posttoday

Japan Origin 11

10 มิถุนายน 2561

สวัสดีครับ มาคุยเรื่องเทศกาลฤดูร้อนในญี่ปุ่นกันต่อจากฉบับที่แล้ว

สวัสดีครับ มาคุยเรื่องเทศกาลฤดูร้อนในญี่ปุ่นกันต่อจากฉบับที่แล้ว ตอนนี้ขอพาท่านลงจากอีสานมาเมืองหลวงโตเกียวกันบ้าง เผื่อท่านใดมีแผนจะไปโตเกียวอยู่แล้วในช่วงเดือนสองเดือนข้างหน้า อาจจะเป็นทางเลือกเสริมที่เพิ่มสีสันและความกลมกล่อมให้กับทริปหน้าร้อนของท่านก็เป็นได้ครับ

เริ่มจากช่วงวันที่ 13-16 ก.ค.ของทุกปี จะมีการจัดงานเทศกาล Obon ที่ใหญ่ที่สุดของโตเกียว แล้วงานโอบ้งมันคืออะไร เปรียบเทียบง่ายๆ เลยก็คือ เทศกาลเช็งเม้งของญี่ปุ่นนั่นเอง โดยปกติแล้วกำหนดวันงานโอบ้งจะเป็นช่วงวันที่ 13-15 ส.ค.ของทุกปี แต่เฉพาะพื้นที่แถบคันโตและโตเกียวเท่านั้น ที่จะจัดงานโอบ้งในช่วงวันที่ 13-16 ก.ค.เทศกาลโอบ้งจะมีระยะเวลาเฉลิมฉลองเป็นเวลา 4 วัน และเป็นวันหยุดงานของชาวญี่ปุ่น ที่ต่างพากันเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ในช่วงเทศกาลจะมีการทำพิธีกรรมตามความเชื่อที่ว่า โอบ้งวันแรกนั้นต้องจุดไฟบริเวณหน้าบ้านเพื่อต้อนรับและนำทางดวงวิญญาณของบรรพบุรุษจากยมโลกมายังโลกมนุษย์ พร้อมทั้งตั้งเครื่องเซ่นไหว้ที่เรียกว่า โชเรียวอุมะ ซึ่งประกอบด้วยมะเขือม่วงและแตงกวา ที่ใช้ไม้ไผ่ก้านแหลมมาเสียบให้เป็นลักษณะเหมือนสัตว์ 4 ขา ซึ่งเป็นความเชื่อถือกันมาแต่สมัยโบราณว่า มะเขือม่วง เปรียบได้กับ ม้า ส่วนแตงกวา เปรียบเหมือน วัว ซึ่งทั้งคู่เป็นพาหนะนำพาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเดินทางมายังโลก ในช่วงงานก็จะมีการร่ายรำเรียกว่า Bon Odori ระบำพื้นบ้านโบราณเพื่อรำลึกถึงเหล่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ และในวันสุดท้ายของเทศกาลก็จะจุดไฟกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับสู่ยมโลก (แต่แอบแปลกใจว่า ทั้งเทศกาลเช็งเม้งและโอบ้ง ทำไมบรรพบุรุษถึงอยู่แต่ในยมโลก ไม่มีอยู่บนสวรรค์บ้างเลยหรือไร ใครช่วยตอบที) สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ หากอยากไปสัมผัสกับเทศกาลโอบ้งนั้น ขอแนะนำให้ไปเดินเล่นชมบรรยากาศในงานเทศกาลมิตามะ (Mitama Matsuri) ที่ศาลเจ้า Yasukuni ศาลเจ้าที่สร้างขึ้นมาในสมัยเมจิ เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณบรรพบุรุษโดยเฉพาะเหล่านักรบและทหาร ที่เสียชีวิตในสงครามตั้งแต่ช่วงปลายสมัยเอโดะจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้มาสถิตอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้มารำลึกบูชา เมื่อถึงช่วงเทศกาลโอบ้งจึงมีการจัดงานขนาดใหญ่ ตลอดทางเดินที่ทอดยาวเข้าไปสู่ตัวศาลเจ้า ทั้งสองข้างทางจะประดับไปด้วยโคมกระดาษกว่า 3 หมื่นดวงที่ส่องแสงสีเหลืองนวลตา เชื่อกันว่าเป็นการนำทางดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมายังโลก ภายในวันงานก็จะมีขบวนแห่ศาลเจ้าจำลอง (Mikoshi) พร้อมทั้งการร่ายรำบ้งโอโดริและร้องเพลงพื้นบ้าน รวมถึงการออกร้านแผงลอยแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า ยะไต มีทั้งขนม อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงกิจกรรมสนุกๆ อย่างเกมปาเป้าทอยห่วง ตักปลาทอง เป็นบรรยากาศที่ครื้นเครงสนุกสนานสำหรับคนทุกวัย

Japan Origin 11

และหากพูดถึงเทศกาลที่แสดงถึงความเป็นหน้าร้อนของญี่ปุ่นได้อย่างดีที่สุดก็คงจะไม่พ้น เทศกาลชมดอกไม้ไฟ หรือในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า ฮานะบิ มัตสึริ มาจากฮานะ ซึ่งแปลว่าดอกไม้ และ บิ ที่มาจากคำว่า ไฟ สำหรับคอการ์ตูนอะนิเมะหรือแฟนซีรี่ส์ญี่ปุ่นคงจะชินตากับฉากงานเทศกาลนี้ บรรยากาศร้านรวงมากมายสองข้างทางในยามค่ำคืน ซุ้มเกมต่างๆ ให้เล่นสนุกกัน ที่เราคุ้นหูกับคำที่ใช้เรียกบรรยากาศงานแบบนี้ว่า งานวัดญี่ปุ่น ผู้คนสวมใส่ชุดยูกาตะหน้าร้อนสีสันสดใส โบกพัดคลายความร้อน มาเดินงานวัดยามค่ำคืน เด็กๆ ถือบ๊วยเชื่อมเดินกิน หนุ่มสาวยืนซัดยากิโซบะหรือของเสียบไม้ย่างแกล้มเบียร์กระป๋อง และปิดท้ายด้วยฉากดอกไม้ไฟตระการตา ที่ทุกคนต่างจ้องมองไปในตำแหน่งเดียวกัน บรรยากาศแบบนี้มีที่ไปที่มา เราลองมาทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของเทศกาลฮานะบิกันดูบ้างครับ

ย้อนกลับไปยังสมัยเอโดะ ผู้ที่ได้ชมการแสดงดอกไม้ไฟเป็นคนแรกและถือเป็นครั้งแรกของการแสดงดอกไม้ไฟในประเทศญี่ปุ่นก็คือ โชกุนโทคุงาวะ อิเอะยาสุ ยุคต้นเอโดะเริ่มมีการเผยแพร่วิทยาการของปืนและดินปืนจากโลกตะวันตกเข้ามายังบริเวณ Tanega Shima หรือ เกาะทะเนะงะ ในเขตจังหวัดคาโกะชิมะ จากนั้นในปี 1613 พ่อค้าชาวอังกฤษได้แสดงดอกไม้ไฟชุดแรกให้ท่านโชกุน โทคุงาวะ ได้ชม ดอกไม้ไฟในยุคนั้นเกิดมาจากการนำดินปืนมาอัดแน่นภายในกระบอกไม้ไผ่แล้วจุดไฟที่ปลายกระบอกด้านบน สักพักดินปืนโดนประกายไฟก็จะเกิดประกายพุ่งสู่ด้านบนในลักษณะเหมือนน้ำพุที่พวยพุ่งสู่ท้องฟ้า ดอกไม้ไฟชนิดนี้มีชื่อเรียกกันว่า Tatebi ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของหน้าประวัติศาสตร์ดอกไม้ไฟในประเทศญี่ปุ่นต่อจากนั้นก็มีการแสดงดอกไม้ไฟอย่างแพร่หลายมากขึ้น และจัดกันอย่างจริงจังยิ่งใหญ่ขึ้นจนเป็นเทศกาลใหญ่ในปัจจุบัน

Japan Origin 11

หนึ่งในเทศกาลจัดแสดงดอกไม้ไฟที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดของโตเกียวอยู่ที่บริเวณแม่น้ำสุมิดะ การแสดงดอกไม้ไฟกว่า 2 หมื่นชุด บนท้องฟ้ายามค่ำคืน ที่ในแต่ละปีจะมีผู้ชมกว่าล้านคนเฝ้ารอและหลั่งไหลมาชมดอกไม้ไฟที่นี่ จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของเทศกาลดอกไม้ไฟที่แม่น้ำสุมิดะแห่งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่รื่นรมย์บันเทิงใจนัก เนื่องจากเหตุการณ์แสนสะเทือนใจที่เกิดขึ้นยุคเอโดะ สมัยการปกครองของโชกุนท่านที่ 8 Tokugawa Yoshimune ในช่วงนั้นมีการระบาดของเชื้ออหิวาตกโรคไปทั่ว ทำให้มีผู้ที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก และร่างของผู้เสียชีวิตถูกทิ้งตามข้างทางบ้าง ถูกโยนทิ้งลงในแม่น้ำบ้าง เป็นเรื่องที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง เศรษฐกิจของประเทศก็ตกต่ำแบบสุดๆ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากความอดอยาก จึงมีการจัดเทศกาลแม่น้ำ Kawa Segaki เพื่อเป็นการเคารพดวงวิญญาณคนตาย ภาวนาขอพรให้โรคระบาดนั้นหายไปและเยียวยาจิตใจของผู้คน โดยในงานจะมีการแสดงดอกไม้ไฟ Sumida Gawa No Kawa Biraki ซึ่งเป็นหนึ่งในประเพณีโบราณที่รอดจากการเปลี่ยนแปลงของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการสมัยเมจิ และมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องในทุกปีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยกเลิกการจัดเทศกาลนี้ไปอีกหลายสิบปี และในปี 1978 ประเพณีนี้ได้ถูกชุบชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง และยังคงจัดมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับการจัดการแสดงดอกไม้ไฟเทศกาลแม่น้ำสุมิดะมีกำหนดการจัดขึ้นในวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ก.ค.ของทุกปี

Japan Origin 11

หน้าร้อนนี้ ท่านที่มีแผนไปโตเกียว ถ้ามีโอกาส อย่าพลาดไปร่วมงานเทศกาลหน้าร้อนกันนะครับ ใส่ชุดยูกาตะเดินดูดบ๊วยเชื่อม หรือกินน้ำแข็งไส มันได้อารมณ์ของหน้าร้อนญี่ปุ่นมากๆ เลยครับ