posttoday

ยลคนงาม ‘ยวนต้นตาล’

09 มิถุนายน 2561

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ ยวนต้นตาล ไม่เข้าใจว่าคืออะไร คือชื่อหมู่บ้านหรือไม่ หรือคือชื่อชนิดต้นไม้ก็ไม่แน่ใจ

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ ยวนต้นตาล ไม่เข้าใจว่าคืออะไร คือชื่อหมู่บ้านหรือไม่ หรือคือชื่อชนิดต้นไม้ก็ไม่แน่ใจ จนได้มาพบกับสาวงามนุ่งซิ่นลายสวยที่ อ.เสาไห้ ทำให้เข้าใจทันทีว่า “ยวนต้นตาล” คือ คนงาม

ชุมชนบ้านต้นตาลเป็นชุมชนไทยวนใน จ.สระบุรี ซึ่งชาวไทยวน หรือไตยวน หรือชาวโยนกจากนครเชียงแสนโบราณ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักในภาคเหนือของไทย แต่ทำไมถึงมีการตั้งถิ่นฐานในภาคกลางได้นั้น มีคำตอบปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติ ระบุว่า

“ในปี 2347 ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยายมราช ยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ยึดเชียงแสนคืนจากพม่า หลังจากล้อมเมืองนาน 1-2 เดือน จึงตีเมืองเชียงแสนสำเร็จ และกวาดต้อนชาวโยนกจากนครเชียงแสนกว่า 20,000 คนให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็น 5 สายหลัก ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน และน่าน บางส่วนไปเวียงจันทน์ และบางส่วนเดินทางมาบางกอกเพื่อแปงเมืองใหม่ โดยอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ
ป่าสักทั้ง 2 ฝั่งคือ สระบุรี และราชบุรี”

ชาวไทยวนต้นตาลก็คือ ชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่ 214 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังลงหลักปักฐานอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก และรักษาขนบวัฒนธรรมล้านนาไว้ไม่จืดจาง ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่คนเฒ่าและหนุ่มสาวยังสื่อสารกันเป็นภาษาไทยวน การนุ่งซิ่นและฝีมือการทอผ้าที่สืบต่อมา และเรือนกาแลมีไม้ไขว้บนหน้าจั่วที่ยังมีให้เห็นจนชินตา ต่างเป็นวิถีชีวิตของชาวไทยวนต้นตาลซึ่งแตกต่างจากคนภาคกลางทั่วไป

ความต่างนี้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สืบสายกันมาถึง 5 ชั่วอายุคน และที่น่าดีใจคือ วันนี้ชาวบ้านได้นำเสน่ห์แห่งโยนกเชียงแสนกลับมาเป็นต้นทุนเพื่อใช้ในการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ย้อนอดีตที่บ้านเก่า

ยลคนงาม ‘ยวนต้นตาล’

ริมถนนสระบุรี-ปากบาง มีหมู่เรือนไทยอายุ 80-100 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักช่วงโค้งน้ำที่งดงาม ปกคลุมด้วยต้นไม้เฒ่าที่แผ่กิ่งก้านเป็นหลังคาให้อีกชั้น มีป้ายติดไว้หน้าบ้านว่าเป็น “หอวัฒนธรรมพื้นบ้าน ไทยวน สระบุรี”

สถานที่แห่งนี้ก่อตั้งโดย ตาทรงชัย วรรณกุล ปราชญ์ท้องถิ่นชาวไทยวนรุ่นที่ 5 ให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสืบสานมรดกทางด้านภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ไทยวนสระบุรี โดยมีการฝึกอบรมเยาวชนให้เรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและศิลปะการแสดงพื้นถิ่น เช่น การฟ้อนรำ ทำอาหาร ทอผ้า ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ตามอย่างบรรพบุรุษ

ชั้นบนของบ้านเป็นที่เก็บสะสมผ้าซิ่นโบราณ บริเวณริมตลิ่งมีการรวบรวมเรือขุดและเรือโบราณต่างๆ ไว้มากกว่า 20 ลำ ทั้งยังเปิดบ้านให้คนทั่วไปเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่าย สัมผัสบรรยากาศเย็นสบายริมแม่น้ำป่าสัก และสัมผัสวิถีชาวไทยวนโดยไม่ต้องเดินทางไกลถึงภาคเหนือ

นอกจากนี้ หอวัฒนธรรมฯ ยังเปิดเป็นสถานที่จัดกิจกรรม งานสมรส และถ่ายทำภาพยนตร์ หากนัดล่วงหน้าสำหรับนักท่องเที่ยวแบบหมู่คณะก็สามารถจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมให้เห็นจริง โดยมีชาวไทยวนตัวจริงใส่ผ้าไทยนุ่งผ้าซิ่นมานั่งสาธิตวิถีชีวิตแต่ละอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าด้วยกี่ไม้ การปักผ้าลวดลายโบราณ การทำขนมครก ขนมไข่ปลา กาแฟโบราณ และการฟ้อนจ้อง ฟ้อนขันดอก ซึ่งเป็นการแสดงฟ้อนล้านนาโดยหญิงสาวรุ่นใหม่ชาวไทยวน

“บ้านนี้พ่อสร้างและสั่งสม เพื่อบ่มให้ลูกหลานไทยวนไม่ลืมรากเหง้าของตน”

เจตนารมณ์ของตาทรงชัยกลายเป็นรูปธรรมและเป็นจริงแล้ว เพราะวันนี้หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของสระบุรี และเป็นแหล่งรวมตัวของลูกหลานบ้านต้นตาลไม่ต่างไปจากโรงเรียนอีกแห่งที่สอนแต่เรื่องวิถีและวัฒนธรรม

คว้าดวงมณีแห่งเสาไห้

ยลคนงาม ‘ยวนต้นตาล’

วัดที่ได้ชื่อว่าเป็นดวงมณีแห่งเสาไห้ “วัดเขาแก้ววรวิหาร” ตั้งอยู่บนเขาเตี้ยๆ ริมแม่น้ำป่าสัก ภายในวัดมีเจดีย์ห้ายอดรูปทรงสวยงาม ภายในบรรจุพระบรมธาตุ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระปางห้ามสมุทร ฐานเป็นหินธรรมชาติที่แสดงถึงการก่อสร้างที่ทับซ้อนมานานหลายสมัย แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด

นอกจากบันทึกที่บ่งบอกว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมือง เมื่อถึง อ.เสาไห้ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดแห่งนี้ และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง

พ่อสมจิตต์ ยะกุล ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเสาไห้ เล่าว่า วัดแห่งนี้ถูกขนานนามว่าเป็นดวงมณีแห่งเสาไห้ เนื่องจากชาวบ้านเคยเห็นดวงแก้วสุกสว่างลอยอยู่เหนือวิหารวัดเขาแก้วหลายครั้งหลายครา จึงเชื่อกันว่าแสงสีเขียวที่สว่างเรืองนั้นคือ การแสดงปาฏิหาริย์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุในองค์พระเจดีย์

พ่อสมจิตต์ยังกล่าวด้วยว่า วัดเขาแก้ววรวิหารมีตำนานเกี่ยวกับพญานาคว่า ภายในวัดมีถ้ำให้พญานาคขึ้นมาเพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และมีปล่องนาคยาวจากวัดไปโผล่ที่แม่น้ำป่าสัก ทำให้ทางบันไดขึ้นวัดจึงสร้างเป็นบันไดนาคทอดยาว

อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ของชุมชนบ้านต้นตาลก็เป็นรูปนาค สื่อถึงผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาตามคติของชาวล้านนา และยังหมายถึงกำเนิดของชนชาติโยนกด้วย

สักการะท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์

ยลคนงาม ‘ยวนต้นตาล’

แม่น้ำป่าสักคือ หนึ่งในเบญจสุทธิคงคา หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำสายสำคัญทั้งห้าที่ใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาหรือพิธีบรมราชาภิเษกของราชวงศ์จักรี ซึ่งท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สำหรับตักน้ำจากแม่น้ำป่าสักนั้นอยู่ที่ “โยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์” ในบ้านท่าราบ ต.ต้นตาล ซึ่งเป็นท่าน้ำบนพื้นที่ส่วนบุคคลเพียงแห่งเดียว เพราะอีก 4 แห่งที่เหลือล้วนอยู่ในวัดทั้งสิ้น

เบญจสุทธิคงคา ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา (จาก จ.อ่างทอง) แม่น้ำเพชรบุรี (จากจ.เพชรบุรี) แม่น้ำราชบุรี (จาก จ.สมุทรสาคร) แม่น้ำบางปะกง (จาก จ.นครนายก) และแม่น้ำป่าสัก (จาก จ.สระบุรี)

เจ้าของที่ดินแห่งนี้คือ กฤษฏิ์ ชัยศิลบุญ อาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาได้อุทิศพื้นที่ริมท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าสักการะพระสีวลีริมท่าน้ำ ลอยดอกไม้ถวายคงคา และเปิดเป็นสถานที่ร่ำเรียนศัสตราวุธ และนาฏศิลป์ไทยให้เยาวชนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ฝึกฝน และเข้าร่วมเป็นกลุ่มเยาวชนโยนกนาคพันธุ์

ประวัติศาสตร์ของโยนกอุทยานท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ต้องย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จประพาสทางชลมารค และแวะลงสรงน้ำที่บ้านท่าราบ ปรากฏว่า เรือพระที่นั่งติดสันดอนทรายที่บริเวณนี้ จึงมีการให้สาวยวนต้นตาลหลายร้อยนางมาช่วยกันฉุดลากเรือข้ามสันดอนจนสำเร็จ

ในครั้งนั้นพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยสายน้ำที่เย็น ลึก และนิ่ง จึงมีพระราชประสงค์ให้นำน้ำบริเวณนี้ไปทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระพุทธบาท ก่อนจะนำไปใช้พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก รวมถึงพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพระราชวัง ทำให้แม่น้ำป่าสัก ณ บ้านท่าราบ กลายเป็นหนึ่งในเบญจสุทธิคงคาที่ยังคงถูกนำตักไปใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

นอกจากนี้ กฤษฏิ์ยังมีแนวคิดจะเปิดโฮมสเตย์ริมแม่น้ำป่าสัก เนื่องจากเป็นทำเลที่มีทัศนียภาพสวยงาม และอยู่ใกล้กับตลาดต้าน้ำโบราณ แหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์ของบ้านต้นตาลเพียงไม่กี่ร้อยเมตร

อิ่มพุงลุยตลาดต้าน้ำ

ยลคนงาม ‘ยวนต้นตาล’

“ตลาดต้าน้ำโบราณบ้านต้นตาล” คือ ตลาดนัดริมแม่น้ำป่าสัก เปิดเฉพาะวันอาทิตย์ เวลา 08.00-16.00 น. ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผ่านการแต่งกายของพ่อค้าแม่ขายที่จะแต่งกายด้วยชุดไทยวน พูดภาษาไทยวน และจำหน่ายอาหารพื้นเมืองทั้งคาวหวาน รวมไปถึงผักผลไม้จากสวนแม่ค้านำมาวางขายในราคาเพื่อนบ้าน

อาหารถิ่นขึ้นชื่อต้องพูดถึง หมี่แจ๊ะหรือผัดหมี่ไทยวนโบราณ ขนมกงหรือขนมหวานกินเล่นทำจากถั่วเขียวของคนเหนือ และหมี่กรอบสามรสแม่นิดที่ตอนนี้ถูกต่อยอด จากแต่เดิมมีแค่สูตรโบราณรสดั้งเดิม กลายเป็นมีรสสับปะรด ช็อกโกแลต กระเจี๊ยบ อัญชัน และใบเตย ซึ่งยังคงความอร่อยเหมือนเดิมเพราะยังใช้ส่วนผสมหลักคือ เส้นหมี่ มะขามเปียก เกลือ น้ำตาลปี๊บ และน้ำตาลทราย

นอกจากนี้ เวลาเที่ยงตรงเป๊ะจะมีการแสดงฟ้อนล้านนาและรำโทนให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามของวัฒนธรรมไทยวน และเป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่สนใจใคร่รู้นำไปสู่การเผยแพร่รากเหง้าของตัวเอง

ปัจจุบันประชากรชาวไทยวนสระบุรีมีจำนวนมากถึง 8 หมื่นคน ทำให้เกิดการขยายพื้นที่จากบ้านต้นตาลริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก กระจายเข้าไปยัง อ.เมือง และเกือบทุกอำเภอในจังหวัด (สระบุรีมี 13 อำเภอ) ยกเว้นเพียง อ.หนองโดน และ อ.ดอนพุด เท่านั้นที่ยังไม่มี

แต่กระนั้นเสาไห้ยังคงเป็นอำเภอที่มีคนไทยวนมากที่สุด และบ้านต้นตาลก็ยังเป็นศูนย์กลาง หากอยากทราบว่าคนไทยวนมีวิถีชีวิตเช่นไรก็ต้องมาศึกษาและสัมผัส “ยวนต้นตาล” &O5532;