posttoday

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า

24 มีนาคม 2561

หากถามว่ารู้จักตำบล "ม่วงตึ๊ด" ไหม คงมีแต่คนส่ายหัวเป็นคำตอบ แต่ถ้าถามว่า เคยไปวัดพระธาตุแช่แห้งไหม

เรื่อง/ภาพ : กาญจน์ อายุ

หากถามว่ารู้จักตำบล "ม่วงตึ๊ด" ไหม คงมีแต่คนส่ายหัวเป็นคำตอบ แต่ถ้าถามว่า เคยไปวัดพระธาตุแช่แห้งไหม ก็คงคิดภาพออกถึงชุมชนรอบๆ ที่อาจเคยขับรถผ่านแต่ไม่ทันมอง ซึ่งน่าลองทำความรู้จักและแวะทักทาย

ต.ม่วงตึ๊ด อยู่ใน อ.ภูเพียง จ.น่าน ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ทำนาและกสิกรรม ความน่ารักและน่าสนใจของตำบลนี้อยู่ที่ "ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน" ที่มีสมาชิกตั้งแต่รุ่นหลานถึงรุ่นปู่ย่าตายาย และกิจกรรมที่ยกความเป็นท้องถิ่นมาเป็นจุดขายจนอยากย้ายมาใช้ชีวิตด้วยสักวันสองวัน

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า นำโคมมะเต้ามาถวายพระที่วัดพระธาตุแช่แห้ง

 

พ่อด้าย กันแก้ว ยืนยิ้มอยู่ที่ วัดศรีบุญเรือง วัดสำคัญของตำบลม่วงตึ๊ดและบ้านศรีบุญเรือง ด้วยเป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญอย่าง พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ยังไม่มีการตั้งชื่อองค์พระ) เป็นศิลปะสุโขทัย ใบหน้าอิ่มเอิบยิ้มแย้ม และได้รับการขนานนามว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่สวยที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

รวมถึงพระพุทธรูปเก่าแก่ชื่อ เจ้าฟ้าอตตวรปัญโญ ชื่อเดียวกับเจ้าผู้ครองนครน่านและผู้สร้างพระพุทธรูปสำริดองค์นี้ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะน่าน พระจำหลักเป็นภาพพระยามารลวดลายวิจิตรพิสดาร ซึ่งองค์พระมีน้ำหนักมาก เพราะมีส่วนประกอบเป็นทองคำน้ำหนักเท่าเจ้าฟ้าอตตวรปัญโญ และพระนิพพาน เป็นพระพุทธรูปหายาก ทำจากสำริด ปางนิพพาน มีสาวกในอิริยบถต่างๆ นั่งอยู่รอบพระนิพพาน

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า ความใหญ่ของดอกดาวเรืองเมื่อเทียบกับใบหน้า

 

พ่อด้าย เล่าว่า เจ้านายใครมาจะมายกพระนิพพานพร้อมภาวนาจิตเพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ และเมื่อเจดีย์สถานที่กำลังสร้างอยู่เสร็จสมบูรณ์ พระพุทธรูปทั้งสามองค์จะนำไปประดิษฐานไว้ที่แห่งนั้นและเปิดให้คนทั่วไปเข้าสักการะ

หลังจากไหว้พระทำบุญ พ่อด้ายได้แนะนำให้รู้จักกับสมาชิกในชมรมฯ คนอื่นที่กำลังง่วนอยู่กับการเตรียมเทียนแผ่น เพราะกิจกรรมต่อไปคือ "ฟั่นเทียนสะเดาะเคราะห์" โดยทุกคนต้องลงมือฟั่นเทียนด้วยตัวเองตามความเชื่อดั้งเดิม

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยที่มีพุทธลักษณะที่สวยที่สุดในไทย

 

ขั้นตอนแรกคือการเขียนชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด ลงกระดาษแผ่นเล็กๆ ด้วยตั๋วเมืองล้านนาหรืออักษรล้านนา ถ้ามีเวลาสามารถเรียนเขียนตั๋วเมืองได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องรบกวนอาจารย์เขียนให้แทน โดยต้องเขียน 2 ใบ คือ แผ่นโชค และแผ่นสะเดาะเคราะห์ ใช้ไส้เทียน 2 เส้น และใช้เทียนแผ่น 2 ชิ้น

เมื่อเขียนเสร็จก็ถึงขั้นตอนฟั่น คือนำเทียนแผ่นไปอังกับเตาถ่านเพื่อให้ม้วนได้ จากนั้นนำกระดาษและไส้เทียนวางไว้ด้านใน และฟั่นเทียนบนแผ่นไม้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน พอเสร็จให้เขียนระบุไว้ว่าเป็นเทียนโชคหรือเทียนเคราะห์ และเก็บติดตัวไว้เพื่อนำไปไหว้ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า นักท่องเที่ยวถือโคมบนสะพานไม้ไผ่ริมหนองน้ำครก

 

จากนั้นพ่อด้ายได้เรียกทุกคนขึ้นรถราง การเดินทางตั้งแต่วัดศรีบุญเรืองเป็นต้นไปจะใช้รถรางของชมรมฯ รองรับได้ 30 คน ช่วยเสริมอรรถรสในการเดินทางลัดเลาะชุมชน โดยสถานีต่อไปจะไปหยุดที่ บ้านโคมคำ ให้ลงมือทำโคมมะเต้าด้วยตัวเองเพื่อนำไปถวายพระที่วัดพระธาตุแช่แห้งเช่นเดียวกัน

แม่ราตรี สุยาว รับหน้าที่เป็นผู้สอนทำโคมมะเต้าหรือโคมเมืองน่าน หากมีเวลาเต็มที่จะได้เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ แต่หากมีเวลาจำกัดจะลดทอนขั้นตอนลงมาเหลือแค่ติดกระดาษ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า สะพานไม้ไผ่ทอดตัวยาวจากเกาะสู่เกาะในหนองน้ำครก

 

แม่ราตรี เล่าว่า โคมมะเต้าอยู่ในประเภทโคมแขวน เรียกอีกอย่างว่า โคมธรรมจักร หมายถึง ความแจ้งในธรรม ใช้ในงานยี่เป็งหรือตั้งธรรมเทศน์มหาชาติเวสสันดร ใช้สำหรับแขวนในโบสถ์หรือศาลาในวิหาร เพื่อความสวยงาม สว่างไสว และบูชาเทพารักษ์

ส่วนลายบนโคมมะเต้า เรียกว่า ลายประจำยาม มาจากคำว่า วัชระ เชื่อว่าเป็นอาวุธของพระอินทร์ ใช้ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ส่วนในทางพระพุทธศาสนา วัชระ แปลว่า เพชร โดยนัยสื่อถึง พุทธิปัญญา หมายถึง ปรีชาญาณที่หยั่งรู้เท่าทันสภาวะต่างๆ จนสามารถเท่ากันต่อกิเลส โดยสัญลักษณ์ของลายประจำยามมีลักษณะเป็นอาวุธไขว้กัน เรียกว่า วัชระสี่ทิศ หมายถึง การปกป้องอันตรายทั้งสี่ทิศ

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า เรียนรู้การทำโคมมะเต้า

 

การทำโคมมะเต้าไปถวายพระจึงเป็นการเสริมสิริมงคลให้แก่ตัวเองมาก โดยทุกปีชาวเมืองน่านจะทำโคมมะเต้านำไปถวายที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ในงานประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ (เดือน 6 เหนือ) หรือราวปลายเดือน ก.พ.หรือ มี.ค.ของทุกปี

ก่อนจะนำเทียนและโคมไปถึงวัดพระธาตุแช่แห้ง พ่อด้ายได้เรียกพลและบอกให้รถรางไปส่งที่ หนองน้ำครก แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขนาด 22 ไร่ ที่เคยเป็นป่าไมยราบยักษ์และที่พักอาศัยของนกน้ำ แต่ปัจจุบันทาง อพท. (องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)) ได้มีงบประมาณมาปรับปรุงทัศนียภาพ พัฒนาให้พื้นที่รกร้างเป็นแหล่งปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ปลอดสารพิษ โดยมีคนในชมรมฯ  เป็นคนดูแลพื้นที่และเปิดเป็นสถานที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองน่าน

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า ประตูพระอุโบสถวัดศรีบุญเรือง

 

พ่อด้ายตั้งสมญานามให้เป็นปอดของน่าน เพราะในพื้นที่ยังรักษาต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้น้ำ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่สามารถเก็บผลผลิตและให้ความสวยงามทางทิวทัศน์ โดยในบึงน้ำขนาดใหญ่นั้นจะมีเกาะหรือสันดอนตามธรรมชาติ จึงมีการสร้างสะพานไม้ไผ่เชื่อมต่อเกาะแก่งเหล่านั้นจนเป็นทางเดินชมธรรมชาติขนาดยาว ซึ่งระหว่างทางสามารถชมนกน้ำ ให้อาหารปลา หรือแวะนั่งพักผ่อนในศาลารับสายลมเย็นแม้อากาศรอบข้างจะร้อนมากก็ตาม

เมื่อพักผ่อนตามอัธยาศัยจนแดดคล้อยจนอ่อนลง พ่อด้ายคนเดิมเรียกให้ตื่นจากภวังค์เพื่อไปยังจุดหมายสุดท้ายที่สำคัญที่สุด วัดพระธาตุแช่แห้ง ก่อนสักการะพระธาตุแช่แห้ง พ่อด้ายให้เข้าไปสักการะเจ้าล้านทอง ปางมารศรีวิชัย ศิลปะล้านนา ภายในวิหารหลวงเป็นอันดับแรก จากนั้นพระสงฆ์จะรับโคมมะเต้าตามพิธีดั้งเดิม คนถวายพนมมือรับพรและน้ำมนต์ ซึ่งโคมมะเต้าจะถูกนำไปแขวนไว้บนระเบียงคดโดยรอบพระธาตุ

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า งานแกะสลักไม้บอกเล่าวิถีชีวิตชาวบ้านศรีบุญเรือง

 

จากนั้นเดินลอดประตูของวิหารหลวงที่มีปูนปั้นลายนาคเกี่ยวกระหวัด 8 หัวไปยังจุดสักการะพระธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย โดยจุดนี้จะนำเทียนทั้งสองเล่มที่ทำมาเองออกมาจุดไหว้

ทนเทียนธรรมดา พร้อมจุดธูปและถวายดอกไม้สด เพื่อสะเดาะเคราะห์และขอโชคลาภตามคติความเชื่อของล้านนาแท้ๆเรียกได้ว่าเป็นการปิดฉากเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนในตำบลม่วงตึ๊ดได้แบบอิ่มอกอิ่มใจ สามารถขึ้นคำว่า จบบริบูรณ์ได้ เพราะสิ่งที่ทำมากับมือทั้งเทียนและโคมมะเต้าถูกนำมาถวาย รับแต่สิ่งที่ดีกลับไปซึ่งมีคุณค่ามากกว่าของที่ระลึกร้านใดในเมืองน่าน

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า จุดเทียนโชคลาภและเทียนสะเดาะเคราะห์หน้าพระธาตุแช่แห้ง

 

นอกจากนี้ ตลอดเส้นทางยังทำให้เห็นวิถีชีวิตของชาวม่วงตึ๊ดทั้งประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ อาชีพ และสิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือ ความเข้มแข็งของชาวบ้าน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุในวัยเกษียณ แต่ใช้เวลาว่างมารวมตัวกัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบเพื่อช่วยกันพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถทำได้ดี ทำได้น่ารัก และทำได้อย่างจริงใจที่สุด จนไม่รู้สึกว่ามาเที่ยวแปลกถิ่น แต่เป็นการกลับมาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ที่ไม่เจอกันนาน

ทุกอย่างจึงประทับใจ เวลาคิดย้อนกลับไปจะเผลออมยิ้มโดยไม่รู้ตัว

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า ชาวบ้านคัดดอกดาวเรืองเพื่อส่งขาย

 

ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ติดต่อ ด้าย กันแก้ว โทร. 08-4808-9813

บ้านโคมคำ สอนทำโคมเมืองน่าน โทร. 08-9854-0387

ค่าใช้จ่ายแยกตามกิจกรรม ฟั่นเทียนสะเดาะเคราะห์คนละ 100 บาท ทำโคมมะเต้าลูกละ 400 บาท เรียนเขียนตั๋วล้านนาคนละ 100 บาท ค่าใช้บริการรถราง 1,300 บาท รองรับได้ 30 คน กิจกรรมทั้งหมดต้องติดต่อล่วงหน้า 

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า พิพิธภัณฑ์ของโบราณภายในวัดศรีบุญเรือง

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า ฟั่นเทียนสะเดาะเคราะห์ด้วยมือเจ้าของชื่อ

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า เขียนชื่อและวันเดือนปีเกิดเป็นภาษาล้านนา แล้วฟั่นไปกับเทียน

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า นักท่องเที่ยวสักการะพระธาตุแช่แห้งด้วยเทียนที่ฟั่นเอง

 

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า พระนิพพาน พระพุทธรูปสำริดปางนิพพาน มีสาวกอยู่โดยรอบ

 


 

"ม่วงตึ๊ด" ครึกครื้นแบบเนิบช้า ศาลากลางหนองน้ำ