posttoday

Ishikawa น่าไปมาก 11

11 มีนาคม 2561

ผมเปรยๆ กับเจ้าหน้าที่ว่าอยากถอยรถจาก Motorcar Museum ออกมาขับเล่นสักคัน

ผมเปรยๆ กับเจ้าหน้าที่ว่าอยากถอยรถจาก Motorcar Museum ออกมาขับเล่นสักคัน เจ้าหน้าที่บอกสามารถทำได้ถ้าติดต่อเพื่อเช่าสถานที่จัดงานเลี้ยงล่วงหน้า ทางพิพิธภัณฑ์ก็จะจัดรถเก่ามาให้ทดลองขับบริเวณลานด้านหน้าพอให้ได้ภาพและความปลื้มใจ เอ้า!ใครมีทริปพาลูกค้ามาเที่ยวจะลองมาจัดงานปาร์ตี้ที่นี่ก็ติดต่อตรงได้เลยครับ เราขับรถกลับเข้าเมืองคานะซาวะ เพื่อเข้าที่พักยังโรงแรมNikko Kanazawa ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟเจอาร์กลางเมืองที่ผมนั่งรถไฟมาถึงเมื่อวันแรกนั่นแหละ โรงแรมนิกโกะเป็นหนึ่งในโรงแรมที่ดีที่สุดของเมือง ตึกสูงตระหง่านดูโอ่อ่ากว่าทุกโรงแรมในแถบนั้น สัมผัสความหรูหราได้ตั้งแต่ล็อบบี้ไปจนถึงห้องอาหารและห้องพัก แม้แต่ผู้คนที่นั่งรออยู่บริเวณล็อบบี้ก็ยังแต่งตัวดูดีมีระดับ และมีพนักงานต่างชาติไว้คอยบริการและให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวอีกด้วย

หลังเก็บสัมภาระบนห้องและชาร์จแบต มือถือกับไว-ไฟเพิ่มยังไม่เต็มดี ก็ได้เวลาที่รถมารับออกไปกินข้าวพอดี รถพาเราข้ามแม่น้ำ Asano ที่ไหลผ่านกลางเมืองคานะซาวะ ขึ้นไปยังเนินเขา ค่ำนี้เราไปกินกันที่ร้าน Syougyotei หนึ่งในร้านอาหารของเครือ Asadaya ที่มีทั้งเรียวกังเก่าแก่อายุ 150 ปี ที่มีเพียง 4 ห้องพัก และร้านอาหารหลายร้านในอาณาบริเวณใกล้เคียงกัน เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น Sekeitei  ร้าน Rokkakudo ที่เสิร์ฟเทปปังยากิสเต๊ก ส่วนร้าน Syougyotei ที่จองไว้เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นอาหารทะเล เพราะเดินเข้าไปก็เจอบ่อพักปลา กุ้งและปู อยู่กลางร้านที่นั่งของเราอยู่ในห้องส่วนตัวข้างบ่อ มองเห็นวิวแม่น้ำอะซาโนะและเมืองคานะซาวะได้อย่างเต็มตา เมนูวันนี้ยังคงเป็นชุด Kaiseki เหมือน 2 มื้อค่ำที่ผ่านมา แต่รอบนี้เน้นอาหารทะเลล้วนๆ เริ่มจากอาหารเรียกน้ำย่อยที่หรูหราที่สุดเท่าที่เคยกินมา ในถาดมีอาหารหลายถ้วย ทั้งผัก เต้าหู้ ของดอง

Ishikawa น่าไปมาก 11

แต่สายตามันจับจ้องไปที่จานปูอย่างเดียวเลย เป็นปูตัวเมียที่มีขนาดเล็กเรียกว่า Kobako ที่แปลว่ากล่องแห่งรสชาติ ปกติปูซูไวตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าปูตัวผู้มาก จับมาได้ก็ขายไม่ได้ราคา ทว่าในช่วงหน้าหนาวราวเดือน ธ.ค.-ต้น มี.ค. เป็นช่วงที่ปูตัวเมียมีไข่ สภาพร่างกายจึงอุดมสมบูรณ์เป็นที่สุด และแน่นอนว่ามีรสชาติอร่อยสุดๆ จนแซงหน้าปูตัวผู้ไปด้วยเช่นกัน เนื้อจากขาปู 4 ชิ้นวางเรียงอย่างสวยงามบนกระดองปูที่มีเนื้อปูขูดแล้วรองอยู่อีกชั้น ตรงกลางเป็นไข่ปูสีส้มสดแลดูดีมีชาติตระกูล ขอบกระดองเป็นคานิมิโสะ ต้องชื่นชมคนคิดชื่อ กล่องแห่งรสชาติ Kobako จริงๆ เพราะทั้ง 3-4 อย่างในกระดองมันมีรสชาติที่แตกต่างกัน เนื้อปูรสหวาน ไข่ปูรสหวานมัน และคานิโสะรสมันเค็ม ผมค่อยๆ บรรจงคีบเนื้อปูแตะน้ำส้มที่เป็นเครื่องจิ้มนิดนึง เนื้อปูสดรสหวานอมเปรี้ยวอร่อยแบบเบาๆ อธิบายเป็นคำพูดยาก เอาเป็นว่าอร่อยแบบผู้ดีละกัน

ระหว่างชิมอาหารเรียกน้ำย่อย เครื่องดื่มที่สั่งกันไว้ตั้งแต่ต้นก็มาพอดี เจ้าภาพแนะนำให้ลองสั่ง Umeshu มาชิม ปรากฏว่าอร่อยมาก หอมและกลมกล่อมกว่ายี่ห้ออื่นๆ ที่เคยจิบมา ทั้งๆ ที่จังหวัดอิชิกาวะไม่ได้เด่นเรื่องบ๊วยแต่เด่นเรื่องข้าวและน้ำบวกกับความสามารถในการปรุงสาเกที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคเอโดะ จึงทำให้สุราและสาเกของอิชิกาวะโดดเด่นเป็นเอกไม่แพ้ใคร Umeshu แก้วนี้จึงเป็นส่วนผสมของบ๊วยชั้นเยี่ยมจากวาคะยามะและน้ำชั้นดีจากเทือกเขา Hakusan ที่หาไม่ได้จากที่ไหนๆ เป็นความอร่อยที่เลอค่ามากครับ เมนูถัดมาเป็นซุป และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมเพิ่งเข้าใจความสำคัญของซุปถ้วยแรกว่า อาหารญี่ปุ่นแทบทุกอย่างจะมีน้ำซุปหรือ Dashi เป็นองค์ประกอบร่วมอยู่ด้วยเสมอ การปรุงน้ำซุปมักจะใช้วัตถุดิบที่เหมือนกันคือสาหร่ายคอมบุและปลาโอแห้ง ส่วนแหล่งที่มาจากไหนอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับพ่อครัวแต่ละท่าน น้ำซุปจึงเปรียบเสมือนต้นทางของความอร่อยในอาหารจานต่อๆ ไป

Ishikawa น่าไปมาก 11

ดังนั้น การเสิร์ฟน้ำซุปในลำดับแรกหลังอาหารเรียกน้ำย่อย จึงเป็นการเปิดเผยรสชาติอาหารของร้านนี้หรือพ่อครัวเอกของร้านนี้ให้ลูกค้ารับทราบ ถ้าซุปอร่อยอาหารจานอื่นๆ ก็อร่อย แต่ถ้าซุปไม่เข้าที่เข้าทาง โอกาสที่อาหารจานถัดไปจะอร่อยก็เจือจางลง ซุปถ้วยนี้จึงสำคัญมากและควรดื่มในทันทีที่เจ้าหน้าที่มาเสิร์ฟ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเย็นชืดให้เสียรสชาติ และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อาหารชุดไคเซกิถึงทยอยปล่อยออกมาทีละอย่าง เปิดฝาถ้วยจิบซุปอุ่นที่กระเดียดไปทางร้อน ซดเบาๆ สัมผัสความสดชื่นจากรสกลมกล่อมที่ไม่จัดจ้าน ถ้าซุปรสจัดอาหารจานอื่นจะเข้มขึ้นตาม กลับกลายเป็นผลเสีย ดังนั้นซุปที่ดีจึงควรอร่อยแบบเบาบาง

จานถัดมาคือปลาดิบเสิร์ฟมาในถ้วยที่มีน้ำแข็งรอง เพื่อรักษาความสดไว้ให้มากที่สุด ปลาสามสี่ชิ้นที่สดและรสชาติดี ย่อมมีคุณค่ามากกว่าปลามากชิ้นแต่ด้อยคุณภาพ หลายท่านที่เน้นปริมาณจึงรังเกียจไคเซกิที่เน้นคุณภาพ แต่ถ้ากินกันทุกสิ่งที่

Ishikawa น่าไปมาก 11

เขาจัดมาก็จะพบว่าความอร่อยที่อิ่มกำลังดีนั้นมีคุณค่ากว่ามากนัก ตามด้วยปลาย่างที่ย่างกำลังเหมาะรสชาติดีเยี่ยม ใช้ตะเกียบฉีกเนื้อง่ายเพราะไม่แข็งจนเกินไป เป็นอีกหนึ่งจานที่กินหมดแล้วอยากกินอีกเหมือนจานปูและจานปลาดิบ Jibuni คืออาหารท้องถิ่นที่ทำจากเนื้อเป็ดอันเป็นอีกจานที่ขึ้นชื่อของจังหวัด แต่ร้านนี้ดัดแปลงไปใช้เนื้อเป็ดสับนึ่งมาในถ้วยเล็กกินกับวาซาบิพอดีคำ ในเมนูอาหารญี่ปุ่นมีเป็ดไม่มากนัก เพราะเนื้อเป็ดรสจัดขัดกับรสละมุนที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง การปรุงจิบุนิให้กลมกล่อมจึงเป็นการพิสูจน์ฝีมือของพ่อครัวอยู่ในที โดยส่วนตัวผมชอบรสจัดจ้านของเนื้อเป็ดมากกว่า แต่จานนี้ยอมยกนิ้วให้เลยว่าผ่านฉลุย อาหารจานสุดท้ายเป็นเทมปุระผักและจิคุวะทอดมาร้อนๆ เวลาเคี้ยวต้องระวังลวกปาก ปิดท้ายด้วยข้าว ผักดอง และซุป ปกติจะเจอซุปมิโสะ หรือ
ซุปใส แต่ของที่นี่เป็นซุปไข่ใส่เห็ดรสชาติเหมือนแกงจืดไข่น้ำ กินกับข้าวญี่ปุ่นร้อนๆ หมดถ้วยเลย ของหวานก็ดีเป็นมูสสตรอเบอร์รี่กับองุ่น

ชายน์มัสกัต จบมื้อค่ำด้วยความอิ่มเอมอย่างมีคุณภาพ และกลับโรงแรมอย่างมีเยื่อใย เพราะยังมีร้านอื่นๆ ในเครือ Asadaya ที่ยังไม่มีโอกาสชิมในรอบนี้ เป็นเหตุผลดีๆ ไว้กลับมาเยือนในรอบหน้าไงครับ