางไหนก็เหมือนกันหมด ดูไร้ชีวิตแต่กลับมีหลายพันชีวิตอยู่ในนั้น

ขณะเดียวกัน มีความพยายามขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านศิลปะชื่อ ฮ่องกงวอลส์ (HKwalls) เข้ามาเพิ่มสีสันและความทันสมัย ด้วยการขออนุญาตเจ้าของตึกและชวนศิลปิน 40 คนจาก 17 ประเทศมาโชว์ฝีมือวาดสตรีทอาร์ตบนประตู บนผนัง บนอาคาร กลายเป็น 40 ผลงานศิลปะให้ตามล่า ยกตัวอย่าง ภาพหมาจิ้งจอกสามมิติสไตล์ป๊อปอาร์ต โดย Okuda และภาพกราฟฟิตี้แนวโมเดิร์นอาร์ต โดย Peeta

ล่าขุมทรัพย์ ‘ซัมซุยโป’ ย่าน ‘จน’ สุดในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าย่านนี้จะยากจนที่สุดในฮ่องกง แต่ไม่ใช่ย่านที่อึดอัดที่สุด เพราะความที่อาคารพักอาศัยเป็นรุ่นเก่าจึงมีความสูงไม่ถึงสิบๆ ชั้นเหมือนในย่านเซ็นทรัล และยังมีจุดพีกที่เป็นความลับบนจุดชมวิว “การ์เด้นฮิลล์” (Garden Hill) หรือเนินเขาด้านหลังเหมยโฮเฮาส์ มันคือจุดชมพระอาทิตย์ตกที่เป็นที่รู้จักของวัยรุ่นย่านนั้น และเป็นเส้นทางจ๊อกกิ้งขึ้นเขาระยะสั้นของบรรดาคนท้องถิ่น ซึ่งทุกคนสามารถขึ้นชมได้ฟรี ถ้าขึ้นไหว

เส้นทางจะเป็นขั้นบันไดพร้อมราวจับให้ไต่ระดับไปตามเนินเขา ใช้เวลาเดินขึ้นประมาณ 20 นาที โดยด้านบนจะเป็นลานกว้างให้นั่งชมพระอาทิตย์ตกหลังป่าตึก ถือว่าเป็นภาพแสงสุดท้ายที่บ่งบอกความเป็นฮ่องกงได้ชัด โดยไม่ต้องเช็กอิน

การท่องเที่ยวฮ่องกงได้บรรจุย่านซัมซุยโปเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยหยิบยกความดิบของบ้านเมืองและความเรียลของคนท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย เพื่อส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวฮ่องกงในมุมมองใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่ความทันสมัยหรือไลฟ์สไตล์ราคาแพง แต่ด้วยความที่เป็นช่วงเริ่มต้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตอนนี้คุณจะเป็นนักท่องเที่ยวเพียงคนเดียวในซัมซุยโป เพราะคาแรกเตอร์ของย่านที่กรองนักท่องเที่ยวอย่างเจาะจง และอนึ่งฮ่องกงยังหนีไม่พ้นคำว่า Sales