posttoday

วัดหัวลำโพง วัดเก่าเล่ากรุงรัตนโกสินทร์

14 กรกฎาคม 2561

ทุกครั้งที่นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที มาซื้อหนังสือที่จามจุรีสแควร์ สถานีสามย่าน

โดย กั๊ตจัง

ทุกครั้งที่นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที มาซื้อหนังสือที่จามจุรีสแควร์ สถานีสามย่าน จะเห็นวัดหัวลำโพงตั้งโดดเด่นอยู่ฝั่งตรงข้ามเสมอ

หากจะว่าไปแล้ว นี่อาจจะเป็นวัดเดียวที่สร้างมาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และอยู่ยืนยาวมาตลอด 200 กว่าปีที่ผ่านมา ก็เชื้อชวนให้เดินก้าวเท้าเข้าวัดท่ามกลางวิกฤตศรัทธาแห่งศาสนา

วัดนี้แต่เดิมเป็นเพียงวัดราษฎร์ หมายถึงวัดที่ประชาชนช่วยกันสร้างขึ้นมา หรืออาจจะมีเศรษฐีสักคนในยุคสมัยนั้น สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัดประจำชุมชน

บางตำราบอกว่าเดิมชื่อวัดวัวลำพอง และเพี้ยนเปลี่ยนชื่อเป็นหัวลำโพง ตามสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงในช่วงรัชกาลที่ 5 แต่ชื่อเดิมของวัดและผู้สร้างก็ไม่ได้ปรากฏแน่ชัด มีความคลุมเครือใกล้เคียงกับชื่อของสถานีรถไฟหัวลำโพงที่อยู่ห่างออกไปอีก 2 กม.

วัดหัวลำโพง วัดเก่าเล่ากรุงรัตนโกสินทร์

นักประวัติศาสตร์ศิลป์คาดการณ์อายุของวัดจากรูปทรงของพระอุโบสถ และเจดีย์เก่าด้านหลังวัด ใช้ศิลปะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี 2310 ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนี้แต่แรกล้วนเป็นประชาชนที่อพยพมาในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2

จนกระทั่งปี 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาทำพิธีเปิดสถานีรถไฟหัวลำโพงในครั้งนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินภายในวันเดียวกัน 3 วัด ได้แก่ วัดสามจีน(วัดไตรมิตรวิทยาราม) วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) และวัดวัวลำพอง (วัดหัวลำโพง)

เมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินที่วัดวัวลำพองนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่าวัดหัวลำโพง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานีหัวลำโพง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์สิงห์ เป็นพระครูสัญญาบัตร

จนถึงปัจจุบันนี้ วัดหัวลำโพง กลายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ท่ามกลางคอนโดมิเนียมและศูนย์การค้า แต่ก็ยังเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของการทำบุญของศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี เมื่อเดินเข้าไปภายในวัด จะมีทั้งจุดเปิดรับบริจาคค่าน้ำ-ค่าไฟ ไถ่ชีวิตโค-กระบือ และมูลนิธิต่างๆ

วัดหัวลำโพง วัดเก่าเล่ากรุงรัตนโกสินทร์

เข้ามาเปิดจุดรับบริจาคก็สามารถบริจาคได้ตามกำลังศรัทธามากน้อยไม่สำคัญเท่ากับการได้ร่วมทำความดี โดยเฉพาะการทำบุญบริจาคโลงศพของมูลนิธิร่วมกตัญญูก็เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างมาก

ทุกวันก็จะมีประชาชนเดินทางเข้ามากราบไหว้พระประธานพระอุโบสถ ชมภาพเขียนที่ฝาผนังที่เกี่ยวกับเรื่องนรก สวรรค์ เทพ เทวดา หลังจากนั้นก็ออกมาเดินตีระฆังรอบพระอุโบสถ เคยสงสัยเหมือนกันว่าทำไมทำบุญไหว้พระเสร็จต้องตีระฆังด้วย

หลวงพ่อท่านให้เหตุผลว่าคนไทยเราตีระฆังเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตหลายอย่าง ประการแรก ระฆังหรือฆ้องใช้ตีบอกโมงยาม ใช้ในพิธีมงคลเป็นเสียงแห่งสิริมงคลต่อมาเชื่อว่าตีแล้วเป็นการบอกกล่าวแก่เหล่าเทวดาชั้นฟ้าให้รับรู้ถึงการทำบุญ และสุดท้ายเสียงของระฆังเองจะช่วยทำให้ใช้สงบลงได้ในทางอ้อม

สำหรับพื้นที่ภายในวัดหัวลำโพงนั้นจัดว่าค่อนข้างกว้างขวาง มีที่ดินรวมกว่า 20 ไร่ รวมพื้นที่ของโรงเรียนพุทธจักรวิทยา เมื่อออกมาจากวัด นอกจากจามจุรีสแควร์ที่เป็นจุดเด่นแล้ว ร้านอาหารในย่านวัดหัวลำโพงก็เด็ดไม่แพ้กัน หากมาในช่วงเช้าถึงเที่ยว แนะนำให้รับประทานอาหารที่ร้าน “ร้านสุกี้สามย่าน เป็นร้านห้องเช่าเล็กๆ ที่เปิดมาช้านาน ขายทั้งสุกี้ เกาเหลา ข้าวมันไก่ และข้าวขาหมู เด็ดที่น้ำจิ้มสุกี้และเนื้อหมูที่หมักมานุ่มๆ ร้านอยู่ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 เปิดเวลา 06.00-13.00 น. โทรสอบถามที่เบอร์ 02-215-0472

วัดหัวลำโพง วัดเก่าเล่ากรุงรัตนโกสินทร์

แต่ถ้าแวะมาทำบุญช่วงเย็นต้องไม่พลาดร้านก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่รองเมือง เส้นก๋วยเตี๋ยวผัดในกระทะจนสุกหอม เต็มไปด้วยไข่และไก่ อร่อยๆ ร้านตั้งอยู่ที่ซอยรองเมือง 5 ถนนจรัสเมือง เปิดวันธรรมดา ตั้งแต่เวลา 16.00-21.30 น.

ปิดท้ายด้วยเมนูของหวานที่ร้านเช็งซิมอี๊ ตลาดสวนหลวง ของหวานอย่างน้ำแข็งไส มีเครื่องให้เลือกมากกว่า 30 อย่าง ร้านตั้งอยู่ในซอยจุฬาลงกรณ์ 5ถนนเจริญเมือง เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00-23.59 น. น่าจะเรียกได้ว่าเป็นร้านของหวานที่เปิดยันดึกมาก โทรสอบถามได้ที่เบอร์ 02-214-0612 เป็นอันจบทริปวัดหัวลำโพงที่จะได้ทั้งบุญและอาหารอร่อยอิ่มท้อง