posttoday

ชมแพร่ ‘แม่ยม’

17 มีนาคม 2561

หมอกบางและแดดจางในยามเช้าของ “อุทยานแห่งชาติแม่ยม”

โดย /ภาพ : กาญจน์ อายุ

หมอกบางและแดดจางในยามเช้าของ “อุทยานแห่งชาติแม่ยม” คือภาพจำที่ยังคมชัด ในขณะที่แดดกรุงเทพฯ จะแรงแสบตา จนแทบไม่อยากเชื่อว่ายังมีความหนาวหลงเหลืออยู่สักที่ในยามนี้

อุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ มีพื้นที่ประมาณ 2.8 แสนไร่ เป็นป่าต้นน้ำแม่ยมอันเป็นที่มาของชื่อ และเป็นแหล่งป่าสักทองที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของเมืองไทย

เพราะมีความสมบูรณ์และยังถูกรักษาไว้ในเขตอุทยาน แต่ชื่ออุทยานแห่งชาติแม่ยมกลับไม่เป็นที่รู้จัก แม้คนแพร่เองยังไม่รู้ แต่กลับคุ้นกันดีในชื่อ “แก่งเสือเต้น”

ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้ช่วงนี้จะได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดนำอากาศหนาวและแห้งแล้งจากประเทศจีนมาปกคลุม บวกกับป่าสมบูรณ์ และสายน้ำจากแก่งเสือเต้น ทำให้ฤดูร้อนที่นี่ไม่ร้อนจัดแต่มีความชื้นปะปน โดยในยามเช้าตอนที่อากาศเย็นพบปะกับไอแดดแรก จะทำให้เกิดหมอกจางและไอน้ำวนเวียนอยู่รอบตัว อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในเดือน เม.ย. 33 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส

ชมแพร่ ‘แม่ยม’ นักท่องเที่ยวแช่น้ำเย็นในแก่งเสือเต้น

 ก่อนที่จะนำไปสู่ไฮไลต์ ขออนุญาตพาไปทัวร์รอบอุทยาน ประเดิมที่แรก ณ ดินแดนมหัศจรรย์ที่ชื่อว่า “หล่มด้ง” ลักษณะเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติ เกิดจากปรากฏการณ์แผ่นดินยุบบนยอดเขาสูง (หล่ม หมายถึงแหล่งที่มีน้ำขังตลอดปี ด้ง หมายถึง กระด้ง
ฝัดข้าว กลมเหมือนกระด้ง) มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร มีความลึกประมาณ 2.5 เมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 450 เมตร กลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น เช่น เก้ง หมูป่า นก และสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือขนาดเล็ก ซึ่งจัดเป็นแมวป่าขนาดกลางที่หาพบได้ยาก

หล่มด้งยังมีพืชน้ำชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนำมาทอดกินคือ ผำ หรือไข่น้ำ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 2.7 ลึก 7 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559 ทำให้ผำถูกรุกรานจากพืชอื่นจนเหลือน้อยและชาวบ้านก็ไม่เข้ามาตักไปทำอาหาร นอกจากนี้ในฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมานอนกางเต็นท์ใต้ต้นตะแบกใกล้หล่มด้ง

พอพูดถึงต้นตะแบก เจ้าหน้าที่ได้ชี้เป้าไปในป่า ตรงนั้นดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนทางเข้า แต่ความรกของใบหญ้าทำให้ต้องอาสาขอแรงเจ้าหน้าที่นำพาเข้าไประหว่างทางผ่านป่าไผ่และป่าเบญจพรรณสีน้ำตาลเข้มสลับกับต้นไม้ใหญ่ ที่แหงนคอยังไงก็มองไม่เห็นปลายยอดไม้ และในขณะที่กำลังมองนกร้องก็ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่เรียกชื่อใครบางคน

“สมพงอายุร้อยปี” ปลายนิ้วชี้ชี้ไปที่ต้นไม้ยักษ์ รากใหญ่ตั้งตระหง่านบนดิน ขนาดลำต้น 20 คนโอบก็ยังไม่มิด เรียกได้ว่านี่คือบรรพบุรุษที่ยังมีชีวิตของป่าผืนนี้ชื่อที่เจ้าหน้าที่เรียกไม่ใช่ใคร แต่เป็นชื่อของคุณปู่ต้นไม้ที่ยังยืนต้นแข็งแรงให้ร่มเงา
แก่ป่าและเป็นที่พึ่งพาของสรรพสัตว์

ชมแพร่ ‘แม่ยม’ หมอกบางๆ หลังที่พักอุทยาน

ต้นสมพงเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากสูงประมาณ 20-40 เมตร ลำต้นเปลาตรง โคนเป็นพูพอนขนาดใหญ่ อาจสูงถึง 2 เมตรเนื้อไม้มีสีขาว หากถูกอากาศนานๆ จะมีสีเหลือง และเป็นไม้เนื้ออ่อนที่เจริญเติบโตเร็ว จึงยิ่งใหญ่กว่าใครในป่าดงดิบทางภาคเหนือ

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เดินต่อ มุดกิ่งไผ่ผ่านกิ่งไม้ เหยียบใบแห้งที่ร่วงโรยจนเป็นเสียงแกร๊บๆ ทุกครั้งที่ก้าวเดิน จนผ่านป่ารกทะลุออกไปยังป่าโล่งที่ตั้งของ “ดงตะแบก”

ตะแบกเป็นไม้ต้นสูงประมาณ 30-50 เมตร ลำต้นมีสีขาวหม่น เปลือกสีน้ำตาล ออกดอกสีม่วงขาวช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. พบเห็นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ โดยในไทยพบ 5 สกุล 30 ชนิด ซึ่งในป่าแห่งนี้พบตะแบกขึ้นอยู่ทั่วไป แต่ที่พอจะรวมกลุ่มเป็นดงได้ก็ที่จุดนี้

ถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมไม้ตะแบกลำต้นสูงตระหง่านตรงเหมือนไม้บรรทัดไม่มีคนแย่งตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์ ได้ความมาว่าเพราะมันไม่ใช่ไม้เนื้อแข็งอย่างสักหรือตะเคียน จึงไม่มีออร์เดอร์ และมีโอกาสโตสูงใหญ่ค้ำป่ากลายเป็นผู้หญิงผิวนวลขาวผ่องไม่มีใครกล้าแตะต้อง แค่ชมความงาม

จากดงตะแบกอีกไม่นานก็ถึงทางออก ก่อนจากพี่เจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปชม “ผาอิงหมอก”ที่แม้จะไม่มีหมอกแต่ก็อยากให้ไปดู โดยจุดชมวิวผาอิงหมอกนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกในอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งในฤดูฝนและหนาวทุกเช้าจะมีทะเลหมอกลอยใกล้เหมือนได้แอบอิงแนบชิดเหมือนกับชื่อ

ชมแพร่ ‘แม่ยม’ ความเขียวอุ่มของธรรมชาติ

บริเวณนี้จะเห็นว่าเป็นเนินดินแดงเหมือนไซต์ก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้าง เนื่องจากแต่เดิมเป็นเหมืองแร่แบไรต์เก่า แต่หยุดสัมปทานไปเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแม่ยมในปี 2529 ส่วนสำคัญคือด้านล่างเมื่อมองลงไปจะเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ประเมินค่าไม่ได้ นับเป็นป่าสักทองผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. จะพบความร่มรื่นของดอกสักสีเหลืองทองอร่ามเป็นความสวยงามแท้จริงของฤดูกาล ส่วนกาลนี้จะเห็นเป็นผืนป่าสีเขียวให้ชื่นใจและอุ่นใจที่ยังเห็นขุมทรัพย์ของชาติคงอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากน้ำมือมนุษย์

ไล่ลงจากสูงลงมาต่ำ คราวนี้ถึงช่วงเวลาฉายสปอตไลต์ไปที่ “แก่งเสือเต้น” แก่งที่มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร มีน้ำไหลเย็นไม่เคยหยุด โดยช่วงน้ำมากจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์กับกิจกรรมล่องแก่งส่วนช่วงน้ำน้อยคนก็จะแห่มาล่องห่วงยางแช่น้ำดับร้อน ยิ่งเฉพาะในช่วงวันสงกรานต์คนจะนิยมมาเล่นสาดน้ำแบบไม่เปลืองค่าน้ำกันที่นี่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเล่าว่า ชื่อของแก่งเสือเต้นมาจากหินก้อนหนึ่งที่มีร่องรอยเหมือนรอยตีนเสือประทับ ซึ่งในอดีตผู้เฒ่าผู้แก่จะมาไหว้หินก้อนนี้กันมาก แต่ปัจจุบันถูกหลงลืมไปกลายเป็นก้อนหินธรรมดาให้เล่าขานถึงตำนานแก่งเสือเต้น

ในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวมีบ้านพักให้บริการ 2 หลัง และลานกางเต็นท์มองเห็นวิวแก่ง เจ้าหน้าที่บอกว่าหน้าฝนที่นี่จะสวยงาม เพราะตอนเช้าจะมีหมอกลอยฟุ้งออกมาจากป่า แต่คนที่กลัวตุ๊กแกอาจจะอยู่ยากเพราะมันก็หนีฝนมาหลบอยู่ในบ้านพัก แต่สำหรับหน้าร้อนเช่นนี้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าเจ้าถิ่นได้อพยพไปหาที่ร่มเย็นในป่าหรือไม่ก็อยู่นอกบ้าน จึงได้ยินแต่เสียงร้องทักทาย แต่ไม่เห็นตัวว่าใหญ่เท่าแขนอย่างที่เจ้าหน้าที่เปรียบเปรยไว้หรือไม่ คืนนั้นถือว่ารอดตัวไป ต่างคนต่างอยู่ นอนอิ่มหลับอุ่นตลอดคืนไม่มีมารบกวน

ในส่วนของนาฬิกาปลุกไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ เพราะจะได้ยินเสียงนกดังแจ้วสลับกับเสียงไก่ป่าขันรับอรุณ โดยหลังจากอาบน้ำอุ่นจากพลังก๊าซหุงต้ม ขอแนะนำว่าอย่าพลาดที่จะเดินเลาะแก่งชมไอน้ำของแท้จากแก่ง ที่จะปรากฏให้ชมแค่ช่วงเช้าตรู่ก่อนแดดอุ่นเท่านั้น มันเกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างความเย็นและความร้อนกลายเป็นไอลอยเหนือผิวน้ำเหมือนมีใครต้มน้ำ ณ จุดนั้น

ชมแพร่ ‘แม่ยม’ แปลงปลูกต้นสักทองใกล้ที่พัก

 

สะพานไม้ไผ่ที่กลายเป็นแลนด์มาร์คของแก่งเสือเต้น คือจุดถ่ายรูปยามเช้าที่ดีที่สุด เพราะพระอาทิตย์ขึ้น หมอกก็ขึ้น ไอน้ำก็ขึ้น กลายเป็นภาพที่ถ่ายอย่างไรก็งามขึ้นกว่าช่วงเวลาอื่นแน่นอน

หลังจากชมความงามจนท้องร้อง ข้าวต้มหมูสับ ขนมปัง กาแฟ ก็รอให้บริการอยู่แล้วที่ร้านอาหารของอุทยาน ที่นี่สามารถฝากท้องได้ทุกมื้อหากแจ้งล่วงหน้า รสชาติอาหารอร่อยเลิศยิ่งกว่าครัวไหนๆ เพราะใช้วัตถุดิบสดใหม่ ปลอดภัย และได้รสท้องถิ่นจากปลายจวักของแม่ครัวท้องที่ ผสมกับบรรยากาศดีๆ ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับมื้ออาหาร

ส่วนเรื่องสัญญาณโทรศัพท์นั้นบอดสนิทจะมีเพียงไว-ไฟสัญญาณดาวเทียมที่ไม่เสถียร อาจใช้ได้ 2 วัน ล่มอีก 5 วัน ดังนั้นจะมีเวลาอยู่กับตัวเองเหลือเฟือและจะมีเวลาอัพเดทชีวิตกับคนข้างๆ สำหรับระบบไฟฟ้าอุทยานมีให้ใช้ทั้งวันทั้งคืน แต่อาจติดๆ ดับๆ หลังเวลา 4 ทุ่ม เพราะจะเปลี่ยนมาใช้กระแสไฟจากโซลาร์เซลล์

ต้องบอกแบบนี้ว่า หากต้องการมาปลีกวิเวกอย่าลืมบอกคนที่บ้านถึงเงื่อนไขการใช้ชีวิต หากต้องการหนีความวุ่นวาย อย่าลืมบอกตัวเองว่าที่นี่ไม่มีความสะดวกแต่มีความสบายใจ แต่หากต้องการลืมใครโปรดอย่ามา

อุทยานแห่งชาติแม่ยมสามารถตอบคำถามได้ว่า มาแพร่หน้าร้อนมาทำอะไร คำตอบที่นี่คือการหนีร้อนมาพึ่งเย็นในป่าใหญ่ แม่ยมจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของฤดูร้อนที่แม้ว่าภายนอกจะระอุ แต่ภายในอ้อมกอดของขุนเขาจะยังคงเย็นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง