posttoday

เมืองเพนียด โบราณสถานแห่งจันทบุรี

23 กันยายน 2561

พื้นที่เมืองเพนียด เมืองโบราณอายุ 1,200 ปี ทำให้สันนิษฐานว่าจันทบุรีน่าจะมีอายุถึงปลายสมัยฟูนัน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12

เรื่อง สมาน สุดโต

พื้นที่เมืองเพนียด เมืองโบราณอายุ 1,200 ปี อยู่ห่างจากวัดทองทั่ว 400 เมตร ที่ เมธาดล วิจักขณะ รองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยข้าราชการกลุ่มเผยแพร่ นำสื่อมวลชนชม ตามโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ จ.จันทบุรี วันที่ 17 ส.ค. 2561 นั้น ทำให้สันนิษฐานว่าจันทบุรีน่าจะมีอายุถึงปลายสมัยฟูนัน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นชุมชนที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนา จากขอมโบราณ ซึ่งปรากฏหลักฐานในหนังสือฝรั่งเศส ชื่อ “แคมโบช” (Le Cambodge) เขียนโดยมองสิเออร์

เอเตียนน์ เอโมนิออร์ (Etienne Aymonier) พ.ศ. 2444 ว่ามีบาทหลวงพบศิลาจารึก ภาษาสันสกฤตที่ ต.เขาสระบาป ในศิลาจารึกมีข้อความว่า เมื่อพันปีล่วงมาแล้วมีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า “ควนคราบุรี “ เป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ตั้งอยู่บริเวณบ้านเพนียด บ้านสระบาป ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง เมืองเพนียด หรือเมืองกาไว เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่เชิงเขาสระบาปติดลำน้ำสาขาซึ่งไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลักษณะผังเมืองคล้ายรูปสี่เหลี่ยม
ผืนผ้า มีคันดินล้อมรอบ มีพื้นที่ 1,600 ไร่ กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-18

ทำไมจึงชื่อเพนียด สันนิษฐานว่าเรียกตามความเข้าใจของชาวบ้านว่าเป็นเพนียดคล้องช้าง  ซึ่ง จิราพร กิ่งทัพหลวง หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ว่า กรมศิลป์เข้ามาสำรวจพื้นที่ 30 ปีมาแล้ว หลังจากตรวจอย่างละเอียดทั้งภายนอกและภายใน มีข้อสรุปเมื่อ พ.ศ. 2544 ว่าที่นี่น่าจะเป็นมากกว่าเพนียดคล้องช้าง โดยสันนิษฐานคำว่าเพนียดนั้นอาจมาจากภาษาเขมรว่า ประณีต แปลว่าแนวกั้นน้ำก็ได้ หรือแนวคันดิน เพื่อประโยชน์ในการชลประทาน

ทั้งนี้ ดูจากแนวศิลาแลง 2 ฝั่ง ตรงกลางลึกขังน้ำได้ ขุดเจาะลงไปพบทรายเสริมศิลาแลง ยิ่งขุดลึกลงไปก็จะพบตาน้ำ เจอกระเบื้องกาบกล้วยเชิงชาย ด้านหลังบริเวณนี้ห่างไปไม่กี่กิโลเมตรคือเขาสระบาป มีถ้ำชื่อว่าถ้ำพระนารายณ์

เมืองเพนียด โบราณสถานแห่งจันทบุรี ส่วนหนึ่งบริเวณเมืองเพนียดที่รอการขุดค้น

อย่างไรก็ตาม จิราพร ว่า อมรา ศรีสุชาติ อดีตนักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร เสนอแนวคิดว่า ที่ตรงนี้เป็นสระน้ำ เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

ส่วนข้อมูลจาก : คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จ.จันทบุรี กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2544 ว่าชุมชนโบราณย่านนี้ เป็นชุมชนใหญ่ หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานนั้น อยู่แถวบริเวณวัดทองทั่วและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ต.คลองนารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบหน้าเขาสระบาปที่มีลำน้ำคลองนารายณ์ไหลลงมาจากเขาสระบาปทางตอนเหนือ ผ่านไปออกสู่แม่น้ำจันทบุรีทางตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่พบแหล่งโบราณสถานมี 4 แห่ง คือ 1.เนินโบราณสถานวัดเพนียด (ร้าง) 2.โบราณสถานเพนียด
3.เนินโบราณสถานใกล้วัดทองทั่ว 4.เนินโบราณสถานวัดสมภาร (ร้าง)

จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าตัวเมืองมีผังเมืองเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส แนวถนนสุขุมวิทพาดผ่านในแนวเฉียง เนินโบราณสถานที่เก่าที่สุดตามหลักฐานที่พบคือ จารึก ทับหลัง เสาประดับ กรอบประตู เคยเป็นที่ตั้งของวัดเพนียด ที่ปัจจุบันเหลือเพียงเนินขนาดใหญ่ฐานล่างก่อด้วยอิฐ ลึกจากพื้นดินปัจจุบันลงไปประมาณ 4 เมตร เนินดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

นอกจากนี้ ยังปรากฏร่องรอยของแนวศิลาแลงยาวประมาณ 15 เมตร ทำให้สันนิษฐานได้ว่า บริเวณนี้คงมีชุมชนอยู่อย่างหนาแน่นพอสมควรในราวพุทธศตวรรษที่ 11

เมื่อมีการขยายชุมชนออกไปพร้อมกับสภาพทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมโบราณตั้งแต่สมัยแคว้นเจนละ เป็นต้นมา ปรากฏว่าสอดคล้องกับหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ซึ่งได้แก่ ทับหลังแบบถาลาบริวัตและทับหลังแบบสมโบร์ไพรกุก ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ทับหลังแบบไพรกเมง ราวพุทธศตวรรษที่ 13 เสาประดับกรอบประตูในศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร จารึก 2 หลัก กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 ภาชนะดินเผาเป็นกระปุกทรงลูกจัน รูปแบบอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไหเท้าช้าง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นมา (บางส่วนจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วัดทองทั่ว)

หลักฐานที่หลงเหลืออยู่อย่างชัดเจนก็คือโบราณสถานเพนียด ซึ่งใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่สำคัญในศิลปะขอมแบบบายน ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ดังเช่น ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น

แม้ว่ากรมศิลป์ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองเพนียดมานาน จนกระทั่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 แล้วก็ตาม แต่ไม่มีโอกาสเข้าไปขุดค้น เพราะเอกชนที่ถือครองที่ดินไม่ยินยอม จนกระทั่ง นพรัตน์ หนูสิทธิ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธาน เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ อ.เมือง จ.จันทบุรี และประธาน อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรมของกรมศิลปากร (อส.มศ.) ประสานงานให้ จึงได้เข้ามาสำรวจดังภาพที่เห็นปัจจุบัน

เมืองเพนียด โบราณสถานแห่งจันทบุรี (ซ้ายสุด) ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้นน้ำ ส่วนสุภาพสตรีทั้งหลายในกลุ่มเป็นทั้งเจ้าของที่ดิน และผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่ให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์โบราณสถาน ส่วนสตรีคนขวาสุดนั้นเป็นผู้สื่อข่าวจากกรุงเทพฯ