posttoday

ถอดรูปนางงาม ‘สงขลา’ คนแก่แต่ยังเก๋

06 ตุลาคม 2561

ภายใต้ภาพเมืองเก่าสงขลาที่กำลังตื่น ยังมีภาพในอดีตที่เก่าแก่กว่าอยู่อีกฟากของโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ

ภายใต้ภาพเมืองเก่าสงขลาที่กำลังตื่น ยังมีภาพในอดีตที่เก่าแก่กว่าอยู่อีกฟากของโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ซึ่งเวลานี้คนท้องถิ่นกำลังผลักดันให้เป็นเมืองมรดกโลก

สืบสกุล ศรีสุข ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม หนึ่งในหัวหอกที่กำลังขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองมรดกโลก บรรยายให้ฟังว่า บริเวณที่ต้องการยกให้เป็นมรดกโลกไม่ใช่ย่านเมืองเก่าสงขลา “แต่เป็นฝั่งนู้น”

ตอนนี้เขายืนอยู่ด้านหลังโรงสีแดงและกำลังชี้ไปยังแผ่นดินฝั่งตรงข้าม โดยมีทะเลสาบสงขลากั้นกลางไว้

“ฝั่งนู้นเป็นฝั่งเมืองเก่ายุคสมัยที่มุสลิมและจีนปกครองเมืองสงขลา เมื่อย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สงขลาจะมีอายุมากกว่า 2,000 ปี โดยในอดีตเส้นทางคมนาคมของโลกจากยุโรปจะผ่านอินเดีย และก่อนที่จะไปถึงเมืองจีนต้องผ่านเมืองท่าสำคัญ 3 เมือง คือ เมืองปีนังและมะละกาทางฝั่งตะวันตก สองเมืองนี้เป็นมรดกโลกแล้ว และอีกเมืองคือ สงขลาอยู่ทางฝั่งตะวันออก ถ้าไทยผลักดันให้สงขลาเป็นมรดกโลกก็จะสร้างความน่าสนใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเชื่อมโยงมาไทยด้วย”

เมืองสงขลาถูกปกครองมา 3 ยุค เริ่มต้นตั้งแต่ ยุคมุสลิมหรือยุคเขาแดง ปกครองโดยสุลต่านสุไลมาน และครองเมืองนาน 3 เจ้าพระยา ยุคต่อมาคือ ยุคจีนหรือยุคแหลมสม พระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งตั้งให้ชาวจีนเป็นผู้ปกครอง และครองเมืองนาน 8 เจ้าพระยา และยุคสุดท้าย คือ ยุคไทยหรือยุคบ่อยาง ปกครองโดยคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน เกิดเป็นเส้นทาง 3 วัฒนธรรม มุสลิม จีน ไทย และเชื่อมโยง 3 เมืองเก่ามีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่น่าผลักดันสู่เมืองมรดกโลก

ถอดรูปนางงาม ‘สงขลา’ คนแก่แต่ยังเก๋

“ยุคแรกที่สุลต่านปกครองเกิดขึ้นเมื่อ 370 กว่าปีที่แล้ว ภายในเมืองนั้นจะเต็มไปด้วยป้อมปราการหรือป้อมปืนเรียงรายไปตามทางเดินบันได 700 กว่าขั้น มีอุโมงค์ต้นไม้หนาทึบ และยอดบนสุดมีเจดีย์ทั้งแบบมุสลิม จีน และพุทธ อยู่ใกล้กัน และยังมีกำแพงเมืองเก่าและคูคลองรอบเมือง จนได้ชื่อว่า เป็นเมืองแห่งป้อมปราการแห่งเอเชียอาคเนย์

จากนั้นยุคจีนปกครอง คนจีนผู้นั้นกลายเป็นต้นตระกูล ณ สงขลา และมีลูกหลานครองเมืองถึง 8 เจ้าพระยา สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในยุคจีน คือ ร่องรอยสถาปัตยกรรมของจีน ทั้งกำแพงแบบจีน เก๋งจีน ประตูจีนวัดจีน ปัจจุบันยังคงมีอยู่เต็มเมือง แต่ตอนนี้สภาพเมืองเก่ากลายเป็นป่าไปแล้ว

หลังจากนั้น เมื่อรัชกาลที่ 3 เห็นว่าเมืองขยายต่อไม่ได้ เพราะหน้าเมืองติดทะเลสาบ หลังเมืองติดภูเขา จึงทรงให้ย้ายเมืองข้ามมาตั้งเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง จากนั้นพระองค์ได้สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ และอพยพชาวบ้านสามวัฒนธรรมให้มาอยู่ในกำแพงเดียวกันเป็นร้อยปีจนถึงปัจจุบัน โดยให้พี่น้องมุสลิมอยู่บริเวณบ้านบน พี่น้องชาวพุทธอยู่แถววัดมัชฌิมาวาส พี่น้องชาวจีนอยู่แถวศาลเจ้า กลายเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแต่อยู่อาศัยแบบพี่น้องกัน เป็นความสวยงามอย่างลึกซึ้งของสงขลาที่ไม่มีเมืองไหนอื่นเทียบได้ และสวยกว่าเมืองไหนๆ เพราะมีทุกวัฒนธรรม” ผู้อำนวยการภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าวต่อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 4 ปีที่แล้วเมืองเก่าสงขลาเกือบกลายเป็นเมืองร้าง เพราะเสียสภาพการเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ทำให้ลูกหลานย้ายไปทำงานต่างเมือง แต่วันนี้สงขลาได้ฟื้นคืนชีพต้องยกเครดิตกึ่งหนึ่งให้ รังษี รัตนปราการ ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ที่กลับบ้านเกิดมาตอนอายุ 80 ปี และเป็นตัวตั้งตัวตีเปลี่ยนสงขลาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

สิ่งแรกที่ทำ คือ จัดตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม และเริ่มวาดภาพสตรีทอาร์ตตามกำแพงบ้านร้างก่อนที่มันจะเป็นจุดเช็กพอยต์ของนักท่องเที่ยว

ถอดรูปนางงาม ‘สงขลา’ คนแก่แต่ยังเก๋

“แต่ก่อนวาดง่ายเพราะมีบ้านร้างเต็มเมืองไปหมด แต่พอเมืองตื่นขึ้นมา ลูกหลานกลับมาบูรณะบ้านทำให้สตรีทอาร์ตชิ้นแรกถูกลบทิ้งไป หลังจากนั้นสตรีทอาร์ตชิ้นใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอีกเต็มเมือง” สืบสกุล กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อตอนนี้เมืองเก่ายุคบ่อยางเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนมาเลเซียแล้ว ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปอีก 2 ยุคที่เหลือ ซึ่งมีท่าเรือหางยาวรับ-ส่งข้ามไปยังบ้านเขาแดงและบ้านแหลมสม คนละ 20 บาท ให้คำมั่นกับผู้อำนวยการสืบสกุล แล้วว่าครั้งหน้ามาใหม่จะรบกวนท่านเป็นไกด์พาเที่ยวอีก 2 เมือง ก่อนที่เมืองเหล่านั้นจะกลายเป็นเมืองร้างอย่างที่เมืองยุคบ่อยางเกือบจะเป็น

สำหรับวันนี้รถรางมารอรับแล้วที่หน้าโรงสีแดงอายุ 105 ปี พร้อม “อ๋อย” ไกด์ท้องถิ่นรับหน้าที่บรรยายต่อ รถราง (ที่ไม่มีราง) แล่นไปยังถนนสายแรก ถนนนครใน สองข้างทางมีบ้านเรือนสถาปัตยกรรมแบบจีนร่วมสมัย ทรงชิโนโปรตุกีส ทรงชิโนยูโรเปียน ให้เห็นอยู่ทั่วไป

ดูแล้วมีความคล้ายคลึงกับถนนถลาง จ.ภูเก็ต ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ เหมือนเมืองปีนัง มะละกา ประเทศมาเลเซีย และเหมือนเมืองเว้ ดานัง ประเทศเวียดนาม ซึ่งความหลากหลายของสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นเพราะความหลากหลายของผู้สร้าง จากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าในฐานะที่สงขลาเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่และเป็นท่าเรือน้ำลึก ทำให้มีทั้งชาวฮอลันดา ชาวโปรตุเกส และชาวจีนเข้ามาทำการค้าขาย

บนถนนนครในมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พิพิธภัณฑ์บ้านนครใน เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในสงขลา โดยได้ปรับปรุงบ้านส่วนตัวทรงชิโนโปรตุกีสให้เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวย่านเมืองเก่าสงขลา ตามตรอกซอกซอยมีสตรีทอาร์ต 20 จุด

ถอดรูปนางงาม ‘สงขลา’ คนแก่แต่ยังเก๋

นอกจากนี้ ถนนนครในยังมีของกินเพียบทั้งข้าวเกรียบกุ้ง ข้าวเกรียบปลา น้ำบูดู น้ำไตปลา ร้านสุกี้ ร้านก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บเป็ด อาหารตามสั่ง ข้าวมันไก่ รวมถึงร้านนวดแผนไทย

และมีตึกที่น่าสนใจอย่าง ตึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นฐานบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่นที่ใช้เวลาบุกยึดสงขลาเพียง 1 ชั่วโมง เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่มาเลเซีย จากนั้นตึกดังกล่าวถูกทิ้งระเบิดทำให้เหลือตึกแค่ครึ่งเดียว

ถนนอีกสายคือ ถนนพัทลุง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า บ้านบน เป็นย่านของชาวไทยมุสลิม มีร้านอาหารให้ชิมเช่นกัน ทั้งแกงแพะ ซุปหางวัว ข้าวมันแกงไก่ ขนมไข่ใส่เนย และร้านอาหารใต้ ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญคือ มัสยิดเก่าแก่อายุ 171 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานโคมไฟให้โต๊ะอิหม่ามในสมัยนั้น เพื่อนำไปประดับด้านในมัสยิด

ถัดไปคือ ถนนนางงาม ถนนที่มีร้านอาหารและร้านขนมมากที่สุดในย่านเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็นร้านขายขนมบอก สืบทอดมาเป็นรุ่นที่ 3 เก่าแก่เป็นร้อยปี ขนมลูกโดน โรตี ไก่กอและ ข้าวสตูหมู ซาลาเปาลูกใหญ่ ไอศกรีมไข่แข็ง ผัดไทยหอยทอดใบตอง ข้าวเหนียวมะม่วง กวยจั๊บเจ๊น้อย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ก๋วยเตี๋ยวหางหมู ติ่มซำ ก๋วยเตี๋ยวภูเก็ต ร้านน้ำชานางงาม และร้านขนมไทยที่เรียงต่อกัน 5 ร้าน คือ แม่ฉวี สอง-แสน ต้นรัก จงดี และกุลประคอง ร้านเหล่านี้ขายขนมทองเอก ทองม้วน ฝอยทอง ข้าวฟ่างกวน และสัมปันนี

นอกจากนี้ ถนนนางงามยังมีโรงแรมบ้านในนคร ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งด้านในศาลเจ้ามีร้านก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้วและโรงเรียนสงขลาวิทยามูลนิธิ เป็นโรงเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา สอน 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน สำหรับเสาหลักเมืองมี 2 เสา คือ เสาหลักเมืองไม้ชัยพฤกษ์ที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชทานเมื่อ 176 ปีที่แล้ว จากนั้นรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานเสาหลักเมืองปูน ปัจจุบันตั้งอยู่เคียงข้างกัน

ถอดรูปนางงาม ‘สงขลา’ คนแก่แต่ยังเก๋

จากนั้นตรงสุดหัวถนนนางงามเป็นที่ตั้งของวัดยางทอง วัดเก่าแก่ภายในเขตนครสงขลา ภายในวัดมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ เป็นบ่อน้ำจืดให้ชาวบ้านและคนสัญจรไปมาได้ใช้ ใกล้กับบ่อน้ำมีต้นยางทองขนาดใหญ่ คนจึงนำคำว่า บ่อ และยาง มาผสมกันกลายเป็นตำบลบ่อยางในปัจจุบัน

รถรางยังแล่นไปถึง ถนนจะนะ ถนนที่จะปิดเป็นถนนคนเดินทุกวันศุกร์และเสาร์ เวลา 16.00-22.00 น. ริมถนนมีกำแพงเมืองสงขลาอายุ 182 ปี สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ในครั้งที่ย้ายเมืองมาจากฝั่งเขาแหลมสนมายังฝั่งบ่อยาง เดิมด้านหลังกำแพงเป็นเรือนจำจังหวัดสงขลา แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นอาคารที่พักให้เช่า

บนถนนจะนะ ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา อาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป เดิมเป็นที่พักของพระยาสุนทรานุรักษ์ หรือ เนตร์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในเวลานั้น จากนั้นได้กลายเป็นที่พำนักของต้นตระกูล ณ สงขลา และกลายเป็นศาลากลางจังหวัดก่อนจะถูกทิ้งร้างไป กระทั่งถึงปี 2516 กรมศิลปากรได้เข้ามาทำนุบำรุงและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานก่อนเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

ติดกันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ บ้านเกิดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย ด้านในยังมีสิ่งของเครื่องใช้ของท่าน ซึ่งหลังที่เห็นอยู่นี้เป็นการจำลองขึ้นมาใหม่จากหลังเดิมเป็นเรือนไทยทรงปั้นหยา เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น. แต่วันศุกร์-เสาร์จะเปิดถึง 22.00 น. เพราะถนนหน้าบ้านจะเปลี่ยนเป็นถนนคนเดิน

เมื่อมุ่งหน้าไปสู่ ถนนเลียบชายหาด อ๋อย บรรยายต่อไปว่า กำลังขับผ่านสนามกีฬาติณสูลานนท์ เป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากสนามราชมังคลากีฬาสถาน รองรับได้เกือบ 5 หมื่นคน ส่วนชายหาดที่เห็นยาว 9 กม. แบ่งเป็น 4 ชายหาด สามารถนำเสื่อมานั่งนอนตรงไหนก็ได้ไม่เสียเงิน และชายหาดจะไปสิ้นสุดที่ปลายแหลมสมิหลาตรงที่มีนางเงือกทอง สัญลักษณ์ประจำจังหวัดสงขลา นางเงือกนั่งผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 52 ปี มีความเชื่อว่า ใครที่มาลูบนมนางเงือกทองจะได้กลับมาเที่ยวสงขลาหรือมีคู่ครองเป็นคนสงขลา

“สงขลามีสองทะเลคือ ทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทย สองเขาคือ เขาน้อยและเขาตังกวน สองเกาะคือ เกาะหนูและเกาะแมว สองคลองคือ คลองขวางและคลองสำโรง และสามน้ำคือน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย” ไกด์สรุปสมญานาม

จากถนนเลียบหาด รถรางได้เคลื่อนต่อไปยัง ถนนไทรบุรี ถนนที่มีวัดมากที่สุดในย่านเมืองเก่าจำนวน 8 แห่ง (เขตนครสงขลามี 18 วัด) ยกตัวอย่างตั้งแต่หัวถนนที่วัดแจ้งสร้างขึ้นสมัยกรุงธนบุรี วัดดอนรักอายุ 200 กว่าปี วัดเลียบอายุ 267 ปี ภายในมีพระพุทธสิหิงค์ที่จำลองแบบมาจากสทิงพระ วัดดอนแย้ อายุ 367 ปี และวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง) อายุ 427 ปี ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังทศชาติชาดกที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุดในไทย ซึ่งถนนสายนี้รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้นเพื่อใช้สัญจรจากสงขลาไปยังรัฐเคดาห์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย

สุดท้ายต้องบอกลาไกด์คนสวยหน้าวัดกลาง โดยจากตรงนั้นหรือไม่ว่าจากตรงไหนก็สามารถเดินเชื่อมโยงไปยังถนนอื่นได้เป็นบล็อกๆ เพลิดเพลินไปกับสตรีทอาร์ตที่แอบซ่อนอยู่ตามตรอกเล็กๆ แวะจิบชาชิมกาแฟตามคาเฟ่ที่ลูกหลานกลับมาเปิด จนสร้างบรรยากาศสงขลาฮิปสเตอร์ และตะลอนกินร้านละนิดละหน่อยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กินเสร็จก็เดินย่อยก่อนแล้วค่อยกินใหม่

ปล่อยให้หนึ่งวันนั้นเป็นวันแห่งการกิน เสพงานศิลป์ และชื่นชมบ้านเรือน ซึ่งเป็นหนทางสัมผัสอดีตและซึมซับวัฒนธรรมผ่านอาหาร วิถีชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่น ผ่านภาพวาดที่พยายามขยายความทรงจำ และผ่านความเป็นจริงของความเปลี่ยนแปลง

น่าชื่นใจที่เมืองเก่าสงขลาเวลานี้ ตื่นแบบไม่ตื่นตูม ทำให้เห็นบ้านเรือนเก่าถูกอนุรักษ์ในบทบาทใหม่ที่เหมาะกับสภาวะปัจจุบัน แต่ต่อจากนี้ไปต้องจับตาดูว่าอีก 2 เมืองเก่าจะถูกปลุกจากการหลับใหลในรูปแบบใด และสงขลาจะก้าวไปสู่เมืองมรดกโลกได้หรือไม่? คงต้องดูกันไปยาวๆ