posttoday

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

02 มิถุนายน 2561

ความคลาสสิกของบ้านเรือนทำให้รู้สึกเหมือนกำลังหลงยุคย้อนกลับไปในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

ความคลาสสิกของบ้านเรือนทำให้รู้สึกเหมือนกำลังหลงยุคย้อนกลับไปในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่ใช่การจำลองหรือความพยายามให้เก่า แต่ทั้งหมดคือ วิถีและชีวิตจริงของชาวบ้าน “วังกรด” จ.พิจิตร ที่ยังคงความดั้งเดิมไว้ทั้งตัวสถาปัตยกรรมและตัวตน

หอนาฬิกาหน้าสถานีรถไฟวังกรดยังคงเดินตรงเวลา ช่างตรงกันข้ามกับบรรยากาศโดยรอบที่เข็มนาฬิกากำลังหมุนย้อนกลับไปเมื่อ 110 ปีที่แล้ว ย่านเก่าวังกรดเคยรุ่งเรืองสุดขีด เพราะเป็นย่านการค้าหลักของเมืองพิจิตร เนื่องด้วยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางรถไฟและทางเรือ

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

บ้านวังกรด อยู่ใกล้แม่น้ำน่านมากกว่าตัวเมืองพิจิตรจึงขนส่งได้สะดวกกว่า กอปรกับเวลานั้นยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำน่าน สินค้าจึงถูกค้าขายที่วังกรดเป็นหลัก โดยมีชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นเถ้าแก่เปิดร้านรวงมากมาย จนกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ตั้งแต่เหนือจรดใต้

ผังเมืองของบ้านวังกรดจึงแบ่งเป็นตรอกจากสถานีรถไฟทะลุไปยังแม่น้ำ โดยมีเรือนแถวไม้เรียงรายเป็นแนวยาวขนาบถนนในตรอกไว้สัญจร บ้านทุกหลังจึงมุ่งหน้าไปสถานีรถไฟได้สะดวก เช่นเดียวกับไปสู่แม่น้ำน่านได้สบาย หากคนแปลกหน้ามาก็ไม่มีทางหลงได้ง่ายๆ  เพราะถนนในย่านตลาดล้วนเป็นเส้นตรง

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

ผู้นำคนสำคัญที่ทำให้บ้านวังกรดเกิดตลาดคือ หลวงประเทืองคดี อัยการชาววังกรด ผู้สนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างตลาดจนรุ่งเรือง และเป็นที่นับถือของชาวบ้านมาก ซึ่งปัจจุบันบ้านของหลวงประเทืองคดีถูกบูรณะและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม

เพราะเป็นบ้านรูปแบบอาคารปูนผสมไม้หลังแรกในชุมชน วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.พิจิตร คนปัจจุบัน จึงจัดสรรงบประมาณราว 3 ล้านบาท ปรับปรุงบ้านหลังนี้ครั้งใหญ่ เปลี่ยนแปลงจากบ้านที่เด็กในชุมชนไม่กล้าเข้าใกล้ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

เช่นเดียวกับชุมชนวังกรดที่วันนี้กลายเป็นชุมชนเป้าหมายในการส่งเสริม “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” หลังจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูกลับซบเซาไปพร้อมกับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านและถนนมุ่งตรงไปยังตัวเมืองพิจิตร ทำให้ศูนย์กลางการค้าถูกโยกย้าย ปล่อยให้ตลาดขนาดใหญ่กลายสภาพเป็นบ้านเรือนอยู่อาศัยของอดีตพ่อค้าแม่ขายไปเท่านั้น

ปัจจุบันชาวบ้านวังกรดต้องปรับตัวไปตามสภาพความเป็นจริง เมื่อไม่มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าหรือเรือเมล์มาเทียบท่าเหมือนแต่ก่อน ชาวบ้านที่ยังไม่ย้ายถิ่นกินนอนก็เริ่มทำการค้าขายในชุมชน เช่น เปิดร้านขายอาหาร ร้านขายยา ร้านค้าโชห่วย และเปลี่ยนจังหวะชีวิตที่เร่งรีบให้ช้าลงจนเหมือนทุกอย่างถูกแช่แข็งไว้ให้คงสภาพเดิม แตกต่างจากตัวเมืองพิจิตรที่อยู่ห่างออกไปแค่ 6 กม.

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

 ระยะทางจากตัวเมืองพิจิตรถึงวังกรด ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ไม่ถึง 10 นาที แต่เพื่อให้ได้อรรถรสเหมือนกับสมัย 100 กว่าปี การเดินทางด้วยรถไฟจึงเป็นวิธีที่สนุกและสะดวกไม่ต่างกัน โดยขบวนรถไฟที่จะผ่านสถานีพิจิตรและสถานีวังกรดมีตลอดวัน  ทั้งขบวนเร็วพิเศษ ตั๋วราคา 22 บาท และขบวนธรรมดา ราคาแค่ 2 บาท รถไฟไทยสมัยนี้ไม่ค่อยจะดีเลย์นัก ทำให้สามารถกะเวลาได้ชัดเจนว่าต้องไปให้ถึงสถานีรถไฟพิจิตรเวลาใด และจากสถานีพิจิตรไปสถานีวังกรดใช้เวลาแค่ 10 นาที

สถานีรถไฟวังกรดเป็นสถานีเล็กๆ เมื่อเดินออกจากสถานีไปก็จะถึงหอนาฬิกาและย่านตลาดเก่าทันที ดังนั้นการท่องเที่ยวในชุมชนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะสี่ล้อ เพราะแค่สองขาก็สามารถเดินได้ทั่วทั้งหมดแล้ว

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

จากหอนาฬิกาที่ยังเดินตรงต่อเวลาจะเห็นตรอกและเรือนแถวไม้ทั้งด้านหน้า ขวา และซ้าย (เมื่อหันหลังให้สถานีรถไฟ) ไฮไลต์อย่าง อาคารหลวงประเทืองคดี อยู่ทางตรอกด้านซ้ายหรือตลาดฝั่งใต้ ให้เดินตามกลิ่นผัดไทยและเสียงเคาะกระทะไป ก่อนถึงจุดหมายจะผ่าน ร้านผัดไทยป้าลั้ง วัย 71 ปี คุณป้าเริ่มขายปี 2523 ตั้งแต่ชามละ 3 บาท จนถึงวันนี้ชามละ 20 บาทก็ยังขายดี และยังคงความอร่อยเข้มข้นแบบบ้านๆ ไม่ต้องปรุงเพิ่มแบบโบราณ ทีเด็ดอยู่ที่ใช้น้ำตาลปี๊บ ใส่ถั่วฝักยาวและผักกาด เป็นสูตรเฉพาะของคุณป้า และในร้านเดียวกันยังขายก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า และผัดซีอิ๊ว ในราคา 20 บาท หากหิวก็แวะกินสักชามสองชาม แต่หากไปช่วงกลางวันคนแน่นคิวยาวก็พยุงท้องไว้แล้วไปเที่ยวที่บ้านของหลวงประเทืองคดีก่อน ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกไม่กี่สิบเมตร

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

อาคารทรงตึกหลังแรกของบ้านวังกรดถูกทิ้งร้างให้เก่าโทรม จนเมื่อปีที่ผ่านมานี้เองที่ทางจังหวัดได้เข้ามาบูรณะจนสวยงามน่ามอง ไม่เป็นบ้านผีสิงเหมือนที่เด็กๆ ในซอยกล่าวขานกัน ลักษณะเป็นอาคารปูนสองชั้น พื้น บันได และผนังบางส่วนทำจากไม้ โดยชั้นล่างประกอบไปด้วยห้องรับแขกและห้องรับประทานอาหาร

จุดสำคัญคือ หลุมหลบภัยภายในบ้าน ได้มีการเจาะพื้นบ้านส่วนหนึ่งเป็นช่องลงไปด้านล่างและมีฝากระดานแบบเดียวกับพื้นห้องปิดไว้เพื่ออำพราง เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านวังกรดตกเป็นเป้าหมายสำคัญในการโจมตี เพราะมีพื้นที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟและสะพานข้ามแม่น้ำ จึงมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในตลาดและโรงเรียนหากมีภัยสงคราม

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนของหลวงประเทืองคดี ยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากไม้เนื้อแข็งทั้งเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง ในสภาพสมบูรณ์ โดยมีห้องหนึ่งได้จัดแสดงภาพถ่ายบ้านวังกรดในอดีตไว้เผยให้เห็นความคึกคักของสถานที่ที่กำลังยืนอยู่ด้วย

อีกหนึ่งสถานที่สำคัญและยังเกี่ยวข้องกับหลวงประเทืองคดีคือ ศาลเจ้าพ่อวังกลม (วังกลมเป็นชื่อเดิมของบ้านวังกรด) จากบ้านท่านหลวงฯ ให้เดินกลับทางเดิมไปยังหอนาฬิกาแล้วเดินมุ่งหน้าไปยังตรอกกลาง (ตรอกที่อยู่ตรงกลาง ตรงเป๊ะกับหอนาฬิกา) เดินไปจนสุดแม่น้ำน่าน ศาลเจ้าพ่อวังกลมจะอยู่สุดทางซ้ายมือ

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

ภายในศาลเจ้าพ่อวังกลม ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่วังกลม สถานที่แห่งนี้เป็นที่เคารพบูชาของพ่อค้าแม่ขายทั้งในและนอกตลาด โดยในช่วงเดือน พ.ย.ของทุกปีจะมีงานฉลองเจ้าพ่อวังกลม หรืองานงิ้ววังกรด มีการแสดงอุปรากรจีน 10-15 คืนต่อเนื่อง เพื่อถวายแก่เจ้าพ่อ และยังเป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานชาววังกรดจะกลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองในประเพณีนี้ด้วย

บ้านวังกรดมีความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีน เห็นได้จากในชุมชนมีทั้งศาลเจ้าพ่อวังกลมและวัดวังกลม ที่อยู่ห่างออกไปจากย่านตลาดเก่าประมาณ 500 เมตร และชาวบ้านนิยมดูทั้งงิ้วและลิเก บ่งบอกถึงความปรองดองและสายสัมพันธ์ของสองเชื้อชาติ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถแยกออกจากกันได้

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

หลังจากนั้นให้เดินย้อนกลับมายังตรอกกลาง อดีตถนนสายหลักที่มีคนพลุกพล่านมากที่สุดในตลาด จึงหลงเหลือร้านค้าที่ยังมีชีวิตและบ้านเรือนดั้งเดิมอยู่มากที่สุด ทั้ง ร้านขายยาสมบูรณ์โอสถ ในห้องแถวเลขที่ 33 ภายในร้านยังมีตู้ลิ้นชักยาเต็มฝาผนังพร้อมป้ายชื่อสมุนไพร อายุตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันก็ยังขายยาสมุนไพรจีนและไทย โดยมีคุณลุงธีระ ตาบทิพย์วัฒนา เป็นเจ้าของร้าน

ลุงธีระเล่าว่า เขาเคยเป็นเซลส์แมนขายยาทำงานกับบริษัทแหลมทองมาก่อน มีหน้าที่ขับรถส่งยาตามสถานที่ต่างๆ พร้อมกับเปิดร้านขายยาที่บ้านเกิดควบคู่กันไป จากนั้นพออายุมากขึ้นก็ไม่อยากเดินทางอีกต่อไปจึงปักหลักดำเนินกิจการที่บ้าน เน้นขายยาโบราณผนวกกับยาแผนปัจจุบันแต่ไม่หลากหลายเท่า ทั้งยังมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรอยู่ที่ตัวเมืองพิจิตรเป็นของตัวเองด้วย

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

ถัดมาไม่กี่หลังจะเห็นคนมุงอยู่หน้าบ้าน ทายได้ไม่ยากว่านั่นคือ ร้านสาคูไส้หมูแม่เฒ้า ขนมอร่อยของชุมชนขายหมดทุกวัน จุดเด่นอยู่ที่แป้งสาคูที่ใสนุ่มเหนียวกำลังพอดีและไส้หมูรสชาติกลมกล่อม เวลากินต้องเหยาะน้ำกะทิเล็กน้อยให้รสเค็มและกลิ่นหอมอร่อยอันเป็นเคล็ดลับที่ทำให้สาคูไส้หมูแม่เฒ้าขายดีมาตั้งแต่รุ่นแม่

ติดกับร้านขนมเป็นที่ตั้งของอดีตร้านขายผ้าชื่อ ฉั่วเซี่ยงฮวด บ้านเลขที่ 41 หลังนี้เจ้าของบ้านเคยมีอาชีพตัดเย็บผ้า แต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น บอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านสิ่งของเก่าแก่ที่เจ้าของบ้านเก็บสะสมไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหลายสิบม้วนที่เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยมาทำให้แหล่งความบันเทิงของชุมชนอย่าง โรงหนังมิตรบรรเทิง เสื่อมความนิยมลง จนต้องปิดตัวทิ้งร้างไป หีบเก็บสมบัติที่มาพร้อมกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้ายุคอากงอาม่า และข้าวของเครื่องใช้อีกมากที่เป็นตัวแทนของความทรงจำและอดีตของคนในชุมชน

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

เมื่อย่างก้าวมาจนถึงหอนาฬิกาอีกครั้ง จะเหลือตรอกอีกฝั่งที่ยังไม่ได้ไป นั่นคือตรอกเหนือหรือตลาดฝั่งเหนือที่มีความน่ารักซุกซ่อนอยู่เช่นกัน ทั้งร้านซาลอนสุดคลาสสิกที่บ้านเลขที่ 67 ชื่อ ร้านเสริมสวยคุณแมว เปิดให้บริการความสวยหล่อมาเกือบ 40 ปี เวลามีคนแปลกหน้าเยื้องย่างผ่านไป คุณป้าแมวก็จะส่งยิ้มมาให้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีลูกค้าต่อคิว เพราะฝีมือและรอยยิ้มของป้านั่นเอง

ถัดออกไปไม่กี่ห้องเป็นที่ตั้งของ ร้านก๋วยเตี๋ยวปิ่นโต ที่เพิ่งเปิดใหม่ไม่กี่ปี แต่ได้รับความนิยมอย่างดีเพราะมีกิมมิกที่ใช้ปิ่นโตแทนชาม และสูตรพริกสดที่แซ่บเรียกน้ำหูน้ำตาตั้งแต่คำแรกถึงคำสุดท้าย หากถามคนท้องถิ่นทุกคนจะทราบดีว่า เมื่อก่อนบ้านวังกรดมีร้านก๋วยเตี๋ยวพริกสดเจ้าเก่าแก่อยู่อีกร้านชื่อ เจ๊ลุ่ย แต่เพิ่งปิดตำนานลงเมื่อต้นปี 2560 เพราะแม่ค้าอายุมากจนทำไม่ไหว จึงเกิดเป็นร้านรุ่นใหม่ซึ่งก็อร่อยไม่แพ้กัน ส่วนเจ๊ลุ่ยได้เปลี่ยนแนวไปขายมะนาวดองและน้ำมะนาวดองอยู่แถวร้านน้ำพี่นกหวีด ยังคงคอนเซ็ปต์อร่อยและขายดีไม่เปลี่ยนแปลง

นั่งรถไฟจะไป ‘วังกรด’ เงียบสงบและเชื่องช้า

เงยหน้ามองดูนาฬิกาบนยอดหอสูง ตกใจกับเวลาที่เดินไวกว่าจังหวะชีวิตที่ใช้ไป อีกไม่กี่นาทีรถไฟจะเข้าชานชาลาและพากลับไปสู่ตัวเมืองใหญ่ ไม่น่าเชื่อว่าอดีตย่านการค้าที่อยู่ห่างจากตัวเมืองพิจิตรแค่ 10 นาที จะมีของดีและ “ชีวิตดี”

แม้จะเงียบเหงาเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ที่นี่ยังมีเหตุผลดีๆ ให้ชาวบ้านยังไม่ทิ้งและปักหลักค้าขายเล็กๆ เงียบๆ ต่อไป ซึ่งเหตุผลที่พอจะหาได้ในครึ่งวันนี้คงเป็น “ความสุข” ของการมีชีวิตสงบในบ้านเกิดและทำมาหากินแบบพอเพียง