posttoday

ราชบุรีมี‘งู’

08 กันยายน 2561

ก่อนที่ราชบุรีจะเป็นเมืองแกะ ที่นี่เคยเป็นเหมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเหมืองแร่ดีบุกใน อ.สวนผึ้ง ที่เคยมีมานานถึง 78 ปี

โดย/ภาพ : กาญจน์ อายุ 

ก่อนที่ราชบุรีจะเป็นเมืองแกะ ที่นี่เคยเป็นเหมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเหมืองแร่ดีบุกใน อ.สวนผึ้ง ที่เคยมีมานานถึง 78 ปี ก่อนที่ราคาดีบุกในตลาดโลกจะเริ่มตกต่ำในปลายทศวรรษ 2520 จนเจ้าของเหมืองทยอยหยุดกิจการ

กระทั่งรัฐบาลยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ในสวนผึ้งในปี 2534 รวมถึงเหมืองหินปูนที่สร้างความมั่งคั่งกับชาวราชบุรีเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่ปัจจุบันเหลือไว้เพียงร่องรอยและถูกปรับให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม

หินปูนส่วนใหญ่ในประเทศไทยประมาณร้อยละ 99 เป็นหินปูนที่เกิดในทะเล เกิดจากการทับถมของซากสัตว์มีเปลือกในทะเล เช่น หอย ปะการัง จนตะกอนต่างๆ แข็งตัวกลายเป็นหิน ประกอบกับโลกไม่เคยหยุดนิ่ง เปลือกโลกยังมีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา และเมื่อแผ่นเปลือกโลกมาชนกันทำให้หินใต้ทะเลโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำกลายเป็นภูเขาหินปูน

ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี อธิบายถึงที่มาที่ไปของภูเขาหินปูนในราชบุรี หนึ่งในนั้นคือ “อุทยานหินเขางู” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองราชบุรีเพียง 8 กม. แต่กำเนิดมาตั้งแต่ยุคเพอร์เมียนหรือประมาณ 286-245 ล้านปีมาแล้ว

“ธรรมชาติของธรณีวิทยาไม่ใช่ยิ่งสูงยิ่งหนาว แต่ยิ่งสูงยิ่งเกิดการกัดกร่อนมากขึ้น ทำให้ชั้นหินทรายด้านบนถูกกัดกร่อน ส่วนชั้นหินปูนก็จะถูกน้ำฝนละลายทำให้เห็นเป็นยอดแหลม” ชัยพร ชี้ไปที่ยอดเขารูปทรงคล้ายพีระมิด

ราชบุรีมี‘งู’

ปัจจุบันอุทยานถูกปรับให้เป็นสวนสาธารณะ แต่เป็นสวนที่ไม่มีสนามหญ้า มีทางเดินทอดยาวล้อมรอบด้วยภูเขาเว้าแหว่ง พร้อมกิจกรรมฮิตประจำสวนสาธารณะอย่าง ปั่นเป็ด ให้ปั่นในทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง ปรับโฉมสถานที่รกร้างให้กลายเป็นสถานที่ออกกำลังกายและแหล่งสันทนาการแบบไม่ต้องระแวงวรนุชของชาวราชบุรี

ช่วงเย็นจะเห็นพ่อแม่จูงลูกมาเดินเล่น บ้างเป็นคู่รักมาถ่ายเซลฟี่เก็บบรรยากาศตะวันอัสดงที่มีฉากหลังเป็นดงภูเขาบึงน้ำ และต้นไม้ องค์ประกอบที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้หลังจากที่มนุษย์ได้ทิ้งร้างไปกว่า 3 ทศวรรษ

นอกจากนี้ อุทยานยังเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขางู ที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาโดด มีหน้าผาชันรอบข้าง ประกอบด้วย ยอดเขาสูง 4 ยอด คือ เขาพระยาปราบ เขาแขก เขาลาดกล้วย และเขาหลักว่าว แต่หลังจากยุคเหมืองหินปูนเฟื่องฟูทำให้เทือกเขาถูกระเบิด และยอดเขาถูกแยกกระจัดกระจายอย่างที่เห็นเป็นตัวอย่างที่อุทยาน

ชัยพร กล่าวด้วยว่า เนื่องจากเขางูถูกยกตัวขึ้นมาจากทะเล จึงมีถ้ำที่เคยเกิดอยู่ใต้น้ำโผล่ขึ้นมาเป็นถ้ำแห้ง มนุษย์จึงใช้ประโยชน์อย่างที่ “ถ้ำฤาษีเขางู” ซึ่งใช้ประโยชน์เพื่อเป็นศาสนสถานในยุคแรกๆ

ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำหลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนาตามแบบพุทธศิลป์สมัยทวารวดี ลักษณะพระพักตร์แบน พระขนง (คิ้ว) เป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระโอษฐ์หนา และมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต แปลว่า พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยการทำบุญ รวมทั้งมีพระพุทธรูปหินทรายศิลปะสมัยอยุธยาอีกหลายองค์

ราชบุรีมี‘งู’

ส่วนหลักฐานทางธรณีวิทยา พบว่า ผนังถ้ำมีความโค้งเว้าจากการกัดเซาะของน้ำตอนเกิดอยู่ใต้ทะเล ทั้งยังพบกุมภลักษณ์ที่เกิดจากการกัดเซาะของกรวดใต้น้ำ จึงยืนยันได้ว่าก่อนจะกลายเป็นถ้ำฤาษีเขางู มันเคยอยู่ใต้ท้องทะเลโบราณ

ในราชบุรียังมีถ้ำอีกแห่งที่ถูกใช้ประโยชน์ทางศาสนา ที่ “ถ้ำจอมพล” ลักษณะเป็นถ้ำลอย หรือถ้ำที่อยู่บนภูเขาสูงจากพื้นดิน มีหน้าต่างถ้ำที่ลำแสงและอากาศลอดเข้ามาข้างในได้ จึงทำให้ภายในโปร่งสบายกลายเป็นบ้านอันแสนสุขของฝูงค้างคาว และที่สุดปลายถ้ำถูกใช้เป็นศาสนสถาน มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐาน โดยมีพระสงฆ์คอยดูแล

“ถ้ำนี้ตายแล้ว ตายเพราะอายุขัยที่เก่ามาก” เสียง ชัยพร กังวานกลบเสียงค้างคาว

“ดูจากหินงอกหินย้อยที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนี้ ในอดีตคงจะมีน้ำมาก ซึ่งกว่าจะเกิดหินงอกหินย้อยขนาดใหญ่ได้ น่าจะใช้เวลาเป็นหลายแสนปี ซึ่งต่อจากนี้มันจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ปัจจัยหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่ต้องช่วยรักษาไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางธรณีวิทยาและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของลูกหลานต่อไป”

บังเอิญว่าวันที่ไป ถ้ำจอมพลสว่างจากไฟสปอตไลต์ดวงโต และแสงไฟจากจอมอนิเตอร์ของกองถ่ายละคร เห็นแล้วก็คิดถึงคำว่า ประโยชน์ของถ้ำ ที่ตอนนี้มนุษย์ใช้มันเป็นฉากของความบันเทิงไปด้วยแล้ว

ราชบุรีมี‘งู’

จากนั้นระหว่างผ่านฝูงค้างคาวออกไปยังปากถ้ำ นักธรณีวิทยาคนเดิมกล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้ำเคยเป็นบ้านหลังแรกของมนุษย์ เมื่อมนุษย์รู้จักการล่าสัตว์และการเพาะปลูกจึงกล้าออกจากถ้ำไปอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จากนั้นถ้ำจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นสถานที่แห่งความเชื่อ ทั้งเป็นที่เก็บศพ บูชาผีเทวดา ต่อมาก็กลายเป็นศาสนสถานอย่างในถ้ำจอมพลและถ้ำฤาษีเขางู และตอนนี้ถ้ำก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ราชบุรียังมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยารูปแบบอื่น เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์จึงทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งชื่อว่า “ธารน้ำร้อนบ่อคลึง”

“ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยทั้งหมดตั้งแต่เหนือยันใต้จะมีแนวหินแกรนิต ซึ่งเกิดจากหินหนืดที่มีความร้อนสูงใต้เปลือกโลกเกิดเย็นตัวและถูกดันขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกันข้างล่างยังคงมีความร้อนสูงอยู่มาก การเกิดน้ำพุร้อนจึงเกิดเวลาที่ฝนตกลงมา ซึมไปตามรอยแตกของหิน ลงไปลึกๆ จนกระทั่งไปถึงหินร้อนซึ่งอยู่ลึกลงไปหลายกิโลฯ

คล้ายๆ ว่ามันถูกต้มจนเดือดกลายเป็นน้ำร้อนและเกิดแรงดันไหลย้อนขึ้นไปตามรอยแตกของหิน กลายเป็นน้ำพุร้อนหรือธารน้ำร้อน จึงเป็นคำตอบว่าทำไมธารน้ำร้อนบ่อคลึงจึงไหลไปตามแนวหินแกรนิต” ชัยพร เริ่มเหงื่อแตกจากความร้อนที่คละคลุ้ง

หินแกรนิตที่นี่มีความพิเศษกว่าที่อื่นตรงที่มีแร่สีขาวขุ่นเรียกว่า แร่เฟลด์สปาร์ เป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่ใช้ในการผลิตเซรามิก กระเบื้องปูพื้น โมเสก และเครื่องสุขภัณฑ์ ซึ่งในราชบุรียังมีการทำเหมืองแร่เฟลด์สปาร์อยู่ถึงปัจจุบัน เพราะยังพบแหล่งแร่อยู่มาก

ราชบุรีมี‘งู’

เมื่อถึงธารน้ำร้อนบ่อคลึง สิ่งแรกที่สะดุดตาคือ ป้ายบอกความเป็นเจ้าของที่ประกาศไว้ว่า “ต้นธารน้ำร้อนบ่อคลึงเป็นกรรมสิทธิ์ของตระกูลโมนยะกุล นายประยูร โมนยะกุล ค้นพบปี 2468” จากนั้นจะผ่านบ่อน้ำร้อนแช่เท้าให้บริการฟรี โดยทำเป็นบ่อกระเบื้องทรงกลมและปล่อยให้น้ำแร่ร้อนไหลเวียนเข้ามา ส่วนด้านข้างกันยังมีสระอาบน้ำแร่ที่ต้องเสียค่าบริการ น้ำมีอุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและคลายเส้น เป็นออนเซนกลางป่าแบบโลคัล

สำหรับต้นน้ำต้องเดินเข้าแนวป่าประมาณ 150 เมตร จะเห็นธารน้ำที่มีควันจางๆ ลอยขึ้นมา เป็นควันจากน้ำแร่ร้อนที่มีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ไม่มีกลิ่นกำมะถัน น้ำใส และไหลตลอดปี

ไม่ไกลจากธารน้ำร้อนสามารถเดินทางไปยัง “น้ำตกเก้าโจน” หรือน้ำตกเก้าชั้น ซึ่งมีความโดดเด่นตรงที่เป็นน้ำตกหินแกรนิต (น้ำตกส่วนใหญ่เป็นหินปูน) ชัยพร อธิบายการกำเนิดน้ำตกว่า น้ำตกเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับลำห้วยอย่างฉับพลันจึงทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางไหลลงตามแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งหากเป็นน้ำตกหินปูนจะสามารถสันนิษฐานได้ว่า ด้านล่างน้ำตกอาจมีถ้ำเพราะน้ำสามารถกัดเซาะหินปูนแล้วมุดเข้าไปจนเกิดถ้ำน้ำ แต่สำหรับหินแกรนิตน้ำจะเซาะได้ยาก เว้นแต่ว่าหินจะมีรอยแตกหรือมีรอยเลื่อนตามธรรมชาติ ซึ่งก็อาจทำให้เกิดถ้ำใต้หินแกรนิตได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ แหล่งท่องเที่ยวทั้งสองแห่งนี้ยังมีอดีตเกี่ยวกับเหมืองแร่แห่งราชบุรี เพราะในอดีตธารน้ำร้อนบ่อคลึงเคยอยู่ในลำรางล้างแร่ ส่วนน้ำตกเก้าโจนเคยเป็นแหล่งน้ำของเหมือนฉีดแร่ จดสิ้นสุดยุคเฟื่องฟูจึงทำให้ธรรมชาติกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง

ทำไปทำมากลายเป็นว่า แหล่งท่องเที่ยวในราชบุรีมีความหลังเกี่ยวโยงกับการทำเหมืองแร่ทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่เปลี่ยนไป จากในอดีตที่มนุษย์เข้าไปเพื่อเปลี่ยนสภาพแล้วนำทรัพยากรมาใช้ แต่วันนี้มนุษย์กลับใช้ประโยชน์จากการคงสภาพของธรรมชาติ ซึ่งรื่นรมย์กว่าอะไรก็ตามที่มนุษย์สร้างขึ้น